เตรียมตัดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าAdder ต้นทุนโรงไฟฟ้าลดหวั่นถูกสวมรอยขายต่อโครงการ

กระทรวงพลังงานเตรียมปรับลดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ลง เหตุต้นทุนต่ำลงมากแล้ว แถมปัจจุบันมีผู้ประกอบการแห่เสนอโครงการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์มากกว่าเป้าหมายถึง 600% จนไม่รู้ว่าใครของจริงใครของปลอม หวั่นออกใบอนุญาตให้แล้วเอาโครงการไปเร่ขายต่อ กระทบความมั่นคงในระบบไฟฟ้า หากไม่เดินหน้าโครงการจริงตามแผนที่วางเอาไว้



กระทรวงพลังงานกำลังมีนโยบายที่จะปรับลดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) จากเดิมที่กำหนดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าไว้ที่ 8 บาท/หน่วย คาดว่าจะปรับลดลงเหลือเพียง 6.50 บาท/หน่วย และอาจจะขยายเวลาการให้ส่วนเพิ่มราคาจากเดิมที่มีระยะเวลาอยู่ที่ 10 ปีให้เพิ่มเป็น 20 ปีหรือเทียบเท่ากับอายุโรงไฟฟ้า เนื่องจากอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์เริ่มขยายตัว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง

นายทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาความเหมาะสมในการปรับลดส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า (adder) ที่มีนายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยเฉพาะส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (solar cell) จากเดิมที่กำหนดอัตราส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้าไว้ที่ 8 บาท/หน่วย จะดำเนินการ "ปรับลดลง" เนื่องจากต้นทุนของการผลิตไฟฟ้าจากประเภทนี้ลดลงมาก ฉะนั้นควรจะปรับส่วนเพิ่มให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมมากกว่านี้

เหตุผล 2 ประการหลักที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องศึกษาความเหมาะสมของระดับส่วนเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานแสงอาทิตย์ก็คือ 1) เมื่อพิจารณาจากจำนวนการยื่นเสนอขายไฟฟ้าเข้าระบบของผู้ประกอบการที่มีมากกว่า 2,800 เมกะวัตต์ (MW) ในขณะที่แผนส่งเสริมพลังงานทดแทน 15 ปีจะรับซื้อไฟฟ้าเพียง 500 เมกะวัตต์นั้นหมายถึง มียื่นเสนอขายไฟฟ้ามากกว่าเป้าหมายถึงร้อยละ 600 เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่า การลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนค่อนข้างคุ้มค่าและต้นทุนการผลิตไม่สูงมาก

2) กระทรวงพลังงานต้องการสกัดผู้ประกอบการที่ไม่ได้มีความต้องการที่จะลงทุนอย่างจริงจัง แต่อาจจะเข้ามาเสนอโครงการ เมื่อได้รับการอนุมัติแล้วก็จะนำโครงการไปขายต่อมากกว่า ทั้งนี้เมื่อถึงเวลาที่ต้องขายไฟฟ้าเข้าระบบ แต่โครงการกลับมีปัญหา อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบได้ เพราะแม้ว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน แต่จะต้องมีสำรอง

"มีการเสนอโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากกว่าเป้าตั้ง 600% ตรงนี้เราค่อนข้างกังวลว่าจะมีนักลงทุนไม่จริงเข้ามาเป็นแบบไอ้โม่ง แล้วมาทำทีเสนอโครงการ และอาจจะนำโครงการไปเสนอขายต่อ เรากลัวมีปัญหา เช่น มีสัญญาซื้อไฟฟ้าว่าจะต้องเข้าระบบในปี 2556 แต่พอถึงเวลาเข้าจริง ๆ ทำไม่ได้ หรือต้องเลื่อนออกไป อย่างนี้เป็นต้น"

นายทวารัฐกล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการในการปรับลด adder ยังอยู่ในระหว่างพิจารณาในรายละเอียดว่าจะปรับลดอย่างไร เพราะมีหลายโมเดลให้ศึกษา เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ขนาดของโรงไฟฟ้า ประเภทของเซลล์แสงอาทิตย์ที่จะใช้ โดยโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นของ กฟผ. มีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 6 เมกะวัตต์เท่านั้น ในขณะนี้ผู้ประกอบการบางรายเสนอโครงการเข้ามามีกำลังการผลิตมากกว่า 50 เมกะวัตต์ ฉะนั้นจึงต้องใช้เวลาในการพิจารณาอีกสักระยะ

วันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4218  ประชาชาติธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล