“สว.รสนา” ค้านขึ้นค่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี

“รสนา โตสิตระกูล” ค้านขึ้นราคาค่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี แฉกลุ่มปิโตรเคมีตัวการทำก๊าซแอลพีจีขาดแคลน ควรรับผิดชอบค่าก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าเอง ส่วนการขอขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวีชี้รัฐบาลไม่ควรให้ขึ้นตราบใดที่ ปตท.ยังผูกขาดธุรกิจก๊าซแบบเบ็ดเสร็จ ไม่มีการแข่งขัน ย้ำกองทุนน้ำมันควรเลิกชดเชยค่าก๊าซให้ ปตท. ได้แล้ว เหตุใช้เงินผิดวัตถุประสงค์

วันนี้(15 มิถุนายน 2553) รัฐสภา : นางสาวรสนา  โตสิตระกูล ประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า เนื่องจากในวันที่ 28 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และนายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะเสนอแนวทางการปรับเปลี่ยนราคาจำหน่ายก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวีต่อที่ประชุม ในวันนี้ตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลฯ จะส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. เพื่อคัดค้านแนวคิดที่จะให้ขึ้นราคาค่าก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี พร้อมทั้งนำเสนอรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง        ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ที่คณะกรรมาธิการฯได้ศึกษาและผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภาแล้วให้แก่นายกรัฐมนตรีเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าวด้วย

นางสาวรสนากล่าวว่า จากปัญหาธรรมาภิบาลในกิจการด้านพลังงานตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๕๑ ทั้งเรื่องการขาดแคลนก๊าซแอลพีจี และการปรับขึ้นราคาค้าปลีกน้ำมันที่ไม่สอดคล้องกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับลดลงจากกว่า ๑๔๐ เหรียญสหรัฐฯ สู่ระดับ ๗๐ เหรียญสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ทำให้คณะกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ดำเนินการศึกษาตรวจสอบปัญหาธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ และจากผลการศึกษาคณะกรรมาธิการฯ ได้จัดทำเป็นรายงานการพิจารณาศึกษาเรื่อง ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ เสนอต่อที่ประชุมวุฒิสภา ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวันอังคารที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา โดยในกรณีปัญหาก๊าซแอลพีจี คณะกรรมาธิการฯ พบว่า มีสาเหตุที่สำคัญ ๒ ประการ คือ

สาเหตุประการที่หนึ่ง ธุรกิจปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีในปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากข้อมูลของกระทรวงพลังงานพบว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกก๊าซแอลพีจี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๕ โดยมีวัตถุดิบหลักคือก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย แต่ในปี พ.ศ.๒๕๕๑ (แสดงในตารางที่ ๑) ประเทศไทยกลับต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีถึง ๔๕๒,๐๐๐ ตัน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้ชี้แจงเรื่องนี้ว่า สาเหตุที่ต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีปริมาณมากเป็นเพราะภาคยานยนต์เป็นต้นเหตุหลักที่ทำให้การใช้ก๊าซแอลพีจีมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น แต่จากการตรวจสอบของคณะกรรมาธิการฯ กลับพบว่า ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีการใช้ก๊าซแอลพีจีสูงกว่าการใช้ของภาคประชาชนและยานยนต์เป็นอย่างมาก และใช้ในปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ ภาคอุตสากรรมปิโตรเคมีใช้ก๊าซแอลพีจีอยู่ที่ ๘๒๗,๐๐๐ ตัน พอถึง พ.ศ. ๒๕๕๑ มีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น ๑,๒๓๐,๐๐๐ ตัน หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น ๔๐๓,๐๐๐ ตัน ในขณะที่ปริมาณการใช้ของภาคยานยนต์ในช่วงเวลาเดียวกันเพิ่มขึ้นเพียง ๓๑๗,๐๐๐ ตัน และเมื่อได้ พิจารณาเปรียบเทียบปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีระหว่างเดือนมกราคมถึงธันวาคมของปี พ.ศ. ๒๕๕๑ และ ๒๕๕๒ จะยิ่งเห็นชัดเจนว่าการใช้ก๊าซแอลพีจีของกลุ่มปิโตรเคมีได้กลายเป็นภาระต่อระบบพลังงานของประเทศอย่างแท้จริง จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยเฉพาะในปี พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ปริมาณการใช้ก๊าซแอลพีจีของภาคประชาชนชะลอตัวลง โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ที่มีการใช้ลดลงจาก ๗๖๖,๐๐๐ ตัน เหลือเพียง ๖๖๖,๐๐๐ ตัน หรือลดลงไปมากถึง ๑๑๐,๐๐๐ ตัน ในขณะที่ภาคปิโตรเคมีนั้นมีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจาก ๑,๒๓๐,๐๐๐ ตัน เป็น ๑,๗๐๐,๐๐๐ ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึง ๔๗๐,๐๐๐ ตันภายในเวลาปีเดียว การใช้ก๊าซในปริมาณดังกล่าวของภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีส่งผลให้ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้จากวัตถุดิบในประเทศไม่เพียงพอและต้องมีการนำเข้าก๊าซแอลพีจีเพิ่มขึ้นจาก ๔๕๒,๐๐๐ ตัน เป็น ๗๕๓,๐๐๐ ตัน

ดังนั้น กรณีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) นำเงินจากกองทุนน้ำมันที่เก็บจากประชาชนผู้ใช้น้ำมันไปชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจึงเป็นนโยบายที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  อีกทั้งกลุ่มปิโตรเคมียังได้ประโยชน์จากการซื้อก๊าซต่ำกว่าราคาตลาดโลก และไม่มีภาระในการนำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ นโยบายที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันนับเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ไม่เป็นธรรม และถือเป็นการใช้เงินของกองทุนน้ำมันอย่างผิดวัตถุประสงค์

ที่ผ่านมาข้อเท็จจริงหล่านี้กระทรวงพลังงานและบมจ.ปตท. ไม่เคยเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบแต่อย่างใด ในทางกลับกันมีการอ้างว่าผู้ใช้ก๊าซในยานยนต์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่เพียงพอมาโดยตลอด

สาเหตุประการที่ ๒ การขาดแคลนก๊าซแอลพีจีเกิดจากปัญหาในการบริหารจัดการภายใน บมจ.ปตท.เอง คือความล่าช้าของการสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งใหม่ ทำให้ไม่สามารถผลิตก๊าซแอลพีจีได้เพียงพอ ดังนั้นแม้ว่าจะมีการพบก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซแอลพีจีจากอ่าวไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถป้อนก๊าซธรรมชาติเข้าโรงแยกก๊าซได้ ดังแสดงตามตารางที่ ๒

ทั้งนี้ ก๊าซธรรมชาติดิบที่ขุดขึ้นมาได้จากอ่าวไทยสามารถแยกเป็นผลิตภัณฑ์ก๊าซชนิดต่าง ๆ ที่มีคุณค่าสูง เช่น ก๊าซแอลพีจี เป็นต้น โดยก๊าซแอลพีจีของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นผลผลิตมาจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติของ ปตท. แต่เมื่อปตท. ไม่ดำเนินการขยายโรงแยกก๊าซเพิ่มขึ้นให้ทันต่อความต้องการของการบริโภค ทำให้ก๊าซธรรมชาติส่วนที่ล้นเกินความจุของโรงแยกก๊าซจึงต้องนำไปรวมกับก๊าซมีเทน ซึ่งมีคุณค่าต่ำกว่าแล้วส่งไปผลิตไฟฟ้าแทน ดังนั้น หากมีการสร้างโรงแยกก๊าซได้เพียงพอกับก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ จะทำให้ได้ปริมาณก๊าซ แอลพีจีเพิ่มขึ้นกว่า ๒ ล้านตันต่อปี และส่งผลให้ไม่มีความจำเป็นต้องนำเข้าแอลพีจีเพิ่มแต่อย่างใด

จากข้อเท็จจริงทั้ง ๒ ประการ คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอในกรณีปัญหาราคาก๊าซแอลพีจีต่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ดังนี้คือ

๑.       กลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีเป็นกลุ่มผู้ใช้สำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซแอลพีจีที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนโดยรวม ดังนั้นจึงควรให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มปิโตรเคมีเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองสำหรับการนำเข้าก๊าซแอลพีจี มิใช่ผลักภาระมาให้กับประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ

๒.      รัฐไม่ควรนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยการนำเข้าก๊าซแอลพีจี เพราะเป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ

๓.      รัฐบาลต้องควบคุมราคาก๊าซแอลพีจีในส่วนที่จำหน่ายให้กับภาคประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรก๊าซธรรมชาติ ทั้งภาคครัวเรือนและยานยนต์ที่ใช้ก๊าซแอลพีจีเป็นพลังงานทางเลือกในระดับที่เหมาะสม โดยไม่ปล่อยให้ราคาก๊าซแอลพีจีลอยตัวตามราคาตลาดโลก เนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ขุดเจาะได้ในประเทศมีปริมาณมากเพียงพอที่จะผลิตก๊าซแอลพีจีเพื่อรองรับต่อความต้องการของภาคครัวเรือนและยานยนต์อยู่แล้ว

สำหรับกรณีการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีนั้น นางสาวรสนาว่า จากการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ พบว่าราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลก (Henry Hub) ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญจาก ๑๔ เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียูในปี ๒๕๕๑ สู่ระดับต่ำกว่า ๕ เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียูในปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาตินี้เป็นวัตถุดิบหลักของก๊าซเอ็นจีวี ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงมีความเห็นว่า การที่ปตท.จะขอขึ้นราคาขายปลีกจาก ๘.๕๐ บาทต่อกก. เป็น ๑๐.๕๐ บาทต่อกก. โดยอ้างว่ามีต้นทุนที่ ๑๔.๕๐ บาทต่อกก. ซึ่งมิได้อิงต่อกลไกตลาดเสรีแต่อย่างใดนั้น เป็นสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา ๘๔(๑) ว่าด้วย รัฐต้องสนับสนุนเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และมาตรา ๘๔(๕) ว่าด้วย รัฐต้องสนับสนุนการแข่งขันเสรี ป้องกันการผูกขาดและคุ้มครองผู้บริโภค โดยปัญหาการกำหนดราคาก๊าซเอ็นจีวีที่เกิดขึ้นนี้ เกิดจากการที่รัฐปล่อยให้บมจ.ปตท. ผูกขาดก๊าซเอ็นจีวีทั้งระบบ ทำให้กลไกตลาดในประเทศของก๊าซชนิดนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ที่สำคัญต้นทุนที่แท้จริงของก๊าซเอ็นจีวีตามที่ ปตท. กล่าวอ้างนั้นอยู่บนพื้นฐานของการคิดคำนวณที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากคู่มือการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติ มีข้อปฏิบัติที่ขัดกับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ให้ ปตท. ต้องคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งหมดให้เป็นของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าผ่านท่อเป็นต้นทุนสำคัญในระบบก๊าซธรรมชาติและพลังงานไทย

นอกจากนี้ แนวทางที่ปตท. เสนอว่าควรจะร่วมรับภาระร่วมกันคือ ปตท.พร้อมแบกภาระต่อ ๒ บาทต่อกก. และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ควรรับภาระ ๒ บาท ขณะที่ประชาชนรับภาระ ๒ บาทต่อกก. นั้น ทางคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรม เนื่องจากเป็นการผลักภาระให้กับประชาชนถึง ๒ ใน ๓ ส่วนของต้นทุนส่วนเพิ่มที่ปตท.กล่าวอ้าง ที่สำคัญ คือ การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยให้กับปตท. ซึ่งเป็นการนำเงินของประชาชนไปใช้ผิดประเภท และไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ที่มีไว้เพื่อชดเชยในกรณีที่ราคาน้ำมันตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมาก เพื่อให้ประชาชนไม่ได้รับความเดือดร้อน โดยที่การนำเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยเอ็นจีวีนั้นไม่ใช่เป็นเพียงการชดเชยค่าเนื้อก๊าซเอ็นจีวีเท่านั้น แต่รวมถึงการขนส่ง การก่อสร้าง และการจัดจำหน่ายทั้งระบบ โดยกรรมสิทธิ์ทั้งหมดตกเป็นของ ปตท. แต่เพียงผู้เดียว อีกทั้ง ต้นทุนที่กล่าวอ้างมิได้มีการเปิดเผยถึงข้อมูลรายละเอียดที่จำเป็นในการพิจารณา เช่น ต้นทุนดังกล่าวได้รวมกำไรของ บมจ.ปตท.สผ. ซึ่งเป็นผู้ขุดเจาะก๊าซธรรมชาติรายใหญ่เข้าไว้ด้วยแล้ว เป็นต้น

 

ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯ จึงมีข้อเสนอแนะ นายกรัฐมนตรีในการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างยั่งยืน ดังนี้ 

๑.      รัฐบาลควรระงับการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีจนกว่าจะมีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมตามกลไกตลาดเสรีในการผลิต และการจำหน่ายก๊าซเอ็นจีวี

๒.     รัฐบาลต้องดำเนินการทวงคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติจากปตท. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดให้ครบถ้วนอย่างน้อยตามผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)

๓.     รัฐบาลต้องส่งเสริมการมีธรรมาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันการความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าพนักงานของรัฐกับบทบาทกรรมการบริษัทเอกชนด้านพลังงานซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาพลังงานไทย

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน