ปตท.อมท่อก๊าซ3.2หมื่นล.ยังคืนไม่ครบตามคำสั่งศาล

 เปิดผลสอบ สตง. ระบุชัด ปตท.ยังส่งคืนสมบัติแผ่นดินให้กระทรวงคลังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ชี้อมท่อก๊าซฯบนบกและในทะเลมูลค่ารวม 32,613 ล้านบาท เผยแจ้งเลขาธิการศาลปกครอง- "ครม.อภิสิทธิ์" รวมถึง "ประเสิรฐ บุญสัมพันธ์" ตั้งแต่ปลายเดือนธ.ค.ปีที่แล้วแต่ทุกฝ่ายกลับอุบเรื่องเงียบ มูลนิธิผู้บริโภคกระทุ้งรมว.คลัง ติดตามทวงคืนด่วน

รายงานข่าวจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แจ้งว่า หลังจากสตง.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี ให้เข้ามาตรวจสอบรับรองความถูกต้องมูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกให้กระทรวงคลังตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ทางสตง. ได้สรุปผลการตรวจสอบพร้อมกับทำหนังสือ ประทับตรา ลับ ลงนามโดยคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการ สตง. ส่งไปยังทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คือ

คณะรัฐมนตรีผ่านทางเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการศาลปกครอง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งปัจจุบันคือนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ และประธานกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันคือ นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน) โดยหนังสือดังกล่าวส่งไปตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2551

ตามหนังสือ ที่ สตง. ส่งไปยังเลขาธิการศาลปกครอง ระบุว่า สตง.ได้ตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของ ปตท. ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 ที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด พร้อมรายละเอียดเสร็จแล้ว โดยสตง.เห็นว่า มูลค่าทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง ยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่บริษัทได้แบ่งแยกและส่งมองทรัพย์สินให้กระทรวงการคลังตามหลักการแบ่งแยกตามที่คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 แล้ว

สำหรับหนังสือที่ สตง. แจ้งผลการตรวจสอบทรัพย์สินไปยัง ปตท.นั้น สตง.ได้ระบุ ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการตามข้อเสนอแนะในข้อสังเกตประกอบการตรวจสอบมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลฯ และ สตง. ขอให้ ปตท. แจ้งผลการดำเนินการตามข้อเสนอแนะกลับมายัง สตง. ด้วย ซึ่งจนถึงบัดนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 2 เดือนแล้ว แต่ไม่ปรากฏความคืบหน้าว่า ปตท.ได้มีการดำเนินการใดๆ ตามที่ สตง. เสนอแนะ เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นๆ ที่รับทราบผลการตรวจสอบแล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการใดๆ ต่อเช่นกัน โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ในฐานะหน่วยงานที่ต้องดูแลรักษาทรัพย์สมบัติของแผ่นดิน

รายงานข่าวแจ้งว่า รายการทรัพย์สินที่ ปตท. ยังส่งมอบคืนไม่ครบถ้วน ตามรายงานตรวจสอบของ สตง. คือ ส่วนที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกที่อยู่บนที่ดินเวนคืนและที่ดินรอนสิทธิจากเอกชนที่บริษัทแบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 15,050.69 ล้านบาท ซึ่ง สตง. ได้ตรวจสอบพบว่า ทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศ เฉพาะระบบท่อส่งก๊าซฯ มีมูลค่าทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 จำนวน 47,664.14 ล้านบาท

ในจำนวนนี้เป็นระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่ปรากฏชื่อโครงการในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด จำนวน 36,642.76 ล้านบาท ซึ่งบริษัทได้แบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง จำนวน 14,808.62 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 21,834.14 ล้านบาท

และส่วนที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซฯ ที่ไม่ปรากฏชื่อโครงการในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่น่าเชื่อว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกจำนวน 11,021.38 ล้านบาท ซึ่งบริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลัง จำนวน 242.07 ล้านบาท คงเหลือส่วนที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวน 10,779.31 ล้านบาท รวมระบบท่อก๊าซฯที่บริษัทยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง จำนวนทั้งสิ้น 32,613.45 ล้านบาท ประกอบด้วย ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก จำนวน 14,393.16 ล้านบาท และในทะเล จำนวน 18,220.29 ล้านบาท

"เนื่องจากผลการตรวจสอบเรื่องระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่บริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังข้างต้นมีสาระสำคัญอย่างมาก ดังนั้นสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เห็นว่ามูลค่าทรัพย์สินตามที่บริษัทแบ่งแยกและส่งมอบให้กระทรวงการคลังดังกล่าวยังไม่ครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ... " รายงานผลสอบของ สตง. ระบุ

ทั้งนี้ ตามบันทึกการแบ่งแยกทรัพย์สินและการส่งมอบทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 24 เม.ย. 2551 ผู้ลงนามในบันทึก คือ นายอำนวน ปรีมนวงศ์ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ และนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมด้วยนายนิพิฐ อริยวงศ์ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ราชพัสดุ 9 ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมธนารักษ์ และนายสุพจน์ เหล่าสุอาภา ผู้จัดการสำนักกฎหมาย บมจ.ปตท. เป็นพยาน นั้น มีรายละเอียดการตกลงส่งมอบและกรมธนารักษ์ ตกลงรับมอบทรัพย์สิน ดังนี้

1) ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้ใช้เงินทุนจากรัฐ และใช้อำนาจมหาชนเวนคืนที่ดิน เนื้อที่รวม 32 ไร่ 0 งาน 74.1 ตร.ว. จำนวน 106 แปลง ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 1 ล้านบาท

2)สิทธิการใช้ที่ดินเหนือที่ดินเอกชนเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ซึ่งการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนของรัฐเหนือที่ดินเอกชน อันเป็นการกระทำในฐานะที่เป็นองค์กรของรัฐบังคับแก่ทรัพย์สินของเอกชน และจ่ายค่าทดแทนโดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐ ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 1,137 ล้านบาท

3)ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งรวมอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่อยู่ในที่ดินตามข้อแรกและข้อสอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 14,808 ล้านบาท

และ 4) ทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อจำนวนก๊าซธรรมชาติ (โครงการท่อย่อย) ที่อยู่ในที่ดินตามข้อสอง ซึ่งมีมูลค่าสุทธิทางบัญชี ณ วันที่ 30 ก.ย. 2544 รวมประมาณ 229 ล้านบาท

รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ปตท.แบ่งแยกคืนกระทรวงคลัง รวม 16,176.19 ล้านบาท เท่านั้น


อนึ่ง สตง.ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2550 ให้เข้ามาเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองมูลค่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังดังกล่าวว่าเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ตามคดีหมายเลขดำที่ ฟ.47/2549 และคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.35/2550 เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2550 หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบของสตง.ใช้วิธีการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี รวมทั้งใช้วิธีทดสองหลักฐานประกอบรายการ ทั้งที่เป็นจำนวนเงินและการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมซึ่งผู้บริหารของบริษัท ปตท. เป็นผู้จัดทำขึ้น

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค ในฐานะผู้ฟ้องคดี เปิดเผยว่า มูลนิธิฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองสูงสุดไต่สวนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่บริษัท ปตท. ต้องคืนกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 52 ที่ผ่านมา แต่ศาลปกครองสูงสุด ได้ยกคำร้องด้วยเหตุผลว่าไม่ใช่ผู้เสียหาย ซึ่งกรณีนี้ทางกระทรวงการคลัง ต้องทำหน้าที่ของตนเองในการติดตามทรัพย์สินจาก ปตท.คืนมาให้ครบถ้วนตามคำสั่งศาล ตามผลการตรวจสอบของ สตง.
โดย ASTVผู้จัดการรายวัน 11 มีนาคม 2552 01:03 น.

 

พิมพ์ อีเมล

แผนผลิตไฟฟ้าพีดีพีผ่านฉลุย

ผ่านแผนผลิตไฟฟ้าพีดีพี 2009 หั่นงบลงทุน ร่นเวลาตามคาด เลี่ยงประชาพิจารณ์

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบกับแผนผลิตกำลังไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 หรือแผนพีดีพี 2009 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ให้ดำเนินตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 โดยไม่ต้องทำประชาพิจารณ์รอบ 2

การปรับแผนครั้งนี้ จะทำให้ภาพรวมกำลังผลิตไฟฟ้าลดลง ทำให้การลงทุนลดลงเช่นกัน จากเดิม 2.1 ล้านล้านบาท เหลือ 1.6 ล้านล้านบาท

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล

สำหรับแผนระยะยาวปี 2559-2564 ให้พิจารณาทบทวนการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศในครั้งต่อไป เมื่อประมาณการเศรษฐกิจรอบใหม่แล้วเสร็จ

ด้านนายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานจะร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่ง ชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจใหม่ โดยจ้างบริษัทที่ปรึกษามาประเมินใช้เวลา 8 เดือน ควบคู่กับการทำประชาพิจารณ์ คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวตั้งแต่ 0 ถึงติดลบ 1%

สาระสำคัญของแผนพีดีพี 2009 ปรับปรุงครั้งที่ 2 ได้กำหนดการรับชื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เฉพาะประเภท Firm ให้เร็วขึ้นในปี 2557

ปรับลดการชื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน และชื้อไฟฟ้าจากผู้ประกอบการภายในประเทศแทน ปรับเลื่อนการรับชื้อไฟฟ้า โรงไฟฟ้าของเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ผ่านคัดเลือกแล้วออกไปอีก 1 ปี

กำหนดให้รับชื้อไฟฟ้าจากโรงงานไฟฟ้าใหม่ที่ อ.ขนอม ในปี 2559 ปรับเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ดำเนินการของกฟผ. และปรับลดกำลังผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563-2564 ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมปีละ 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

ทั้งนี้ วาระพลังงานหมุนเวียนที่เกี่ยวกับระเบียบการรับชื้อไฟฟ้า จากผู้ผลิตรายเล็ก และผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) ได้ปรับ ในส่วนกำหนดระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า และปริมาณไฟฟ้าที่รับชื้อ จากเอกชน รวมถึงอัตราส่วนเพิ่มราคารับชื้อไฟฟ้าในบางประเภท เชื้อเพลิง

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับชื้อไฟฟ้าให้ปรับส่วนเพิ่มสำหรับเชื้อ เพลิงบางประเภท ได้แก่ ชีวมวลที่กำลังผลิตติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 30 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ต่อหน่วย

ก๊าชชีวภาพน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ก็ปรับขึ้นในอัตราเดียวกัน ขยะปรับขึ้นจาก 2.50 บาท เป็น 3.50 บาทต่อหน่วย พลังงานลมน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาทต่อหน่วย และพลังน้ำ 50-200 เมกะวัตต์ ขึ้นจาก 40 สตางค์ เป็น 80 สตางค์ต่อหน่วย

พลังน้ำขนาดเล็กน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 80 สตางค์ เป็น 1.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ 80 สตางค์ต่อหน่วย ตามเดิม

นอกจากนั้น ยังให้ส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาท สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนน้ำมันดีเซล ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มี่การใช้ไฟฟ้า จากดีเซลของกฟภ. ยกเว้นพลังงานลมที่ให้เพิ่มขึ้นอีก 1.50 บาท ต่อหน่วย

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 10-3-52

พิมพ์ อีเมล

กพช.เห็นชอบปรับขึ้นราคารับซื้อไฟฟ้า

นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีวาการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ หรือ กพช.ได้เห็นชอบให้ปรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า สำหรับเชื้อเพลิงบางประเภท อาทิ พลังงานจากชีวมวลและก๊าซชีวมวลที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 30 สตางค์ เป็น 50 สตางค์ ขยะจาก 2.50 บาท เป็น3.50 บาท พลังงานลม ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 เมกกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาทพลังงานน้ำขนาดเล็ก ที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ แต่ไม่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก40 สตางค์ เป็น 80 สตางค์ ส่วนที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ให้ปรับขึ้นจาก 80 สตางค์ เป็น 1.50 บาทและพลังงานแสงอาทิตย์ ยังให้คงส่วนเพิ่มอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่อัตราเดิม 80 สตางค์ต่อหน่วย
       

นอกจากนี้ ยังมีการให้เพิ่มส่วนพิเศษอีก 1 บาท สำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้า จากดีเซล ของ กพพ. ยกเว้น พลังงานลม ที่ให้เพิ่มอีก 1.50 บาท ทั้งนี้ การให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จะมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้น พลังงานลมและแสงอาทิตย์ ที่มีการกำหนดระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ
 

- ผู้จัดการออนไลน์   9-3-52

พิมพ์ อีเมล

กพช.คลอดแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15 ปี ส่งผลค่าไฟฟ้าขยับขึ้น 8.3 สต.

ทำเนียบฯ 9 มี.ค. –คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบแผนผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 15 ปีโดยหลายโครงการเพิ่มเงินรับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (ADDER) ทำให้ค่าไฟฟ้าขยับขึ้น 8.33 สต./หน่วย ส่วนแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) 15 ปี เตรียมทำใหม่ โดยรอผลศึกษาจีดีพี 8 เดือนข้างหน้า เบื้องต้นลดลงทุนใหม่ 481,000 ล้านบาท

ภายหลังการประชุม กพช. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน แถลงว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2551-2564 หรือ แผนพีดีพี 2007 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2) นั้น โดยให้ดำเนินการตามแผนเฉพาะในปี 2552-2558 เพื่อให้ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2559-2564 ให้นำไปพิจารณาทบทวนในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศในครั้งต่อไป เมื่อประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งในขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่าจ้างสถาบันวิชาการศึกษา คาดว่าภายใน 8 เดือนจะแล้วเสร็จ

“ในระหว่างรอการปรับปรุงแผน ได้สั่งให้ กฟผ.ทำแผนรองรับโดยดูตั้งแต่จีดีพี ขยายตัวร้อยละ 1 ไปจนถึงหดตัวร้อยละ 1 เพื่อเตรียมแผนการผลิตรองรับ เพราะหากสำรองไฟฟ้าสูงเกินไปก็จะกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงเกินควรด้วย” รมว.พลังงาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม สาระสำคัญของแผนพีดีพี 2007 ครั้งที่ 2 สาระสำคัญ เช่น ปรับปรุงกำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) เฉพาะประเภท Firm ให้เร็วขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน 2 ปี ปรับเลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าจาก IPP 2 โครงการออกไปอีก 1 ปี ปรับเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้า ของ กฟผ. ปรับลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในปี 2563-2564 ให้เหลือปีละ 1,000 เมกะวัตต์ จากเดิมปีละ 2,000 เมกะวัตต์ เป็นต้น

โดยภาพรวมกำลังการผลิตไฟฟ้า ณ สิ้นปี 2564 คิดเป็น 51,792 เมกะวัตต์ ซึ่งลดลงจากแผน PDP 2007 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 จำนวน 6,408 เมกะวัตต์ ลดเม็ดเงินลงทุน 481,000 ล้านบาท จาก 2.107 ล้านล้านบาท เหลือ 1.626 ล้านล้านบาท โดยกำลังผลิตดังกล่าวแบ่งออกเป็น ผลิตโดย กฟผ. 11,769 เมกะวัตต์ ไอพีพี 6,000 เมกะวัตต์ เอสพีพี 1,985 เมกะวัตต์ วีเอสพีพี เพิ่มขึ้นจากเดิมไม่ได้กำหนดจำนวนเป็น 564 เมกะวัตต์ การรับซื้อไฟฟ้าจากเพื่อนบ้าน 5,037 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ ตามแผนดังกล่าว กฟผ.จะมีการปลดระวางโรงไฟฟ้าเก่า 7,502 เมกะวัตต์ ส่วนที่จะสร้างขึ้นทดแทนในอนาคต 4,800 เมกะวัตต์นั้น ตามแผนยังไม่กำหนดว่าจะให้ กฟผ.ก่อสร้างหรือใช้วิธีการประมูลไอพีพี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงาน โดยให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่มีข้อจำกัดระยะเวลา และปริมาณไฟฟ้าที่รับซื้อต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และปรับปรุงอัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า คาดว่าสิ้นสุดแผนแล้วจะมีพลังงานทดแทนรวม 5,604 เมกะวัตต์ แต่จากที่ต้นทุนผลิตราคาแพงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล ทำให้มีภาระจ่ายค่า ADDER ประมาณ 20,000 ล้านบาท/ปี และส่งผลค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 8.3 สต./หน่วย

สำหรับการปรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าสำหรับเชื้อเพลิงบางประเภท ได้แก่ ชีวมวลและก๊าซชีวภาพ ที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 1 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.30 บาท เป็น 0.50 บาท ขยะประเภทพลังงานความร้อน ที่เป็นขยะชุมชน หรือขยะอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่ขยะอันตราย และไม่เป็นขยะที่เป็นอินทรีย์วัตถุ ปรับขึ้นจาก 2.50 บาท เป็น 3.50 บาท พลังงานลมที่มีกำลังการผลิตติดตั้งน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 3.50 บาท เป็น 4.50 บาท และพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 50 เมกะวัตต์ แต่น้อยกว่า 200 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.40 บาท เป็น 0.80 บาท ส่วนพลังน้ำขนาดเล็กที่มีกำลังการผลิตน้อยกว่า 50 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจาก 0.80 บาท เป็น 1.50 บาท ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ยังคงให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราเดิม คือ 8.00 บาทต่อหน่วย

นอกจากนั้น ยังมีการให้ส่วนเพิ่มพิเศษอีก 1 บาทสำหรับพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีการใช้ไฟฟ้าจากดีเซลของ กฟภ. ยกเว้นพลังงานลมที่ให้เพิ่มอีก 1.50 บาท ทั้งนี้ การให้อัตราส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จะมีกำหนดระยะเวลา 7 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ยกเว้นพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำหนดระยะเวลาสนับสนุน 10 ปี นับจากวันที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ.

 

-สำนักข่าวไทย 9-3-52

พิมพ์ อีเมล

ผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติกกพ. ดันกำไรรับใช้ปตท. ชาวบ้านตายช่างหัวมัน

เครือข่ายผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับ ปตท. เหตุคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ทำหน้าที่เป็นตรายางให้ปตท. ขูดรีดผู้บริโภค

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน