พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนม

พบอฟลาท็อกซินM1 16 06 65

ฉลาดซื้อ เผยทดสอบพบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติทุกตัวอย่างวอนรัฐฯ ตรวจสอบและควบคุมต่อเนื่อง

ห่วงผลกระทบสุขภาพเด็ก หลัง ”ฉลาดซื้อ”พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติ ทุกตัวอย่างมีการปนเปื้อนของอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แต่อยู่ในปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานโคเด็กซ์ (CODEX) วอนรัฐเร่งควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของนมต่อเนื่อง เหตุไทยร้อนชื้นเสี่ยงเชื้อราในอาหารวัวที่นำไปสู่การสร้างสารอะฟลาท็อกซิน

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้ทำการสุ่มเก็บตัวอย่าง ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติจากร้านค้าทั่วไป จำนวน 24 ตัวอย่าง แบ่งเป็น นมโรงเรียน 8 ตัวอย่าง จากโรงเรียนในเขตกรุงเทพมหานคร และผลิตภัณฑ์นมรสธรรมชาติจำนวน 16 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อ จากร้านค้าปลีกทั่วไป ร้านค้าออนไลน์ และตัวแทนจำหน่ายนม โดยสุ่มเก็บตัวอย่างเมื่อเดือนมกราคม 2565 นำมาทดสอบโดยใช้ห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อหาปริมาณสารอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 โดยพบว่าใน 20 ตัวอย่าง พบปริมาณในช่วง < 0.20 – 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม และไม่พบ 4 ตัวอย่าง ดังนั้นทุกตัวอย่างผ่านเกณฑ์มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

สารอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 (Aflatoxin M1) M หมายถึง Milk ก็คืออะฟลาท็อกซินที่พบในน้ำนมสัตว์ เมื่อโคนมกินอาหารที่ปนเปื้อนอะฟลาท็อกซินบี 1 ซึ่งเป็นสารพิษก่อมะเร็งที่สร้างจากเชื้อรา จะถูกแปลงเป็นอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 แล้วหลั่งออกมาในน้ำนม หากผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กๆ ดื่มนมที่ปนเปื้อนนี้เข้าไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 414) พ.ศ. 2563 เรื่อง มาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ระบุว่า น้ำนม คือ น้ำนมดิบจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งยังไม่ผ่านกระบวนการแปรรูป หรือเติมแต่งส่วนผสมอื่น มีลักษณะเป็นของเหลวสำหรับการบริโภคโดยตรง หรือนำไปผ่านกระบวนการแปรรูปก่อนการบริโภค กำหนดให้มีอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 ในน้ำนมได้ไม่เกิน 0.5 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม

โดยเมื่อปี 2561 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้ทดสอบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 ในนมโรงเรียนและนมรสธรรมชาติเป็นครั้งแรก สรุปเปรียบเทียบผลทดสอบปี 2561 กับปี 2565 ดังนี้ จากตารางการเปรียบเทียบนี้พบว่า เปอร์เซ็นต์ตัวอย่างนมที่พบอะฟลาทอกซินเอ็ม 1 ปริมาณที่พบในนมโรงเรียน และปริมาณน้อยที่สุดที่พบในนมที่ขายทั่วไปนั้น ต่างก็มีค่าตัวเลขที่ลดลง แต่ปริมาณที่พบสูงสุดในนมที่ขายทั่วไปกลับมีค่าเพิ่มขึ้น 0.12 ไมโครกรัม/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ถ้าลองพิจารณาโดยไม่รวมยี่ห้อเดียวที่มีปริมาณสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้เข้าไปด้วย ในตัวอย่างนมที่ขายทั่วไปอื่นๆ จะพบปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 อยู่ที่ <0.02 – 0.06 ไมโครกรัม/ กิโลกรัม ซึ่งตัวเลขลดลงจากเดิมเช่นกัน

