กลุ่มผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถสามล้อเครื่องในโครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ และกลุ่มผู้เสียหายที่กู้เงินกับสหกรณ์บริการจักรเพชร ยื่นหนังสือเพื่อถามถึงความคืบหน้าคดี รวมทั้งขอให้เร่งรัดคดีและแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ด้านผู้บังคับการ บช.ก. และรองผู้บังคับการพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. รับปากจะเร่งดำเนินคดีให้โดยเร็ว
จากการที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการ กองบังคับการปราบปราม เรื่องพฤติการณ์ของสหกรณ์บริการจักรเพชร กรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ฯ ผู้จัดการธนาคารออมสิน สาขาเยาวราชและสาขาสยามพารากอน ที่มีการกระทำที่อาจเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนกรณีที่มีผู้ได้รับความเสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถสามล้อเครื่องในโครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ และกองปราบปรามแจ้งกลับมาว่าได้เสนอเรื่องไปยังผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีความคืบหน้าของคดีความดังกล่าวนั้น
ล่าสุด (26 มิถุนายน 2562) ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มพบ. พร้อมกลุ่มผู้เสียหายจากการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อรถสามล้อเครื่องในโครงการ ‘สามล้อเอื้ออาทร’ รวมทั้งผู้เสียหายในกรณีเดียวกัน ทั้งกลุ่มผู้เสียหายรถเมล์ร่วมบริการสาย 1, 17, 39 และ 75 กลุ่มผู้เสียหายเรือหางยาว และกลุ่มผู้เสียหายตลาดหมอชิตและปากคลองตลาด จำนวน 100 กว่าราย เข้ายื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเพื่อขอให้เร่งรัดรัดคดีและแจ้งพฤติการณ์และข้อเท็จจริงเพิ่มเติม รวมทั้งได้ยื่นหนังสือต่อผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และเร่งรัดการดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชน
ตัวแทนผู้เสียหาย, นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค และพล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการอำนวยการ บช.ก.
พ.ต.อ.ยุทธนา จอนขุน รองผู้บังคับการพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า หลังจากที่ไปยื่นหนังสือเรื่องที่กองปราบปรามฯ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 และมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมไปอีกเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 จากนั้นทางมูลนิธิฯ ได้มีการสอบถามถึงเรื่องความคืบหน้าของคดีความกับกองปราบปราม มาโดยตลอด และได้รับคำตอบเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่าคดีความดังกล่าวอยู่ระหว่างการดำเนินการของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ดังนั้น วันนี้จึงนำกลุ่มผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการเข้าไปซื้อรถสามล้อในโครงการสามล้อเอื้ออาทรและกลุ่มผู้เสียหายที่เข้าไปกู้เงินกับสหกรณ์ฯ มายื่นหนังสือเพิ่มเติมที่ บช.ก. เพื่อที่จะได้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อที่จะมีการพิจารณาได้ว่าคดีดังกล่าวเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชนหรือไม่ โดยมีการแจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติม ได้แก่ 1. มีพฤติการณ์หลอกให้ทำสัญญากู้ 2 ฉบับ เพื่อซื้อรถ 1 คัน หรือ ซ่อมแซมรถยนต์ หรือ กู้ยืมเงิน และ 2. ไม่ได้รับเงินกู้ หรือ ได้รับเงินกู้ไม่เต็มตามสัญญากู้ยืมเงิน
นางนฤมล กล่าวอีกว่า มีความคาดหวังกับผู้บัญชาการ บช.ก. ว่าจะสามารถที่จะพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้รวดเร็วได้หรือไม่ และท้ายที่สุดก็ได้รับคำตอบจาก พล.ต.ต.ณัฐศักดิ์ เชาวนาศัย ผู้บังคับการอำนวยการ บช.ก. แจ้งไว้ว่าจะดำเนินการคดีดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ได้มายื่นหนังสือ กับ พ.ต.อ.ยุทธนา จอนขุน รองผู้บังคับการพิสูจน์หลักฐานกลาง สตช. โดยได้ขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่และเร่งรัดการดำเนินคดีฉ้อโกงประชาชน ซึ่งก็ได้รับคำตอบเช่นเดียวกับผู้บังคับการ บช.ก. ว่าจะเร่งรัดการดำเนินคดีและจะมีการพิจารณาให้รวดเร็วขึ้นอีกด้วย
“ในวันนี้กลุ่มผู้เสียหายได้รับคำตอบจากหน่วยงาน รวมทั้งยังมีความคาดหวังในเรื่องของคดีความและผู้กระทำความผิดว่าจะได้รับการลงโทษเมื่อใด นอกจากนี้ยังทราบมาว่าขณะนี้ธนาคารออมสินอยู่ในระหว่างการประชุมกรรมการ จึงอยากฝากถึงให้มีการพิจารณาเรื่องการถอนฟ้องให้เร็วขึ้นอีกด้วย” นางนฤมลกล่าว
อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ หวังว่าคดีจะมีความคืบหน้าในเร็ววัน แต่หากยังไม่มีความคืบหน้า ก็จะมีการมาติดตามต่อไป
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- กลุ่มตุ๊กตุ๊กกว่า 40 ราย ร้อง มพบ. เหตุถูกฟ้องคดีไม่เป็นธรรม
- มพบ. ร้องกองปราบฯ คดีฉ้อโกง ‘ตุ๊กตุ๊ก’ กว่า 100 ราย
- 'ออมสิน' รับปากยื่นขอชะลอการฟ้องและบังคับคดี 'ตุ๊กตุ๊ก' พร้อมนัดฟังคำตอบ 15 ม.ค. 62
- 'ออมสิน' รับข้อเสนอ 'มพบ.' ให้กลุ่มผู้เสียหายจ่ายหนี้ตามจริง