แผนกำลังผลิตไฟฟ้า PDP 2553 ไฉนทุกทางเลือกจึงมีแต่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ ฉบับล่าสุด 2553-2573 หรือ PDP 2553 (Power Development Plan) โดยแผน PDP ฉบับนี้มีสาระสำคัญที่ต้องจับตามองก็คือ กำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ที่จะเกิดขึ้นรวม 54,005 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนหนึ่งจะมาจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่จะเกิดขึ้นถึง 5 โรง รวมกำลังผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเข้าระบบตั้งแต่ปี 2563-2571

ท่ามกลางความสงสัยว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพราะทันทีที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าไปอยู่ในแผน PDP ฉบับเก่า กระแสการคัดค้านและต่อต้านจากประชาชนและนักวิชาการก็มีมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งล่าสุด ทีมงานศึกษาโครงสร้างทางธรณีพื้นฐานในพื้นที่เป้าหมาย ถึงกับต้องระงับการลงพื้นที่เพราะถูกคัดค้านจากประชาชนอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานได้ให้เหตุผลถึงความ "จำเป็น" ที่ประเทศไทยจะต้องมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในแผน PDP หลัก ๆ ได้แก่ 1) เพื่อลดความเสี่ยงกับการผูกติดกับการใช้ก๊าซธรรมชาติ หากเกิดปัญหาเช่นที่ผ่านมาอาจจะส่งผลต่อความมั่นคงระบบไฟฟ้า 2) ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ ค่อนข้างต่ำ 3) เพื่อลดภาวะโลกร้อน เนื่องจากจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยมาก โดยเฉพาะประเด็นความเสี่ยงจากการใช้ก๊าซ กรณีก๊าซจากแหล่งพม่าที่ต้องหยุดส่งก๊าซ ทำให้ต้องเร่งเดินเครื่องด้วยโรงไฟฟ้าพลังน้ำ จนเกิดน้ำท่วมพื้นที่ ใกล้เคียง และการต้องเดินเครื่องด้วย โรงไฟฟ้าที่ต้องใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาขึ้นมาทดแทน ซึ่งส่งผลต่ออัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่า Ft ในที่สุด

ทุกทางเลือกต้องมีนิวเคลียร์/ถ่านหิน

ไม่เพียงแต่จะมีกำลังผลิต ไฟฟ้าใหม่จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เท่านั้น ในแผน PDP ฉบับใหม่ยังมีการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินที่ถือว่ามากมายเป็นประวัติการณ์ โดยจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหินรวม 9 โรง (จากเดิม 13 โรง) กำลังผลิต 8,400 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความเป็นจริงกระแสคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ก็ไม่ได้แตกต่าง ไปจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากนัก ถึงแม้ว่าแผน PDP ฉบับนี้จะบอกว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดก็ตาม แต่ประสบการณ์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบ ก็ยังไม่ถูกเยียวยาแก้ไข

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากแผน PDP ฉบับล่าสุดจะพบว่า การจัดทำแผน PDP ดังกล่าวแม้จะมีแผนทางเลือกถึง 3 แผนก็ตาม กล่าวคือ กรณีฐาน หมายถึง เศรษฐกิจเติบโตปานกลาง กรณีสูง หมายถึง เศรษฐกิจเติบโตดีมาก และกรณีฐานที่มีเศรษฐกิจเติบโตปานกลาง แต่มีสัดส่วนการผลิตจากพลังงานทดแทนค่อนข้างมาก ซึ่งทั้ง 3 ทางเลือกยัง "ต้องมี" โรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ในแผนทั้งสิ้น 5 โรง ด้วยกำลังผลิตติดตั้ง 5,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีมากถึง 13 โรงในกรณีที่เศรษฐกิจเติบโตดีมาก

อีกด้านหนึ่ง คณะรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้แสดงออกถึงความมั่นใจว่าจะสามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ได้ จึงกำหนดให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กลับไปจัดทำแผนสำรอง หากว่าไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะสามารถหา เชื้อเพลิงอื่น ๆ มาทดแทนได้หรือไม่

แผนรับมือกรณีเลื่อนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ด้าน นายณอคุณ สิทธิพงษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แม้ว่าคณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติแผน PDP แต่ไม่ได้สรุปว่าอนุมัติให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ แต่ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์มาใหม่ และจะต้องนำเสนอ ครม.อีกครั้งภายในปี 2554 นี้ โดย ครม.ได้กำหนดให้ไปศึกษาเพิ่มเติมว่า หากไม่สามารถเดินหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จะสามารถหาเชื้อเพลิงอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มเติมได้หรือไม่ และต้นทุนค่าไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร

เบื้องต้นกระทรวงพลังงานได้เตรียมวางแผนไว้แล้วในกรณีที่โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์โรงแรก 1,000 เมกะวัตต์ ที่จะต้องเกิดขึ้นในปี 2563 ต้องเลื่อนเวลาออกไป จะมี โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเข้ามาเสริม ได้แก่ โรงไฟฟ้าพระนครเหนือยูนิต 2 กับโรงไฟฟ้าพระนครใต้ยูนิต 4 นำมาเสริมเข้าระบบแทน เพื่อรักษาระดับปริมาณสำรองไฟฟ้า (reserve margin) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ให้ได้ แต่หาก ไม่มีโรงไฟฟ้าประเภทอื่น ๆ เข้ามาเสริมก็จะมีสำรองไฟฟ้าภายในประเทศเหลือเพียงร้อยละ 15.6 เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็น เรื่องค่อนข้างเสี่ยง

ทั้งนี้แผน PDP ดังกล่าวยังเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นถึง 4,014 เมกะวัตต์ เพิ่มการรับซื้อจากทั้งผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมาก (VSPP) เพิ่มขึ้นกว่าแผน PDP ฉบับเดิมด้วย

" เราไม่ได้บอกว่าวันนี้เราสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ทันที แต่ต้องถาม ครม.อีกว่าจะตัดสินใจอย่างไร กระทรวงพลังงานสรุปเองไม่ได้ เพียงแต่ต้องมานั่งเตรียมแผนสำรองเอาไว้ ไม่ว่าจะมีหรือไม่มี นอกจากนี้ที่ สนพ.ต้องศึกษาเพิ่มเติมยังรวมถึงค่าไฟฟ้าทั้งกรณีที่มีและไม่มีโรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ด้วยว่าจะกระทบหรือไม่"

ทั้งนี้ นายณอคุณยังกล่าวถึงการเตรียมแผนรับมือกรณีไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่าจะไม่ สามารถเพิ่มการเดินเครื่องจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงได้ โดยเฉพาะจากก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน เนื่องจากราคาก๊าซ LNG ยังถือว่ามีราคาสูง ซึ่งหากต้องนำมาใช้ คงต้องถามว่าประชาชนจะยอมรับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นได้หรือไม่

สำหรับกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ในช่วงปี 2553-2573 นอกเหนือจากการผลิตจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ยังมาจาก 1) โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน จำนวน 4,617 เมกะวัตต์ 2) โรงไฟฟ้าระบบ cogeneration กำลังผลิต 7,137 เมกะวัตต์ 3) โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม 16,670 เมกะวัตต์ 4) โรงไฟฟ้าพลังน้ำ (ปรับปรุงเขื่อนบางลางและโครงการสูบกลับเขื่อนลำตะคอง) กำลังผลิต 512 เมกะวัตต์ 5) การรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (สปป.ลาว/ พม่า) กำลังผลิต 11,669 เมกะวัตต์ โดยในช่วงต้นของแผน PDP จะยังคงมีปริมาณสำรองไฟฟ้าสูงอยู่ที่ร้อยละ 27 จนกระทั่งในช่วงท้ายของแผน PDP ปริมาณสำรองไฟฟ้าจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น

ข้อมูลจาก - วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4202  ประชาชาติธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน