มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ กสทช. ต้องเปิดข้อมูล TRUE – DTAC

กราฟิกควบรวม 14june2022

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  จี้  กสทช. ต้องเปิดข้อมูล TRUE – DTAC  ควบรวมกิจการอย่างโปร่งใส ชี้ หากเปิดทางสะดวกให้เอกชน ต้องกล้ารับผิดชอบหากส่งผลกระทบด้านราคาที่สร้างภาระให้ผู้บริโภค อย่างไร้ทางเลือก

              “ต้องฟังเสียงผู้บริโภคที่เป็นคนจ่ายเงิน , กสทช. และ ผู้ประกอบการ ต้องกล้าการันตี ราคาและการให้บริการที่เป็นธรรมต้อง เปิดข้อมูลสาธารณะ ทั้ง เอกสารที่เป็นเกณฑ์พิจารณาควบรวมและ คณะกรรมการ หากเป็นตัวการทำให้ประชาชนไม่มีทางเลือก ต้องรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้น !!!

            นี่ ... เป็นเสียงเรียกร้อง จาก  “ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค “ ซึ่งเป็นตัวแทนปกป้องผลประโยชน์ของภาคประชาชน ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากดีลควบรวมกิจการ TRUE - DTAC เพราะจนถึงบัดนี้ ยังไม่เห็น กสทช.ทำกระบวนการสอบถามความคิดเห็นประชาชนให้เป็นรูปธรรมถึงแม้ กสทช. จัดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นถึง3ครั้ง จาก ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม , ผู้บริโภค , สุดท้าย คือ นักวิชาการ ,แต่..เป็นแค่วงจำกัดโดยฝ่ายหนุนข้างผู้ประกอบการ มักกล่าวถึงแต่ผลประโยชน์ฝ่ายตัวแต่ไม่เคยหันมามองผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค ที่อาจต้องแบกภาระค่าบริการที่แพงขึ้น แถม รูปแบบบริการมีแนวโน้มแย่ลง เพราะตลาดไร้คู่แข่ง

           **** กล้าการันตี ไหมว่า การควบรวม จะทำให้ ผู้บริโภค ได้รับบริการในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ในเมื่อฝ่ายผู้ประกอบการมักอ้างข้อดีช่วยลดต้นทุน เช่น ถ้าค่าบริการปัจจุบัน อยู่ที่ 100 บาท จะเหลือแค่ 20   บาท

         นาง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   ได้ชี้ให้เห็นประเด็น “ ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ซึ่งชัดเจนอย่างมาก” เพราะ กสทช. จัดเวที 3 ครั้ง แค่เปิดรับฟังความคิดเห็น แต่ไม่เคยให้ประชาชนที่เป็นคนจ่ายเงิน ได้เข้ามามีส่วนร่วมแม้แต่ครั้งเดียว พร้อมท้า ให้ กสทช. ต้องกล้าการันตี การควบรวม ระหว่าง TRUE – DTAC จะทำให้ ราคาค่าบริการถูกลงกว่าเดิม ในเมื่อฝ่ายผู้ประกอบการ มักอ้างถึงข้อดีของการควบรวม ที่ช่วยลดต้นทุน กสทช. บอกเสมอว่า แม้มีการควบคุมราคาค่าบริการอยู่แล้ว แต่ราคาค่าบริการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ หรือ ค่าอินเตอร์เน็ต ของ TRUE – DTAC – AIS ยังต่ำกว่าเพดานที่ 20% จากปมเหตุนี้ เป็นสิ่งที่ มูลนิธิผู้บริโภค เป็นห่วง เพราะ ... “ ไม่เคยแม้แต่ครั้งเดียว ที่ กสทช. ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม จะออกมาเปิดเผยข้อมูลของผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค “

          “จะรับผิดชอบอย่างไร เมื่อเกิดปัญหาหากอ้างว่า กสทช. ใช้อำนาจหน้าที่ของบอร์ด , ดังนั้น“ แผนควบรวม ต้องมีกรณีศึกษา , ต้องมีคณะกรรมการที่กำหนดคุณสมบัติอย่างชัดเจน , แต่ บอร์ด กสทช. ไม่มีทุกอย่างตามที่กล่าวมา จนกลายเป็นช่องว่างของกฎหมาย”

          อีกประเด็นสำคัญ “ผู้ประกอบการโทรคมนาคม ในตลาดต้องมีมากกว่า 2 เจ้า ไม่ใช่ มี แค่ 1 หรือ 2 “ อย่ามาอ้างว่า บางประเทศ มีผู้ประกอบการรายเดียว ไม่เห็นจะเกิดปัญหา “ มีข้อมูลกรณีศึกษาไหมที่ว่า ...รายเดียวก็อยู่ได้ ในเมื่อไม่เกิดกระบวนการแข่งขัน ประชาชนไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องใช้บริการมันถึงอยู่ได้” “ต่อไป ศักยภาพของ AIS   อาจไม่ดีเท่าเดิม ส่วน TRUE ควบ DTAC แม้ในเชิงธุรกิจแข็งแกร่ง แต่คุณภาพให้บริการอาจลดลง ซึ่งสวนทางกับค่าบริการที่แพงขึ้น ใคร,,,จะตอบโจทย์นาง นฤมล ชี้ปม ข้างต้น พร้อมบอกว่า อย่ามาพูดลอยๆเพียงเพื่อให้เห็นแต่ข้อดี แต่ ปกปิดข้อเสีย  ถามว่า ความพึงพอใจของประชาชน หรือ ข้อร้องเรียนจากผู้บริโภค จากที่ตลาดโทรคมนาคม มีรายเดียว เคยเอามาพูดกันไหม ประชาชน ร้องเรียนเรื่องค่ายโทรศัพท์เป็นอย่างไร

          ดังนั้น “ก่อนลงมติใดๆ กับ แผนควบรวมกิจการ TRUE – DTAC กสทช. ในฐานะหน่วยงานของรัฐ มีอำนาจหน้าที่เต็มมือ ต้องตอบโจทย์ให้ชัดเจน ,ต้องนำกรณีศึกษาออกมาตีแผ่อย่างโปร่งใส , ใช้ดุลพินิจและหลักเกณฑ์ใด , เพราะหากทำให้ ประชาชน ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก การลงมติ ครั้งนี้ , กสทช. ต้องมีคำตอบ จะรับผิดชอบอย่างไร ??

พิมพ์ อีเมล

จับตา มหากาพย์ 2 ค่ายยักษ์โทรคมนาคม TRUE + DTAC กระทบผู้บริโภครับกรรม

กราฟิกมหากาพย์

จับตา มหากาพย์ 2 ค่ายยักษ์โทรคมนาคม TRUE – DTAC กระทบผู้บริโภครับกรรม  ตลาดเหลือผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้า อาจเกิดการฮั้ว องค์กรผู้บริโภค เรียกร้อง  กสทช. ทำหน้าที่เพื่อผู้บริโภค  จับตา  สุดท้าย ไม่ว่าผลจะออกมาทางไหน เรื่องต้องไปถึง ศาลปกครอง แน่นอน

ฉับพลันที่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ทรู ( TRUE ) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชัน จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ( DTAC )   ประกาศ ควบรวมกิจการ อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 จากนั้น วันที่ 4 เมษายน 2665 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัททรูและดีแทค ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการ การควบรวมกิจการ ยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ กสทช.โดยได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 จากเหตุนี้เอง ก่อให้เกิดกระแสต่อต้าน เป็นแรงกระเพื่อมอย่างหนักจากหลายฝ่าย ทั้งภาคองค์กรผู้บริโภค และการเมือง นั่นก็เพราะว่า มันได้ก่อให้เกิดการกระจุกตัวของตลาดสูงขึ้นมาก จากเดิมที่ประเทศไทย มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3 รายใหญ่ ได้แก่   AIS / TRUE / DTAC

การควบรวม TRUE – DTAC มีนักวิชาการ กลุ่มผู้บริโภค และสื่อต่าง ๆ ให้ข้อคิดเห็นเรื่องผลกระทบต่อราคาค่าบริการและคุณภาพของบริการ ประเด็นหลัก คือ ผลเสียต่อผู้บริโภคและธุรกิจที่ใช้บริการโทรคมนาคมและดิจิทัล ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างตลาด เนื่องจาก จำนวนผู้ให้บริการจะลดจาก 3 รายเหลือ 2 ราย ทำให้ตลาดมีการกระจุกตัวเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล โดย เอไอเอส   มีส่วนแบ่งทางการตลาด อยู่ที่ 47%   ส่วนทรู อยู่ที่ 33% และดีแทค อยู่ที่ 20 เมื่อทรู กับ ดีแทคควบรวมกิจการ ในนามบริษัทใหม่จะมีส่วนแบ่งตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยถึง ร้อยละ 53 ซึ่งมีสัดส่วนในตลาดเกิน 52% ตามที่ กสทช. กำหนด ทำให้กลายเป็นผู้ที่มีอำนาจเหนือตลาดที่สามารถบีบบริษัทคู่แข่ง คือ เอไอเอส ในการแข่งขันได้ ซึ่งในตลาดการค้าเสรีที่ประเทศไทยยึดตามระบบนี้อยู่การมีอำนาจเหนือตลาดเป็นเรื่องที่ผิด พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ซี่งมีคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าดูแลให้การค้าในประเทศเป็นไปตามระบบตลาดเสรี ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การควบรวม ทรู - ดีแทค จะทำให้ดัชนีการกระจุกตัว (Herfindhal-Hirschman Index   หรือ HHI สูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน คือ 2,500 โดยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันกว่า 3,500 ไปอยู่ที่เกือบ 5,000 หรือ ประมาณ 4,700-4,800 ซึ่งเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด   จากเดิมตลาดที่มีผู้ประกอบการ3เจ้า ที่มีดัชนี HHI เกินเกณฑ์ 2,500 ถือเป็นตลาดที่อันตรายอยู่แล้ว

แต่ในกรณีของ TRUE – DTAC กลับเพิ่มขึ้นพรวดเดียวไปอยู่ที่ระดับ1,200-1,300 ถือเป็นเรื่องที่น่าตื่นตกใจ

ชี้วัดให้เห็นความรุนแรงในการแข่งขัน อันเป็นการกระจุกตัวที่เข้มข้นส่งผลด้านลบต่อการแข่งขัน ซึ่งถือเป็นการครอบงำตลาด ผู้บริโภคมีตัวเลือกที่น้อยลง และอาจก่อให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัล และอาจเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมโดยเฉพาะการแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึก รวมทั้ง ยังอาจส่งผลต่อราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องจ่ายด้วย กสทช. บอกเสมอว่า แม้มีการควบคุมราคาค่าบริการอยู่แล้ว แต่ราคาค่าบริการในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นค่าโทรศัพท์ หรือ ค่าอินเตอร์เน็ต ของ ทรู / ดีแทค /เอไอเอส ยังต่ำกว่าเพดานประมาณ 20% ฉะนั้น หากจะมีการปรับขึ้นราคา 10-20% ก็สามารถ ทำได้ เพราะ ยังไม่ชนเพดาน

ดังนั้น การควบรวมกิจการของทรู – ดีแทค จึงทำให้ ตลาดโทรคมนาคม   เหลือผู้ให้บริการ 2 ราย คือ เอไอเอส และ ทรู ราคาค่าบริการจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ยิ่งไปซ้ำเติมปัญหาค่าครองชีพของประชาชน ขณะที่ลูกค้าที่เป็นบริษัทก็ได้รับผลกระทบตามไปด้วย กลายเป็นต้นทุนของผู้ประกอบการเช่นกัน แต่ถ้าหากทั้ง 2 รายไม่มีการแข่งขันกันเพราะพอใจกับส่วนแบ่งทางการตลาดที่รายละประมาณ 50% จะสามารถขึ้นราคาไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฮั้วกัน แบบที่เป็น ลายลักษณ์อักษร หรือ แบบเป็นทางการ หรือ แบบไม่เป็นทางการ ซึ่งมีโอกาสที่ราคาค่าบริการจะเพิ่มสูงขึ้นเป็นเท่าตัวได้ ถึงแม้ ช่วงต้นเดือนเมษายน ที่ผ่านมา ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรศัทพ์เคลื่อนที่ในนาม AIS ได้ทำหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้แจงผลกระทบและผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC   ทำให้หลายฝ่าย ตั้งความหวังว่า จะช่วยให้ดีลควบรวมกิจการไม่มีทางเกิด แต่เมื่อมีการตรวจสอบข้อมูล กลับพบว่า เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารเดิมที่ยื่นไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 โดยการไม่เห็นด้วยกับดีลควบรวมกิจการในครั้งนี้ เป็นแค่การทำหน้าที่ผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholder) ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ไม่ได้มีเจตนาคัดค้าน และ อยากให้ กสทช.ตรวจสอบทางกฎหมายให้รอบครอบ เท่านั้น ยิ่งทำให้ข้อสังเกตข้างต้น ส่อเค้าเป็นไปได้

นายแพทย์ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา อดีต กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สะท้อนถึงบทบาทหน้าที่ของ กสทช. ต่อดีลธุรกิจการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทค รวมถึงผลกระทบต่อผู้บริโภค ในวงเสวนาควบรวม ทรู-ดีแทค ผู้บริโภครับกรรม ว่า อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่า กสทช. ต้องวางหลักเกณฑ์ อย่างน้อยส่วนของการป้องกันการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือแม้แต่การถือครองธุรกิจประเภทเดียวกัน ก่อนการแจ้งความประสงค์ที่จะรวมธุรกิจโดยการควบรวมกิจการ เพื่อให้ผู้ประกอบการเอกชนทำตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้

ในเมื่อกระแสคัดค้านดีลควบกิจการ TRUE - DTAC รุนแรง บอร์ด กสทช.ชุดใหม่ ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเมื่อวันที่ 14 เมษายน ที่ผ่านมา จึงเดินหน้าทำงานทันที โดย จัดรับฟังรับฟัง “ความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัดหรือ โฟกัส กรุ๊ป “   รวม 3 ครั้ง

  • ครั้งแรก ภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565

-  ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม ที่ผ่านมา จัดโฟกัส กรุ๊ป ในรอบผู้บริโภค

-  ครั้งสุดท้าย กลุ่มนักวิชาการ วันที่ 7 มิถุนายน 2565

ประเด็นที่น่าสนใจจากฝ่ายคัดค้าน อยู่บนเวที โฟกัส กรุ๊ป ในรอบผู้บริโภค โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ชี้ประเด็นการควบรวม ทรู – ดีแทค ขัดต่อกฎหมาย 3 ฉบับ ทั้งกฎหมาย กสทช. กฎหมายการแข่งขันทางการค้า และกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แถมกระทบต่อผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง ราคาแพงขึ้นแน่นอน เพราะเหลือทรู กับเอไอเอส สุดท้ายก็อาจจะแบ่งตลาดกันเล่นไม่มีการแข่งขันกัน ไม่มีแรงจูงใจทำให้เกิดการแข่งขันกัน

ดังนั้น จึงเตรียมยื่นข้อเสนอต่อ กสทช. ตลาดหลักทรัพย์ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าให้พิจารณาการควบรวมกิจการ เพื่อป้องกันเกิดอำนาจเหนือตลาดและอาจต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะรัฐมนตรี หากหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรงไม่ทำหน้าที่ตรงนี้ จนผู้บริโภคถูกจำกัดทางเลือกดูตัวอย่างในต่างประเทศมี 3-4 ค่าย ขึ้นไปทั้งนั้น ไม่มีใครที่มี 3 ค่าย และ ทำให้เหลือ 2 ค่าย / ข้อเรียกร้อง นอกจาก ปิดทางการควบรวมทรู – ดีแทค กสทช. ต้องสนับสนุนให้มีเจ้าใหม่ในตลาดมากขึ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขัน หรือ อาจจะให้ผู้ให้บริการในกิจการโทรคมนาคม เปิดโอกาสให้ใช้คลื่นตัวเองในราคาพิเศษ เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น

ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านการสื่อสารฯ สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะอดีต กสทช. พูดชัดเจนว่า สุดท้ายเรื่องนี้ต้องจบลงที่ศาลปกครอง แน่นอน และกินเวลายาวนาน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะฟ้องใคร ฉะนั้น “กสทช. ต้องทำหน้าที่ของตัวเอง หวังว่าจะใช้ข้อมูลทั้งหมดตัดสินใจอย่างรอบคอบ ไม่ควรทำให้สังคมผิดหวัง เพราะสังคมลงทุนสร้าง กสทช. ให้มีอิสระมีงบประมาณมีสวัสดิการที่ดี

              ดังนั้น ดีลร้อน ทรู – ดีแทค ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะหลังจากจบโฟกัส กรุ๊ปทั้ง 3 รอบ สำนักงาน กสทช. จะทำการรวบรวมรายงานความคิดเห็นจากทุกฝ่ายบอร์ดตัดสินใจจะมีมติออกมาอย่างไร   มีรายงานจากผู้สื่อข่าวที่อ้างอิง แหล่งข่าวจากกสทช. ว่าภายในวันที่ 10 กรกฏาคมนี้ อาจได้เห็นความชัดเจนจาก บอร์ด กสทช.อย่างเป็นทางการจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ขอควบรวมสามารถดำเนินการร่วมธุรกิจกันได้หรือไม่ ซึ่งบอร์ดกสทช.ได้สั่งการให้สำนักงาน กสทช.เตรียมคำชี้แจงต่อศาลปกครอง ใน 2 ด้าน คือหากอนุญาตให้ควบรวมก็มีความเป็นได้ว่า จะถูกฟ้องจากฝ่ายที่คัดค้านการควบรวม   แต่หากมีมติออกมาว่าไม่อนุญาตให้ควบรวมก็แน่นอนว่าผู้ขอควบรวมคือทรู และ ดีแทคจะยื่นฟ้องต่อบอร์ด กสทช.และเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565   ลงคะแนน 3 ต่อ 2 สั่งให้สำนักงาน กสทช. เพิ่มข้อความ

“อำนาจตามประกาศ ปี 2549 หากพบเข้าข่ายผูกขาดตลาด สามารถสั่งไม่อนุญาตได้” ซึ่งถือเป็นการหักล้างบอร์ด กสทช.ชุดที่แล้ว ซึ่งอ้างว่า “ไม่มีอำนาจในการยับยั้งการควบรวมกิจการของสองบริษัทโทรคมนาคม” หลังจากนายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ ซูเปอร์บอร์ด ได้ยื่นฟ้อง กสทช.ต่อ ศาลปกครองกลางเมื่อ 5 พฤษภาคม ที่ผ่านมา และ ศาลปกครอง ได้นัดไต่สวนเพิ่มวันที่ 6 มิถุนายนนี้

ดีลควบรวมธุรกิจกว่า 2 แสนล้านบาท “TRUE-DTAC” ถือเป็นภารกิจร้อนที่ 5 อรหันต์ กสทช.ป้ายแดง ต้องตอบคำถามกับสังคม จะอยู่ข้างผู้บริโภค หรือ เปิดทางให้เกิดการครอบงำตลาดแบบผูกขาด ต้องติดตาม!!!! มหกาพย์นี้

ไทม์ไลน์ ทรู ดีแทค 2ไทม์ไลน์ ทรู ดีแทค 1

 

พิมพ์ อีเมล

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เร่งรัดให้ กสทช. ตรวจสอบและสั่งการกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เนื่องจากเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย

ภาพข่าวเร่งรัด กสทช. เนื่องจากเป็นหน้าที่ 01

กขค. ส่งจดหมายตอบกลับ มพบ. แจงไม่มีหน้าที่ตรวจสอบกรณีควบรวมทรู-ดีแทค เผยเป็นหน้าที่ กสทช. ตามกฎหมาย จึงเร่งรัดให้ กสทช. ตรวจสอบและใช้อำนาจสั่งการโดยเร็ว

          จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ส่งหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมค่ายมือถือดีแทคและทรู ไปถึงสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 เนื่องจากการควบรวมธุรกิจทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น และมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดตลาด มพบ.จึงขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมกิจการและแจ้งผลกลับมายังมูลนิธิฯ

          วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2565 สำนักงาน กขค. ส่งหนังสือตอบกลับถึงมูลนิธิฯ ที่ สขค. 0401/350 ว่า กขค. ไม่มีหน้าที่ตรวจสอบเรื่องการรวมธุรกิจโทรคมนาคม ตามพ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) ที่ระบุให้ไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแล สำนักงาน กขค. ได้ตรวจสอบ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศที่เกี่ยวข้อง พบว่าการรวมธุรกิจของทรูและดีแทค เป็นการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมี กสทช. เป็นผู้กำกับดูแลภายใต้กฎหมายเฉพาะคือ 1. พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 2. พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 3. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 และ 4. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557

          วันนี้ (27 เมษายน 2565) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า มพบ. ได้ตรวจสอบตามกฎหมายที่ กขค. อ้างอิง พบว่า กขค. ไม่มีอำนาจในการตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคจริง เพราะใน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 มาตรา 4 (4) ระบุเรื่องที่ไม่ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้ากับธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะดูแลอยู่ ดังนั้น กรณีการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมของทรูและดีแทค อยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. ตามกฎหมายดังที่กล่าวอ้างอิง ได้แก่

          1. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) (24) และมาตรา 81 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบกับมาตรา 21 และมาตรา 22 (3) (4) (5) แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

          ประกาศดังกล่าวได้กำหนดลักษณะและมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการครอบงำกิจการในตลาดโทรคมนาคม ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการแข่งขันและการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมอย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ

          2. ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2557 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 27 (11) และ (24) แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และมาตรา 21 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

          ประกาศดังกล่าวเป็นมาตรการกำกับดูแลล่วงหน้าเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญใช้อำนาจในการจำกัดหรือกีดกันการแข่งขันในตลาด สอดคล้องกับหลักการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมและมาตราการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมรวมทั้งสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน

          รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า การควบรวมกิจการโทรคมนาคมที่มีความเสี่ยงในการผูกขาดตลาด ทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกน้อยลง เป็นหน้าที่ที่รัฐต้องคอยกำกับดูแล ให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ ให้เข้าถึงบริการที่ครอบคลุม ทั่วถึง ทำให้เกิดกระบวนการที่มีการแข่งขัน สามารถเลือกผู้ประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากระบบอินเทอร์เน็ตเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นแล้ว มูลนิธิฯ ขอเร่งรัดให้ กสทช. ตอบหนังสือที่ มพบ. ส่งไปให้ เรื่อง ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการควบรวมค่ายมือถือดีแทคและทรู เนื่องจากส่งไปตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 64 แล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ รวมทั้งขอให้รีบดำเนินการตรวจสอบการควบรวมกิจการโทรคมนาคมโดยเร็ว และใช้อำนาจสั่งการในเรื่องนี้ตามกฎหมาย ด้านประชาชนก็ต้องจับตาดูว่า กสทช. จะพิจารณาเรื่องนี้ต่อไปอย่างไร

          ความคืบหน้าการควบรวมกิจการของทรูและดีแทคล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2665 ที่ประชุมผู้ถือหุ้นบริษัททรูและดีแทค ได้อนุมัติข้อเสนอควบรวมกิจการแล้ว การควบรวมกิจการยังอยู่ภายใต้การตรวจสอบและแจ้งเจ้าหนี้ ซึ่งก็คือ กสทช. ซึ่งได้รับแจ้งเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 (ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com/tech/997450) ส่วนด้าน กสทช. กำลังอยู่ในระหว่างการรวบรวมข้อคิดเห็น รวมถึงการจัดทำมาตรการเพิ่มเติมต่างๆ ไปยังคณะอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอบอร์ด กสทช. ให้พิจารณาต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จกลางเดือน พ.ค. นี้ เพื่อให้ทันกำหนดเวลาตามประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ที่ระบุว่า เลขาธิการ กสทช.ต้องรายงานต่อ กสทช. ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับความเห็นประกอบการรายงานการรวมธุรกิจจากที่ปรึกษาอิสระด้านต่างๆ ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 18 พ.ค.นี้ (ที่มา : https://www.prachachat.net/prachachat-hilight/news-908847) ในการนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณะประโยชน์ได้ ตามมาตรา 22 พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อีกทั้ง ในวันนี้ กสทช. ชุดใหม่ยังมีวาระการประชุม เรื่องการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคอีกด้วย ซึ่งต้องติดตามว่าจะมีทิศทางการดำเนินการอย่างไรต่อไป

พิมพ์ อีเมล

เนื้อหาอื่นๆ...

บทความใกล้เคียงกัน