รู้จักวันสิทธิผู้บริโภคสากล WCRD

 what is wcrd 001

         15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นวันสิทธิผู้บริโภคสากล (World Consumer Rights Day) ผู้บริโภคทั่วโลกร่วมมือกันในการสะท้อนปัญหาที่ผู้บริโภคกำลังเผชิญ สร้างความตระหนักเรื่องสิทธิผู้บริโภคที่ควรได้รับการปกป้องและคุ้มครอง รวมทั้งการรณรงค์ต่อต้านการค้าที่ไม่เป็นธรรมและความไม่เป็นธรรมทางสังคมทั้งหลายที่ผู้บริโภคได้รับ

         สิทธิผู้บริโภค ถูกพูดถึงครั้งแรกโดยประธานาธิบดีจอห์น เอฟ.เคนเนดี เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2505 โดยได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริดภคที่สำคัญอย่างน้อย 4 ประการ คือ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย สิทธิที่จะเลือก และสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาความเสียหาย นอกจากนี้ยังได้พูดถึงผู้บริโภคที่หมายถึงพวกเราทุกคน ผู้บริโภคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในระบบเศรษฐกิจที่ทั้งส่งผลบวกและได้รับผลกระทบจากเกือบทุกการตัดสินใจของภาครัฐและเอกชน แม้ว่า 2 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจมาจากผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคก็เป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีการจัดตั้งตัวแทน ดังนั้นความเห็นของพวกเขาจึงไม่ถูกรับฟัง

          สิทธิผู้บริโภค ได้ถูกรณรงค์และเคลื่อนไหวครั้งแรกในปี พ.ศ. 2525 โดยสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumer International, CI) การรณรงค์ในการสร้างความตื่นตัวของผู้บริโภค ส่งผลต่อการพัฒนาสิทธิผู้บริโภคสำคัญไว้ 8 ประการ รวมทั้งประสบความสำเร็จในการผลักดันให้สหประชาชาติ กำหนดแนวทางในการคุ้มครองผู้บริโภคและได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติในปีพ.ศ. 2528

          การเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง นำมาสู่การปรับปรุงแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ ในปี พ.ศ. 2558 และเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก  (สามารถเข้าถึงได้ข้อมูล คู่มือแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติ)

          สหพันธ์ผู้บริโภคสากล ทำงานรณรงค์ร่วมกับสมาชิกทั่วโลก เพื่อเป็นเพียงปากเสียงเดียวที่เป็นอิสระ และสะท้อนถึงถึงอำนาจเพื่อผู้บริโภคในระดับโลก “เรากำลังสร้างการเคลื่อนไหวของผู้บริโภคระหว่างประเทศให้มีพลังเพื่อช่วยปกป้องและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภคทั่วทุกหนทุกแห่ง” ปัจจุบันมีสมาชิกมากกว่า 200 องค์กรจาก 115 ประเทศทั่วโลก ในประเทศไทย มีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เป็นสมาชิกสามัญ 

          ในขณะที่ผู้บริโภคไทยยังเผชิญกับปัญหาผู้บริโภคที่ซับซ้อนทั้งปัญหาพื้นฐานเรื่องความปลอดภัย ปัญหาการเข้าถึงบริการที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต อากาศที่สะอาด ทางเลือกในการบริโภคมีจำกัด ปัญหาการผูกขาด ปัญหามีความรุนแรงและกว้างขวางรวดเร็วขึ้น ตามสภาพการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ สังคม สื่อออนไลน์และเทคโนโลยีในปัจจุบัน การกระตุ้นให้มีการบริโภคเกินความจำเป็นอย่างไร้ขีดจำกัด ผู้บริโภคมีช่องทางในการใช้สิทธิเรียกร้องมากขึ้นเมื่อถูกละเมิดสิทธิ กระบวนการเยียวยาความเสียหายยังไม่มีประสิทธิภาพ ระบบและกลไกการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคโดยภาพรวมยังไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเท่าทันกับปัญหาที่เกิดขึ้น

 what is wcrd 002 what is wcrd 004

 

พิมพ์ อีเมล