นอกจากนี้ มีตัวอย่างยี่ห้อนมที่ขายทั่วไปที่ทดสอบซ้ำกันอยู่ 11 ตัวอย่าง พบว่ามี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลทท็อกซินเอ็ม 1 ลดลง และมี 5 ตัวอย่างที่มีปริมาณอะฟลาท็อกซินเอ็ม 1 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ยกเว้นยี่ห้อเอ็มมิลล์ นมพาสเจอร์ไรส์ ที่จากเดิมพบ <0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นเป็น 0.20 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนยี่ห้อไทย-เดนมาร์ค นมยูเอชที จากเดิมพบ<0.03 ไมโครกรัม/กิโลกรัม แต่ครั้งนี้กลับไม่พบอะฟลาท็อกซินเอ็ม1 เลย  

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร บรรณาธิการบริหารนิตยสารฉลาดซื้อ แนะนำว่า “ ผู้บริโภคควรเลือกซื้อนมจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐาน และปฏิบัติตามคำแนะนำข้างกล่อง เช่น ควรบริโภคก่อนวันที่ระบุ ควรดื่มให้หมดทันทีหลังเปิดดื่ม เก็บไว้ที่แห้ง ปลอดจากมดและแมลง ไม่ควรวางไว้ในที่ร้อนจัดหรือสัมผัสแสงแดดห้ามโยน ห้ามแช่น้ำ และ ไม่ควรบริโภคหากพบบรรจุภัณฑ์ชำรุด บวม หรือมีรูรั่ว หรือมีกลิ่นผิดปกติ”

และเนื่องจากประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ซึ่งเป็นสภาวะที่ทำให้อาหารที่โคนมกินเข้าไปมีโอกาสเกิดเชื้อราที่สร้างสารอะฟลาท็อกซินได้ อีกทั้งนโยบายนมโรงเรียน ทำให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงการบริโภคนมได้มากขึ้น การควบคุมคุณภาพของนมให้บริโภคได้ปลอดภัยจึงสำคัญ ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องคอยตรวจสอบการปนเปื้อนอะฟลาทอกซินเอ็ม1 ในนมและผลิตภัณฑ์นมนี้อย่างต่อเนื่อง

พิมพ์ อีเมล

ผู้บริโภค เฮ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ ยกฟ้องคดี ‘สมาคม รพ.เอกชน-พวก ร้องเพิกถอน ประกาศให้ “ยา-ค่ารักษา” เป็นสินค้าควบคุม

กราฟิก รพ.เอกชน

ผู้บริโภค เฮ ‘ศาลปกครองสูงสุด’ พิพากษายกฟ้องคดี ‘สมาคมโรงพยาบาลเอกชน-พวก’ ขอเพิกถอน

ประกาศ‘กกร.’ กรณีประกาศให้ ‘ยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาพยาบาล-บริการทางการแพทย์’ เป็นสินค้าควบคุม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้พลังผู้บริโภคสร้างความเปลี่ยนแปลง

เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม

จากการที่วานนี้ (14 มิ.ย.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องคดีที่ สมาคมโรงพยาบาลเอกชนและโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ร่วมกันฟ้องคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (รมว.พณ.) ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ยื่นฟ้องขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่กำหนดให้ยารักษาโรคและเวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นสินค้าควบคุม และกำหนดให้บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรคเป็นบริการควบคุม นั้น

วันนี้ (15 มิ.ย.) นางสาวกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกดีใจที่วันนี้ศาล พิพากษายกฟ้อง คดี ‘สมาคมโรงพยาบาลเอกชน-พวก’ ขอเพิกถอนประกาศ ‘กกร.’ กรณีประกาศให้‘ยา-เวชภัณฑ์-ค่ารักษาพยาบาล-บริการทางการแพทย์’ เป็นสินค้าควบคุม ซึ่งคดีนี้เราต่อสู้มาร่วม 4 ปี ตั้งแต่ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2562 – 2565 ซึ่งนับว่าเป็นเวลาที่ยาวนาน แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพลังของผู้บริโภคนั้นมีความหมาย สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง   โดยคำวินิจฉัยของศาลนั้น ให้ความสำคัญกับความเดือดร้อนของประชาชนได้รับผลกระทบจากค่ารักษาพยาบาลแพง และเมื่อมีการร้องเรียนไปที่หน่วยงานรัฐ   ซึ่งรัฐมีการจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง ภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงมูลนิธิฯในฐานะตัวแทนภาคประชานหลายครั้ง พบว่ายังไม่มีหน่วยงานใดเข้าไปกำกับดูแลควบคุมค่ารักษาพยาบาลให้เป็นธรรมได้ ศาลจึงวินิจฉัยว่า การออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2562 เรื่อง การกำหนดราคาสินค้าและบริการควบคุม ลงวันที่ 22 ม.ค.2562 โดยข้อ 3 (13) (14) และ (50) กำหนดให้ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรครวมทั้งบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นของสถานพยาบาลเกี่ยวกับการรักษาโรค เป็นสินค้าและบริการควบคุม จึงเป็นการทำหน้าที่ที่สมเหตุสมผล ต่อไปนี้เราวางแผนเดินหน้าในเรื่องนี้ต่อ ในเรื่องโครงสร้างราคาที่เป็นธรรม ราคาเท่าไหร่จึงจะเหมาะสมทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายมีข้อตกลงร่วมกัน มีความเห็นชอบร่วมกัน ทั้งในส่วนของผู้บริโภค ผู้ประกอบการและหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแล

ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคพาย้อนไปดูเส้นทางการต่อสู้เรื่องนี้กันอีกครั้ง จากกรณีที่สมาคมโรงพยาบาลเอกชน และผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชน 41 แห่ง ยื่นฟ้อง คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.), รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมการค้าภายใน ต่อศาลปกครองสูงสุด และขอให้ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาเพิกถอนประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การกำหนดสินค้าและบริการควบคุม โดยเฉพาะการควมคุมราคายา เวชภัณฑ์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่นๆ ของสถานพยาบาล รวมทั้งมีคำขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา ให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2562

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนผู้บริโภคทั่วประเทศร้องสอดร่วมเป็นผู้ถูกฟ้องกับกระทรวง( อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นร้องสอดเพื่อร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง กรณี ‘รพ. เอกชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุด ยกเลิกประกาศ กกร. คุมราคายา - ค่ารักษาพยาบาล’ พร้อมยืนยันว่าการยกเลิกประกาศฯ ส่งผลต่อผู้บริโภคจำนวนมาก https://www.consumerthai.org/consumers-news/consumers-news/food-and-drug/4350-620617_medical.html )จนกระทั่ง วันที่ 28 มิถุนายน 2562 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมเป็นผู้ถูกฟ้อง โดยให้เป็นผู้ร้องสอด เนื่องจากพิจารณาแล้วเห็นว่า มพบ. เป็นตัวแทนของผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาค่ารักษาพยาบาลแพง จึงถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงหากมีการยกเลิกประกาศดังกล่าว

ทั้งนี้ หลังจากนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะทำคำให้การ พยานหลักฐาน พร้อมด้วยสำเนาไปยื่นต่อศาลภายใน30 วัน (อ่านรายละเอียดต่อได้ที่ ผู้บริโภคเรียกร้อง สธ.ตรวจสอบค่ารักษา และ ก.พาณิชย์คุมค่ารักษาพยาบาล เรียกร้องไปแพทยสภาตั้งคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานค่าวิชาชีพแพทย์ และเรียกร้องไปยัง กระทรวงสาธารณสุขและ สนช. ออกมีกฎหมายตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่ารักษาพยาบาลเพื่อสร้างความเป็นธรรมในระบบสาธารณสุขแบบ one stop service https://www.consumerthai.org/consumers-news/medicalnews/4357-620628_medicalprice.html)

พิมพ์ อีเมล

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่

ภาพข่าวแถลงส้ม 01

          สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ

          วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง

62299670e1211 attachment

          การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile

          ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า

          1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ

          2. จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC, น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ

          ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

          สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

          สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้

          1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ

          2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ

          3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%

          4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง

          “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” นางสาวปรกชลกล่าว

 IMG 5564

          นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่

          นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร

สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทย

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว
  • ปฏิรูประบบการรับรอง GAP เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค

2.กระทรวงสาธารณสุข

  • เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า
  • พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  • ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย

ข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย

1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด     

2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์

ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค

  • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย
  • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง
  • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

IMG 5582

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน