มพบ. เผย ‘โครงการสามล้อเอื้ออาทร’ อาจเข้าข่ายฉ้อโกง เหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร พร้อมเป็นตัวแทนนำผู้เสียหายร้องกองปราบฯ 19 พ.ย. นี้

1

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย ‘โครงการสามล้อเอื้ออาทร’ อาจเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน เหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร พร้อมเป็นตัวแทนนำผู้เสียหายร้องกองปราบฯ 19 พ.ย. นี้

          จากกรณีที่เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้รับการติดต่อจากกลุ่มคนขับสามล้อรับจ้างจำนวนกว่า 100 ราย ว่าได้รับความไม่เป็นธรรมจากการทำสัญญา โดยกลุ่มผู้เสียหายได้กู้เงินจากธนาคารออมสิน ผ่านบริษัท สหกรณ์บริการจักรเพชร จำกัด เพื่อซื้อรถสามล้อ สหกรณ์ได้ติดต่อกับธนาคารออมสิน สาขาเยาวราชและสาขาพารากอนให้มาทำสัญญาเงินกู้ที่สหกรณ์ ซึ่งกลุ่มผู้เสียหายเข้าใจว่าเป็นการกู้ไฟแนนซ์เพื่อนำเงินมาซื้อรถสามล้อ โดยไม่ทราบว่าตัวเองได้กู้เงินไปจำนวนเท่าไร เจ้าหน้าที่ธนาคารบอกให้ลงชื่อในส่วนไหนจึงลงชื่อตามทั้งหมด จากนั้นในวันรับรถผู้เสียหายจะได้รับกระดาษชี้แจงจากสหกรณ์ให้ชำระหนี้เป็นรายสัปดาห์

          หลังจากทำสัญญาดังกล่าว กลุ่มผู้เสียหายได้รับเพียงสมุดบัญชีธนาคาร แต่ไม่ได้รับเงินและสัญญากู้เงิน ส่วนทะเบียนรถฉบับจริงสหกรณ์เป็นผู้เก็บไว้ จากนั้นสหกรณ์ได้แจ้งให้ผ่อนชำระค่างวดกับสหกรณ์โดยตรงหรือชำระที่ธนาคารดังกล่าวสาขาใดก็ได้ โดยให้ชำระเงินเข้าในชื่อบัญชีของสหกรณ์และให้นำใบชำระเงินของธนาคารไปแลกใบเสร็จของสหกรณ์ ผู้เสียหายแต่ละรายได้ชำระเงินให้สหกรณ์มาโดยตลอด สุดท้ายกลับถูกธนาคารฟ้องเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ จำนวนเงินตั้งแต่ 350,000 - 500,000 บาท โดยที่เป็นการกู้สินเชื่อประเภทธุรกิจห้องแถวไม่ใช่การกู้ไฟแนนซ์ตามที่กลุ่มผู้เสียหายเข้าใจ รวมทั้งมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยกลุ่มผู้เสียหายไม่ทราบและไม่เคยทำสัญญาดังกล่าว จึงไปร้องเรียนกับศูนย์ดำรงธรรม ยุติธรรมจังหวัด และได้รับคำแนะนำให้เข้ามาร้องเรียนที่ มพบ. นั้น

         วันนี้ (13 พฤศจิกายน 2561) เวลา 13.30 น. ณ ห้องประชุม 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. และ ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. ร่วมกับ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่องสาธารณะ จัดแถลง ‘กลุ่มรถสามล้อเครื่อง ร้อง มพบ. เหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร’        

2นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง

          นายวันทอง ศรีจันทร์ ตัวแทนกลุ่มผู้เสียหายรถสามล้อเครื่อง กล่าวว่า ครั้งแรกที่ลงชื่อในสัญญา ตัวเองลงชื่อไปในสัญญาเพียงฉบับเดียว ไม่เห็นตัวเลขว่ากู้มาเท่าไร ทำเพียงลงชื่อเท่านั้น ส่วนเรื่องผู้ค้ำประกัน ถ้าไม่มีคนที่รู้จักมาค้ำประกัน สหกรณ์จะเป็นผู้จัดหาคนค้ำประกันให้ และผู้กู้ต้องไปค้ำประกันตอบแทนผู้ค้ำประกันรายนั้น ในวันรับรถได้รับรถสามล้อที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติตามที่ตกลงกันไว้ และให้ใบสรุปการจ่ายสินเชื่อมาเพียงใบเดียว ตัวเองจ่ายหนี้ตามที่ตกลงกับสหกรณ์มาตลอด เมื่อได้รับหมายศาลพบว่าตัวเองถูกธนาคารฟ้องและในเอกสารท้ายคำฟ้องดังกล่าวได้แนบสำเนาสัญญากู้มาด้วย หลังจากตรวจสอบยอดกู้ในสัญญากู้ปรากฏว่ามียอดสูงกว่าใบสรุปการจ่ายสินเชื่อ เช่น ในสัญญากู้ระบุว่า 500,000 บาท แต่ในใบสรุปสินเชื่อแจ้งว่า 360,000 บาท โดยมีส่วนต่างหายไป 140,000 บาท และมีสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งสัญญา โดยที่ตัวเองไม่ได้ทำ

5นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. 

          ด้านนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า ธนาคารควรจะตรวจสอบว่าเหตุใดจึงมีการให้สินเชื่อในลักษณะเช่นนี้ และเหตุใดจึงไปทำสัญญากันที่สหกรณ์และไม่ได้มอบคู่ฉบับของสัญญาต่างๆ ที่ให้กลุ่มผู้เสียหายลงชื่อกับกลุ่มผู้เสียหายมา อีกทั้งในการลงชื่อในหนังสือยินยอมมอบเงินที่กู้ให้กับสหกรณ์นั้นได้สอบถามความประสงค์ของกลุ่มผู้เสียหายก่อนหรือไม่ ส่วนกรมส่งเสริมสหกรณ์ หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของตัวเองไปพบข้อเท็จจริงดังกล่าว ต้องตรวจสอบดูว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องดำเนินการไปตามกฎหมาย

          “หลังจากที่ มพบ. นัดเจรจา มีเจ้าหน้าที่ของกรมส่งเสริมสหกรณ์มาชี้แจงว่าได้ตรวจสอบกับสหกรณ์แล้ว สหกรณ์แจ้งว่ามีหนังสือยินยอมของผู้เสียหายให้สหกรณ์เป็นผู้รับเงินจากธนาคารแทนแล้วสหกรณ์นำเงินที่ได้รับจากธนาคารไปฝากไว้กับสหกรณ์ โดยกลุ่มผู้เสียหายได้เซ็นชื่อหนังสือยินยอมให้สหกรณ์ถอนเงินที่ฝากไว้กับสหกรณ์ได้ และยังพบว่าในการซื้อรถสามล้อดังกล่าว กลุ่มผู้เสียหายต้องทำสัญญากู้กับสหกรณ์ไว้อีกหนึ่งฉบับด้วย” นายเฉลิมพงษ์กล่าว

4นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ.

          นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า จากการดูข้อมูลของผู้ร้องเรียน นอกจากกรณีของรถสามล้อแล้ว ยังมีกรณีการกู้ยืมเงินเพื่อซ่อมรถและการกู้ยืมเงินเพื่อกู้ซื้อรถเมล์ ซึ่งมีการกระทำในแบบเดียวกันกับกรณีของรถสามล้อ

3นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการฯ มพบ.

          ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการฯ มพบ. กล่าวว่า มพบ. ได้มีการเจรจาและประชุมเพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว 2 ครั้ง กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ประสบความสำเร็จ โดยเรียกร้องให้ธนาคารออมสินถอนฟ้องและยุติการดำเนินคดี เนื่องจากเป็นการทำสัญญาที่ไม่ตรงกับเจตนาของผู้เสียหาย รวมถึงปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรจะแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบ มพบ. จะเป็นผู้แทนในการนำผู้เสียหายทั้งหมดไปร้องกับกองบังคับการปราบปราม ในวันที่ 19 พฤศจิกายน นี้

 

ติดตาม Facebook LIVE ย้อนหลัง เรื่อง ‘กลุ่มรถสามล้อเครื่อง ร้อง มพบ. เหตุสัญญาซื้อรถพิสดาร’ ผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

Tags: ตุ๊กตุ๊ก

พิมพ์ อีเมล