ศาลปกครองยกคำร้อง ทวงสมบัติ ปตท.

ตามที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดย นางสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิ พร้อมด้วย น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ายื่นหนังสือคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เปิดไต่สวนกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลนั้น
      
       วานนี้ (4 มี.ค.) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยกคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งเป็นผู้ ฟ้องคดีดังกล่าว โดยศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้ศาลพิพากษาให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดีจึงไม่ใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีนี้ อีกทั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ถึงที่ 4 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการตามคำพิพากษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ยกคำร้อง
       
       นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวภายหลังรับทราบการพิจารณาของศาลฯ ว่า เหตุผลที่ไปร้องให้ไต่สวนเพราะพบข้อมูลว่ามีการปฏิบัติตามคำสั่งศาลไม่ครบ ถ้วน จึงไปยื่นคำร้องให้ศาลไต่สวน การที่ศาลไม่รับคำร้องก็น่าเสียดายเพราะอย่างน้อยข้อมูลตรวจพบ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบ พบว่า ทรัพย์สินของปตท.ก่อนการแปรรูป มีจำนวน 32,000 ล้าน ส่วนทรัพย์สินหลังการแปรรูปไม่ถูกพิจารณาเลย
       
       นางสาวสารี กล่าวต่อว่า กลุ่มผู้ฟ้องคดีจะคุยกันว่าจะไปยื่นเรื่องให้กระทรวงการคลังดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร
       
       สำหรับ การยื่นคำร้องของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในครั้งนี้ เป็นผลมาจากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม 5 คน โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาไว้เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐ
       
       แต่ทางมูลนิธิฯ ระบุว่า ทรัพย์สินซึ่งบริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธ.ค. 51 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน 1.42 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.69 ล้านบาท
       
       โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมี แปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ต.ค. 44 ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริษัทปตท. ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 32,613 ล้านบาท จึงนำไปสู่การฟ้องเพื่อเรียกคืนทรัพย์สินดังกล่าว

 

ผู้จัดการรายวัน 5/3/52

พิมพ์ อีเมล

ศาลปกครองเชียงใหม่ตัดสินคดีแม่เมาะสั่ง กฟผ.จ่ายชาวบ้าน

ศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาคดีชาวบ้านแม่เมาะฟ้อง กฟผ.สั่งจ่ายค่าเสียหายรายละ 2.4 แสนบาท พร้อมอพยพชาวบ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะเผย รู้สึกดีใจหลังต่อสู้ยืดเยื้อมายาวนาน วอน กฟผ.เห็นใจชาวบ้านไม่ยื่นอุทธรณ์คดี

       
       วันนี้ (4 มี.ค.) ที่ศาลปกครองเชียงใหม่ ชาวบ้านเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ประมาณ 300 คน จากอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศ ไทย ที่ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานกระทำละเมิดอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด

       
       พร้อมเรียกค่าเสียหาย ตั้งแต่ปี 2546 และปี 2547 ที่แบ่งเป็น 2 คดี คือ คดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบและคดีขอให้ กฟผ.ปฏิบัติตามเงื่อนไขประทานบัตรการขุดเหมืองลิกไนต์ และกฎหมายสิ่งแวดล้อม ได้เดินทางมารับฟังการอ่านคำพิพากษาคดีดังกล่าวของศาลปกครองเชียงใหม่

       
       ทั้งนี้ ในคดีฟ้องเรียกค่าชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากมลพิษ ศาลวินิจฉัยว่า ตามรายงานการตรวจวัดอากาศของกรมควบคุมมลพิษระหว่างเดือน พ.ย.2535 ถึง ส.ค.2541 วัดค่าก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในพื้นที่แม่เมาะเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 50 เดือน จากระยะเวลา 70 เดือน (ซึ่งค่าที่กฎหมายกำหนด ตั้งแต่ ก.ค.2538 คือ ไม่เกิน 1,300 ลูกบาศก์ไมโครกรัมต่อลูกบาศ์เมตร เฉพาะในพื้นที่แม่เมาะ ส่วนพื้นที่อื่นไม่เกิน 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และต่อมายกเลิกการกำหนดเป็นค่าเดียวกันหมดทุกพื้นที่คือไม่เกิน 780ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) ส่วนที่เหลืออีก 20 เดือน พบค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเวลา 17 เดือน
      

       เมื่อ กฟผ.เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษในพื้นที่ และถูกกำหนดให้ถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสีย โดยไม่ปรากฏว่าก๊าซดังกล่าวเกิดจากสาเหตุอื่น อีกทั้ง กฟผ.เคยรับว่าเมื่อวันที่ 17-18 ส.ค.2541 เครื่องดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ใช้การได้เพียง 2 เครื่อง ในจำนวน 10 เครื่อง ทำให้ราษฎรเจ็ป่วย 868 คน ดังนั้นการที่ กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ตั้งแต่เดือน ก.ค.2538 เป็นการผิดกฎหมายจึงเป็นละเมิด
      

       ส่วนการปล่อยก๊าซเกิน 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในเวลาก่อนเดือน ก.ค.2538 หรือปล่อยก๊าซเกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แม้ตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่ได้ห้าม แต่ศาลเห็นว่าคนแม่เมาะก็ไม่ต่างกับคนในพื้นที่อื่น จึงต้องใช้มาตรฐานเดียวกัน เมื่อ กฟผ.ปล่อยก๊าซเกินจึงต้องรับผิดตามมาตรา 96 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535

       
       สำหรับโรคจากก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ จะมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจและทำให้เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตาอักเสบ ประกอบกับราษฎรดังกล่าวได้รับก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เป็นเวล 67 เดือน ใน 70 เดือน แม้โรคจะไม่ปรากฏว่าสะสมในร่างกาย แต่ร่องรอยขอโรค คือ เยื่อบุจมูก เยื่อบุคอ เยื่อบุตา ซึ่งอักเสบเป็นเวลานานอาจปรากฏอยู่ เมื่อแพทย์ระบุว่าเป็นโรคพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ประกอบกับค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ในอากาศเกิน 248 ครั้ง เป็นเวลา 67 เดือน ใน 70 เดือน

       
       จึงเชื่อว่าผู้ฟ้องคดีเฉพาะที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวป่วยเป็นโรคดัง กล่าวจริง แต่จากอาการโรคดังกล่าว ราษฎรที่ทนไม่ได้จะไปหาแพทย์ บางรายที่ทนได้ก็จำต้องทำมาหาเลี้ยงชีพต่อไปหรือบางรายก็ต้องอยู่แต่ในบ้าน เรือนไม่ออกไปข้างนอก

       
       ศาลจึงกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและจิตใจแก่ราษฎรที่ อยู่ในพื้นที่จริงตามพฤติการณ์และความร้ายแรงของการกระทำ ตามปริมาณและจำนวนครั้งที่ กฟผ.ปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โดยส่วนใหญ่จะได้รายละ 246,900 บาท พร้อมดอกเบี้ย

       
       ส่วนคดีที่สองเรื่องการทำเหมืองถ่านหินของ กฟผ.ที่ราษฎรฟ้องว่าไม่ทำตามเงื่อนไขประทานบัตรและมาตรการป้องกันแก้ไขผล กระทบสิ่งแวดล้อมนั้น ศาลวินิจฉัยในประเด็นเนื้อหาของคดี ข้อเท็จจริงปรากฏว่ามีการตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะจากรายงานการตรวจร่วมและรายงานของ กฟผ.เองว่า ไม่ปฏิบัติตามาตรการหลายประการและพิพากษาให้ กฟผ.ดำเนินการ ดังนี้

       
       1.อพยพหมู่บ้านออกนอกรัศมีผลกระทบ 5 กิโลเมตร 2.กรณีนำที่ดินปลูกป่าไปสร้างสนามกอล์ฟนั้น ตามมาตรการระบุชัดเจนว่าให้ปลูกป่าทดแทน จึงให้ กฟผ.ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ทำสนามกอล์ฟ 3.กรณีจุดปล่อยดิน ให้กำหนดพื้นที่ปล่อยดินกับชุมชนและทำ Bunker โดยในจุดปล่อยดินต่ำกว่า Bunker เพื่อลดปัญหาฝุ่นละออง และ 4.กรณีทำรายงานการตรวจสภาพสิ่งแวดล้อมทุก 2 ปี กฟผ.ยอมรับว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ ศาลจึงให้ กฟผ.จัดทำและนำเสนอต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พิจารณา หาก กฟผ.มีมาตรการที่ดีกว่าให้ยื่นแก้ไข

       
       นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ กล่าวหลังศาลปกครองเชียงใหม่อ่านคำพิพากษาว่า รู้สึกดีใจที่ศาลปกครองมีคำพิพากษาออกมาดังกล่าวหลังจากที่ชาวบ้านต้อง ต่อสู้เรียกร้องมายาวนานนับสิบปีเพื่อรักษาสิทธิของตัวเอง ทั้งในส่วนของการให้ กฟผ.อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรัศมี 5 กิโลเมตร และการจ่ายค่าเสียหายเป็นค่าเสื่อมสุขภาพให้กับชาวบ้าน แม้จะได้รับเพียง 131 ราย จากที่ร่วมกันยื่นฟ้องทั้งหมด 477 ราย เฉพาะรายที่มีใบรับรองแพทย์ และได้รับค่าเสียหายเพียงรายละไม่มากก็ตาม

       
       ทั้งนี้อยากวิงวอนไปยัง กฟผ.ว่าไม่น่าจะมีการยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้อีกต่อไป และปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ โดยอยากให้เห็นใจชาวบ้านที่ต้องทนทุกข์และต่อสู้มานานจนมีผู้ที่ต้องจากไป แล้วหลายราย ซึ่งไม่อยากให้มีการสูญเสียมากไปกว่านี้อีก แต่หาก กฟผ.จะยื่นอุทธรณ์ ชาวบ้านก็คงต้องยืนหยัดต่อสู้ต่อไป เพื่อเรียกร้องรักษาสิทธิของตัวเองให้ถึงที่สุด

       
       ส่วนนายธีระ พลวงศ์ศรี อายุ 77 ปี ชาวบ้านบ้านหัวฝาย หมู่ 1 ตำบล ตำบลบ้านดง อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ยื่นฟ้อง กล่าวว่า ดีใจที่ศาลมีคำพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายให้ชาวบ้าน และมีการอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามรู้สึกว่าค่าเสียหายที่ได้รับ ค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะผลกระทบสุขภาพที่ชาวบ้านแม่เมาะได้รับและต้องทนทุกข์มานานนับสิบปี แต่เมื่อศาลมีคำตัดสินออกมาเช่นนี้ก็พร้อมน้อมรับ

       
       ด้านนายอภิชาติ พลอยแก้ว อัยการผู้เชี่ยวชาญ สำนักงานคดีปกครองเชียงใหม่ ผู้รับมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทุกราย กล่าวว่า เบื้องต้นยังไม่สามารถบอกได้ว่าทาง กฟผ.จะยื่นอุทธรณ์คดีนี้หรือไม่ โดยอาจจะต้องมีการพิจารณาข้อเท็จจริง พยาน และหลักฐานต่างๆ เพิ่มเติม ซึ่งหากมีน้ำหนักเพียงพอก็อาจจะยื่นอุทธรณ์คดีก็ได้ อย่างไรก็ตามทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กฟผ. ที่จะต้องมีการปรึกษาหารือร่วมกันทุกฝ่ายอย่างละเอียดก่อนที่จะมีการตัดใจ ใดๆ

       
       ขณะที่นายพรชัย มนัสเพ็ญศิริ รองอธิบดีศาลปกครองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนคดนี้ กล่าวว่า คู่กรณีทั้งสองฝ่ายมีสิทธิที่จะยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ส่วนการจ่ายค่าเสียหายให้กับผู้ฟ้องนั้น จะต้องจ่ายเงินภายใน 30 วันนับตั้งแต่คดีสิ้นสุด ขณะที่การที่ศาลสั่งให้ กฟผ.ดำเนินการต่างๆ นั้น ไม่ได้กำหนดเวลาไว้เพราะการดำเนินการปรับปรุงใดๆ จำเป็นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามหากการดำเนินการล่าช้า คู่กรณีก็สามารถยื่นคำร้องต่อศาลให้เร่งรัดการดำเนินการได้

       
       นอกจากนี้นายพรชัย กล่าวถึงการกำหนดค่าซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่แม่เมาะสูงกว่าพื้นที่อื่นว่า โดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดก็ตามควรมีสิทธิ ที่จะใช้ค่าอากาศที่เท่าเทียมกัน เพราะมนุษย์ทุกคนต่างมีร่างกายที่เหมือนกัน เช่นเดียวกับชาวบ้านแม่เมาะที่ควรจะได้รับอากาศที่ดีเหมือนกัน

       
       ส่วนการเรียกร้องให้มีการประกาศให้แม่เมาะเป็นเขตควบคุมมลพิษนั้น เห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะเรียกร้องได้ หากเห็นว่ามีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 มีนาคม 2552

พิมพ์ อีเมล

สรรพสามิตลุย บี้ภาษีซานติก้า เตะถ่วงผลสอบ

นายสถิตย์  ลิ่มพงศ์พันธุ์  รองปลัดกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีซานติก้าผับ  เปิดเผยว่า  กรณีที่ได้มีการเลื่อนแถลงความชัดเจนเกี่ยวกับผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี ซานติก้าผับว่าต้องเสียภาษีสรรพสามิต   10%  หรือไม่นั้น    เนื่องจากขณะนี้ได้รับรายงานจากทางกรมสรรพสามิตว่า  กรมได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาเป็นการภายในอีก   1   ชุด  โดยมี  นายสุรพล  สุประดิษฐ์  รองอธิบดี  เป็นประธาน   ซึ่งกรรมการชุดนี้มีอำนาจในการสอบข้อเท็จจริงมากกว่าชุดที่ตนดำรงตำแหน่ง อยู่  จึงอยากจะรอข้อมูลผลสอบจากคณะกรรมการชุดนี้ก่อน  จึงค่อยสรุป  ซึ่งคณะกรรมการของกรมสรรพสามิตจะดำเนินการตรวจสอบให้ได้ข้อสรุปภายในเดือน  มี.ค.นี้   

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

แอลพีจีตรึงราคายาวถึงสิ้นปี

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า ที่ประชุม กบง.มีมติเห็นชอบให้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาจ่ายเงินชดเชยการนำเข้าก๊าซหุง ต้มหรือแอลพีจีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบกภาระนำเข้าแทนประชาชนโดยจะชดเชยการนำเข้าสำหรับการนำเข้าที่เกิดขึ้นใน เดือน ม.ค.-มี.ค.นี้เป็นก้อนแรกในวงเงินรวม 240 ล้านบาท โดยทยอยจ่ายคืนไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาท จนครบจำนวนที่ ปตท.แบกรับ และหากมีการนำเข้าตั้งแต่เดือน เม.ย. เป็นต้นไปก็จะจ่ายคืนให้ตามจริงทันที แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาทเช่นกัน

ทั้งนี้ หากเกินวงเงินที่กำหนดไว้ต้องให้ กบง.อนุมัติทุกครั้ง และให้ สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) พิจารณาจ่ายเงินชดเชยสำหรับการนำเข้าที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาวงเงินรวม 7,948 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาการจ่ายเงินชดเชยให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ซึ่งจะเริ่มจ่ายงวดแรกได้ภายในเดือน เม.ย.นี้ และกรอบการจ่ายหนี้ก้อนนี้ก็จะจ่ายให้ไม่เกินเดือนละ 500 ล้านบาทเช่นกัน จนกว่าจะครบวงเงินที่ต้องจ่ายคืน 

นพ.วรรณรัตน์กล่าวว่า กระทรวงพลังงานขอยืนยันว่าตั้งแต่บัดนี้จนถึงสิ้นปีนี้จะไม่มีการอนุมัติให้ ปตท.ปรับขึ้นราคาขายปลีกแอลพีจีอย่างแน่นอนเพื่อบรรเทาภาระรายจ่ายของ ประชาชน สำหรับฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 26 ก.พ. มีเงินสุทธิ 19,840 ล้านบาท มีหนี้สิ้นกองทุน 3,223 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 3,011 ล้านบาท และงบประมาณบริหารและโครงการซึ่งได้รับอนุมัติ 212 ล้านบาท 

 
นอกจากนี้ กบง.ยังมีมติเห็นชอบให้การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดราคาไบโอดีเซลบี 100 จากเดิมได้กำหนดเพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) เพื่อใช้ในการคำนวณราคาไบโอดีเซลบี 100 ให้ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบในตลาดมาเลเซีย+ 3 บาทต่อ กก.โดยให้ปรับปรุงใหม่ เป็นให้อ้างอิงราคาปาล์มดิบชนิดสกัดแยก (เกรดเอ) ตามกรมการค้าภายในประกาศ แต่ไม่สูงกว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบที่คำนวณจากราคาปาล์มทะลาย (น้ำมัน 17%) ตามที่กรมการค้าภายในประกาศบวกค่าสกัด 2.25 บาท/กก. เป็นการชั่วคราวถึงวันที่ 31 พ.ค. หลังจากนั้นให้กลับมาใช้เพดานราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค.-31 พ.ค. นี้ ให้ผู้ค้าผลิตไบโอดีเซล (B100) จำหน่ายให้กับผู้ค้ามาตรา 7 โดยสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงในอุตสาหกรรมไบโอดีเซล. 

 

ไทยรัฐ 4/3/52

พิมพ์ อีเมล

ร้องศาลปค.ไต่สวนปตท.ทวงสมบัติชาติ1.8 แสนล.

 ASTVผู้จัดการรายวัน - “สารี” นำทีมผู้บริโภคทวงคืนสมบัติแผ่นดินจากปตท. ยื่นคำร้องให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนกรณีปตท. คืนทรัพย์สินแผ่นดินให้รัฐไม่ครบ ยังเหลืออีกกว่า 189,715 ล้านบาท แฉพฤติกรรมหมกเม็ด ปตท.ทำเพิกเฉยไม่ส่งคืนทรัพย์สินตามการตรวจสอบของสตง. กว่า 3.2 หมื่นล้าน กรมธนารักษ์ออกโรงป้องปตท. ตีความส่งคืนทรัพย์สินแค่16,176 ถูกต้องแล้ว ด้านกบง.รีบอนุมัติแผนจ่ายหนี้แอลพีจีคืนปตท. 7,900 กว่าล้าน ในเดือนเม.ย.นี้ ไม่สนถูกติงมีเงื่อนงำ
       
        วานนี้ (3 มี.ค.) ที่สำนักงานศาลปกครองสูงสุด กรุงเทพฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสมุทรสงคราม เข้ายื่นหนังสือคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด ให้เปิดไต่สวนกรณี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาศาล โดย ปตท. ได้ทำการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนแก่แผ่นดินเพียง 16,176 ล้านบาท ยังเหลือทรัพย์สินแผ่นดินที่ไม่ได้โอนคืนอีกกว่า 189,715 ล้านบาท

        การยื่นคำร้องครั้งนี้ เป็นผลมาจากกรณีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดในการแปลงสภาพ ปตท. ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวก รวม 5 คน โดยศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น

        นางสาวสารี กล่าวว่า ทรัพย์สินซึ่งบริษัท ปตท. ได้แบ่งแยกคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธ.ค. 51 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท ประกอบด้วย ที่ดินเวนคืน 1.42 ล้านบาท สิทธิการใช้ที่ดิน 1,124.11 ล้านบาทและระบบท่อก๊าซธรรมชาติในที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิ 3 โครงการอีก 15,050.69 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมา เป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 1 ต.ค. 44 ซึ่งการโอนคืนทรัพย์สินของปตท.จำนวนดังกล่าวไม่สอดคล้องกับการตรวจสอบของ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริษัทปตท. ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีก 32,613 ล้านบาท

        นอกจากนั้น จากการตรวจสอบเพิ่มเติมขององค์กรผู้บริโภค พบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัทปตท.ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 44 นั้น ไม่มีการโอนคืนแต่อย่างใด ซึ่งมีมูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาท โดยทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชนซึ่ง ปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลเช่นกัน

        ทั้งนี้ ทรัพย์สินที่ต้องคืนให้กับกระทรวงการคลัง แบ่งได้เป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มแรกทรัพย์สินที่ได้มาก่อนการแปรรูปที่ใช้ที่ดินราชการและที่สาธารณะ ได้แก่ แนวท่อส่งก๊าซที่อยู่ในที่ดินทางหลวงและในทะเล มูลค่ารวม 32,613 ล้านบาท (ตามการตรวจสอบของสตง.)

        กลุ่มที่สอง คือ ทรัพย์สินหลังการแปรรูปกิจการในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติกว่า 10 โครงการ มูลค่า 157,102 ล้านบาท ได้แก่ การรอนสิทธิที่ดินเอกชนในการวางระบบท่อก๊าซหลังการแปรรูป คือ ท่อก๊าซเส้นระยอง-บางปะกง, บางปะกง-วังน้อย, วังน้อย-แก่งคอย,ไทรน้อย-พระนครใต้/เหนือ ไทย-มาเลเซีย รวมถึงระบบท่อส่งก๊าซทั้งที่อยู่ในทะเลและในเขตทางหลวงที่ก่อสร้างหลังการ แปรรูป อาทิ เช่น ท่อเส้นที่ 3 ท่อแยกไปราชบุรี ท่อแยกไปทับสะแก ท่อไทย-มาเลเซีย รวมทรัพย์สินทั้งสองกลุ่มเท่ากับ 189,715 ล้านบาท

        นางสาว สารี กล่าวย้ำว่า เหตุที่ทรัพย์สินที่ได้มาหลังการแปรรูปของ ปตท. ถือเป็นของแผ่นดินเพราะว่าหลังแปรรูป ปตท.ยังใช้อำนาจมหาชน ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐเพื่อการรอนสิทธิที่ดิน ใช้ที่ดินราชการ และที่สาธารณะเพื่อประโยชน์ของบริษัทปตท.

       ผู้ฟ้องคดี จึงร้องต่อศาลฯ ขอได้โปรดทำการไต่สวนและออกหมายเรียกผู้ถูกฟ้องคดีมาไต่สวนเกี่ยวกับ ทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่จะต้องแบ่งแยกคืนทรัพย์สิน อันเป็นสาธารณสมบัติ ของแผ่นดินเพิ่มเติมเป็นมูลค่าอีก 189,715 ล้านบาทให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยกำหนดให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ทำการแบ่งแยกคืนให้รัฐทั้งสิ้น ภายในกำหนด 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง

       สำหรับรายละเอียดทรัพย์สินสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่มูลนิธิผู้ บริโภคร้องศาลฯให้ไต่สวนปตท. เพื่อส่งมอบคืนทรัพย์สิน มีดังนี้ ทรัพย์สินในโครงการท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งได้มาก่อนแปรรูป 1 ต.ค. 44 แยกเป็น ที่ดินที่เป็นทรัพย์สินหรือเป็นที่ตั้งของทรัพย์สิน ส่วน ก) ที่ดินเอกชนเดิม ที่เวนคืนและรอนสิทธิ คือ ท่อส่งก๊าซฯ ระยอง-บางปะกง-พระนครใต้ (ท่อสายประธาน) ทรัพย์สินที่ได้มาจากการรอนสิทธิ คือ ท่อส่งก๊าซฯ บางปะกง-วังน้อย (ท่อคู่ขนาน) ท่อก๊าซฯ จากชายแดนไทยพม่า-ราชบุรี และราชบุรี – วังน้อย รวมที่ดิน/สิทธิและระบบท่อ มูลค่า 16,176 ล้านบาท ส่วนนี้ปตท.ส่งมอบคืนรัฐแล้ว

       ทรัพย์สินส่วนที่เป็นทรัพย์สินหรือเป็นที่ตั้งของทรัพย์สินในที่ดิน ราชการ ตามแนวทางหลวงซึ่งเวนคืนจากเอกชน คือ ท่อบางส่วนของโครงการท่อสายประธานและท่อคู่ขนาน, ท่อสายประธาน บาลพลี –สระบุรี มูลค่า 14,393 ล้านบาท และส่วนท่อก๊าซฯในที่สาธารณะ คือ ท่อในทะเลในเขตน่านน้ำของไทย ประกอบด้วยท่อเส้นที่ 1 (ท่อสายประธาน) ท่อเส้นที่ 2 (ท่อคู่ขนาน) และท่อเส้นเอราวัณ-ขนอม มูลค่า 18,220 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินส่วนนี้ตามการตรวจสอบของ สตง. ทาง ปตท. ต้องส่งคืนรัฐ รวมมูลค่า 32,613 ล้านบาท

       กลุ่มทรัพย์สินที่ได้มาหลังการแปรรูป ประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซฯ บนที่ดินเอกชนเดิมที่มีการเวนคืนและรอนสิทธิ ประกอบด้วย เส้นระยอง – บางปะกง (ท่อเส้นที่ 3), บางปะกง-วังน้อย, วังน้อย – แก่งคอย, ไทรน้อย – พระนครเหนือ/ใต้, ไทย – มาเลเซีย บวกหน่วยเพิ่มความดัน 3 จุด และหน่วยเพิ่มความดันในทะเล/บก

       ท่อก๊าซฯ บนที่ดินราชการตามแนวทางหลวงซึ่งเวนคืนจากเอกชน ประกอบด้วยท่อบางส่วนของโครงการในส่วน ก) และส่วนท่อก๊าซฯ ในที่สาธารณะคือ ท่อในทะเลและในเขตน่านน้ำของไทย ประกอบด้วย ท่อเส้นที่ 3, ท่อแยกไปราชบุรี, ท่อแยกไปทับสะแก และท่อไทย-มาเลเซีย รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ ปตท. ใช้พรฎ.อำนาจ สิทธิ บริษัท ปตท. ภายหลังการแปรรูป 157,019 ล้านบาท
       
       ***ธนารักษ์ป้อง ปตท.
       
       นายอำนวย ปรีมนวงศ์ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ กรมธนารักษ์ เปิดเผยกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นคำร้องให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนกรณี บมจ.ปตท. คืนทรัพย์สินแผ่นดินให้รัฐไม่ครบ ยังเหลืออีกกว่า 189,715 ล้านบาท ว่า หลังศาลปกครองมีคำสั่งเมื่อปลายปี 50 ให้ บมจ.ปตท.คืนทรัพย์สินให้แผ่นดิน กรมธนารักษ์จึงร่วมกับ บมจ.ปตท. พิจารณาว่ามีที่ดิน ท่อก๊าซและทรัพย์สินเหนือแผ่นดินที่ใดบ้างที่จะต้องคืนให้รัฐ ซึ่งจากข้อสรุปพบว่า บมจ.ปตท.ได้แบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือน ธ.ค.51 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท และรายละเอียดทั้งหมดกรมธนารักษ์ได้ส่งให้ศาลปกครองพิจารณาแล้ว ซึ่งจนถึงขณะนี้ศาลฯยังไม่ได้ส่งหนังสือกลับคืนหรือท้วงติงแต่อย่างใด
       "การตีความว่าทรัพย์สินที่ ปตท.คืนให้แผ่นดินครบหรือไม่ กรมธนารักษ์ได้ตีความร่วมกับ ปตท. ว่ามีพื้นที่หรือทรัพย์สินส่วนใดบ้าง ซึ่งทั้งหมดเรายืนยันว่าถูกต้องและได้ส่งเรื่องให้ศาลพิจารณาแล้วทั้งหมด ส่วนที่เหลือที่ ปตท.จะต้องคืนหรือไม่เราไม่ทราบ ซึ่งคงต้องให้ศาลปกครองพิจารณา" นายอำนวยกล่าว
       
       **** กบง.รีบอนุมัติแผนจ่ายหนี้แอลพีจีคืนปตท.
       
       น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยภายหลังคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วานนี้(3มี.ค.) ว่า ที่ประชุมมีมติใช้คืนหนี้นำเข้าก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี)ในช่วงปี’51 ที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รับภาระนำเข้าไปเป็นเงินรวม 7,948 ล้านบาท โดยจะเริ่มจ่ายได้ในเดือนเม.ย.นี้หลังเป็นช่วงที่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหมด ภาระการดูแลการขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันหมดลง

        “การจ่ายหนี้จะแยกเป็น 2 ก้อน ก้อนแรกจะจ่ายหนี้ใหม่ได้ทันทีคือตั้งแต่การนำเข้าในเดือนม.ค. 2552 เป็นต้นไปแต่วงเงินจะต้องไม่เกิน 500 ล้านบาทต่อเดือน หากเกินก็จะต้องเข้ากบง.เห็นชอบก่อน ซึ่งหากขอเคลมมาก็จ่ายทันที ส่วนหนี้เก่าที่นำเข้าและจ่ายไปแล้วทั้งหมดคือ 7,948 ล้านบาทจะทยอยจ่ายเป็นเวลา 2 ปี น่าจะเริ่มเดือนเม.ย.” รมว.พลังงานกล่าว

        สำหรับรายได้ของกองทุนฯเมื่อหมดภาระดูแลภาษีสรรพสามิตน้ำมันก็จะมีเงินไหล เข้าเดือนละ 3,000 ล้านบาทก็จะมาดูการบริหารในการนำมาจ่ายคืนหนี้ปตท.ในแต่ละช่วงจังหวะที่ เหมาะสม และเพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมนโยบายแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมาในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาแอลพีจีที่ประชุมมีมติให้ชะลอการปรับ ราคาก๊าซแอลพีจีออกไปก่อน เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำและสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน ฐานะกองทุนน้ำมันฯ ณ วันที่ 26 ก.พ. 52 นั้น มีเงินสุทธิ 19,840 ล้านบาท มีหนี้สิ้นกองทุน 3,223 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็นหนี้ค้างชำระชดเชย 3,011 ล้านบาท และงบประมาณบริหารและโครงการซึ่งได้รับอนุมัติแล้ว 212 ล้านบาท

       อนึ่ง การจ่ายหนี้จากการนำเข้าแอลพีจีให้ปตท. ถูกตั้งข้อสงสัยจากสังคมว่า มีการนำเข้าแท้จริงหรือไม่และขอให้ ปตท. แสดงรายละเอียดต่อสาธารณชนให้ชัดเจน ซึ่งปัญหาดังกล่าวทางคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริม สร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้เข้ามาตรวจสอบตามที่มีกลุ่มตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี มายื่นข้อร้องเรียน

- ผู้จัดการรายวัน  4/3/52

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน