บริการสุขภาพ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะควรตรวจสอบแล็บที่ผ่านการรับรอง กรณีใช้ผลตรวจ RT-PCR เคลมประกัน พร้อมเสนอคปภ.เคลมประกันโควิดออนไลน์ ลดความล่าช้า

FFC.ATK010964 1

ราชกิจจาฯ เผยแพร่คำสั่งประกันโควิด เจอจ่ายจบ ใช้เอกสารตรวจวิธี RT-PCR จากแล็บได้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแนะควรตรวจสอบแล็บที่ผ่านการรับรองจากกรมการแพทย์ พร้อมทั้งเสนอคปภ.เคลมประกันทางออนไลน์ แทนการส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ลดความล่าช้า

            เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่คำสั่งนายทะเบียน ที่ 45/2564 เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย โควิด-19 สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 46/2564 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ให้บริษัทประกันภัยใช้เอกสารการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจหาเชื้อได้จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR แทนใบรายงานหรือใบรับรองจากแพทย์ สำหรับการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 กรณีผู้เอาประกันภัยเจ็บป่วยหรือตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เป็นจำนวนเงินที่กำหนดไว้ (แบบเจอ-จ่าย-จบ) 

             นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตามที่ระบุในคำสั่งนายทะเบียน ผู้บริโภคต้องใช้เอกสารตรวจพบเชื้อโควิดโดยวิธี RT-PCR กับห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงจะสามารถเคลมประกันโควิดได้ ผู้บริโภคจึงต้องตรวจสอบว่าห้องปฏิบัติการที่จะไปตรวจ ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หรือไม่ ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีความกังวลว่าผู้บริโภคที่ตรวจพบเชื้อโควิดกับห้องปฏิบัติการที่ไม่ผ่านการรับรองจะไม่สามารถเคลมประกันได้ อาจจะฝากคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ช่วยพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

             คำสั่งนายทะเบียนฉบับนี้สร้างประโยชน์ให้กับคนที่ซื้อประกันโควิดที่ตรวจโดยวิธี RT-PCR จากห้องปฏิบัติการ เนื่องจากบางคนเข้าถึงสถานพยาบาลได้ยาก หรือมีอาการป่วยไม่มาก จึงพักรักษาตัวอยู่บ้าน ใช้เป็นลักษณะของ Home Isolation อีกทั้งบริษัทประกันบางแห่งต้องการให้มีใบรับรองหรือรายงานทางการแพทย์ว่าติดโควิดถึงจะเคลมประกันได้ แต่ถ้าห้องปฏิบัติที่ตรวจหรือโรงพยาบาลมีเอกสารการรับรองของโรงพยาบาล ถึงจะไม่ใช่ห้องปฏิบัติที่ผ่านการรับรอง ถ้ารับรองว่าเป็นผู้ป่วยและมีการพักพื้นอยู่ที่บ้าน ก็สามารถเคลมประกัน โดยใช้ใบรายงานหรือใบรับรองจากแพทย์ได้

             นอกจากคำสั่งนายทะเบียนฉบับนี้แล้ว คปภ.ก็ได้ออกคำสั่งบังคับให้จ่ายค่าสินไหมประกันโควิดภายใน 15 วัน หลังจากที่บริษัทประกันได้รับเอกสาร เพื่อแก้ปัญหาเคลมประกันโควิดล่าช้า ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็พบปัญหาเรื่องช่องทางการส่งเอกสารที่ติดขัดและล่าช้า ไม่รองรับกับสถานการณ์ เกิดภาระกับผู้บริโภคที่จะต้องเดินทางไปบริษัทเคลมประกัน เพราะคนส่วนมากทำงานที่บ้าน หรือถ้าต้องส่งเอกสารทางไปรษณีย์ ขนส่งหรือไปรษณีย์หลายแห่งก็ปิดทำการ ฉะนั้นเพื่อเร่งรัดให้มีการเคลมประกันรวดเร็วสอดคล้องกับคำสั่งนั้น

              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึงเสนอให้คปภ.พิจารณาเรื่องการเคลมประกันผ่านระบบช่องทางออนไลน์ หรือขอให้คปภ.มีนโยบายสั่งการให้กับผู้ประกอบการสามารถเคลมประกันออนไลน์ได้ โดยให้ผู้บริโภคเซ็นรับรองเรื่องยืนยันเอกสาร แล้วแสกนหรือถ่ายรูปส่งผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้บริษัทตรวจสอบไปที่โรงพยาบาลที่ต้นสังกัดว่าได้มาตรวจเชื้อโควิดหรือเข้ารับการรักษาหรือไม่ โดยใช้หลักฐานที่ผู้บริโภคส่งทางออนไลน์ไปดำเนินการ ในเมื่อบริษัทประกันให้ซื้อประกันทางออนไลน์ได้ โดยยืนยันตัวตนผ่านแค่ในช่องทางออนไลน์ ก็ควรต้องมีช่องทางการเคลมประกันที่เหมือนกับตอนซื้อประกันได้เช่นกัน

ลิงก์ ตรวจสอบข้อมูล LAP กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์   https://service.dmsc.moph.go.th/labscovid19/

ลิงก์ ประกาศราชกิจจานุเบกษา  คำสั่งนายทะเบียนที่ 45/2564 เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID -19 สำหรับบริษัทประกันชีวิต  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/201/T_0025.PDF

ลิงก์ ประกาศราชกิจจานุเบกษา คำสั่งนายทะเบียนที่ 46/2564  เรื่อง การใช้เอกสารประกอบการจ่ายผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัย COVID -19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย  http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/E/201/T_0027.PDF

พิมพ์ อีเมล

เตือนผู้บริโภคซื้อ “เครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว” ตรวจสอบข้อมูลจาก อย. ก่อน

ปก2

       สถานการณ์การติดเชื้อโควิด19 ปัจจุบันยังคงรุนแรงอยู่มาก การเตรียมพร้อมสำหรับผู้บริโภคที่ต้องมีอุปกรณ์สำหรับการตรวจสอบปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้วก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างหนึ่งที่ควรมีติดบ้านไว้

      สิ่งสำคัญจากการซื้อเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) คือ การตรวจสอบข้อมูลก่อนซื้อให้ชัดเจน ต้องซื้อผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาตผลิตและนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อป้องกันการซื้อสินค้าปลอม และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน

      จากข้อมูลเครื่องวัดปริมาณออกซิเจนในเลือดปลายนิ้ว (Fingertip Pulse Oximeter) ในเว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 6 สิงหาคม 2564 จำนวน 62 รายการ ตามรายละเอียด > คลิกที่นี่  

     เตือนผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าจากร้านขายยา หรือร้านจำหน่ายเครื่องมือทางการแพทย์ทั่วไป หรือร้านค้าออนไลน์ ให้ระมัดระวังสินค้าปลอม และสินค้าไม่ได้มาตรฐาน ทำให้เสียเงิน เสียเวลา และอาจเกิดผลกระทบกับสุขภาพได้ เมื่อนำมาใช้แล้วค่าออกซิเจนในเลือดผิดเพี้ยน

หากผู้บริโภคพบปัญหาเครื่องมือทางการแพทย์ปลอม หรือไม่ได้มาตรฐานติดต่อมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทรศัพท์ : 084-6524607,089-7889152 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.
หรือช่องทาง inbox เพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ ร้องเรียนออนไลน์เว็บไซต์ www.consumerthai.org หรือร้องเรียนโดยตรงที่สายด่วนอย. 1556 E-mail : www.fda.moph.go.th 

พิมพ์ อีเมล

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศนิยาม "ผ้าอนามัยแบบสอด" เป็นประเภท 'เครื่องสำอาง'

ffc.new22.7.64


วันนี้ (22 ก.ค.2564) เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกำหนดวัตถุอื่นเป็นเครื่องสำอาง ดังนี้
.
อาศัยอำนาจตามความใน (3) ของบทนิยามคำว่า "เครื่องสำอาง" ในมาตรา 4 และมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
.
ให้ผ้าอนามัยชนิดสอดที่ใช้สอดใส่เข้าไปในช่องคลอดเพื่อซับเลือดประจำเดือนเป็นเครื่องสำอาง
.
ลงชื่อโดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 29 มิ.ย.64
.
หมายเหตุ : เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ นิยามของคำว่า "เครื่องสำอาง" ในมาตราที่ 4 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติให้วัตถุอื่นที่กำหนดโดยกระทรวงเป็นเครื่องสำอาง และโดยที่มีความจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพและมาตรฐานของผ้าอนามัยชนิดสอดเพื่อให้สามารถคุ้มครองความปลอดภัยและอนามัยของผู้บริโภคได้ สมควรกำหนดให้ผ้าอนามัยชนิดสอดเป็นเครื่องสำอาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ที่มาข้อมูล : > : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2564/A/048/T_0016.PDF?fbclid=IwAR3SaGl1jEi15xSWTe2ZOgjc-XYt4AMn3Bbl6-Y6YPvo2ZSd4_Axe0rXFYk

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน