ห้ามตัดสัญญาณพรีเพด 60 วัน

ทุกค่ายมือถือพร้อมใจเว้นตัดสัญญาณพรีเพด จนกว่าเคาะวันหมดอายุที่เหมาะสมได้ หลังประชุมหารือคาดอีก 60 วันได้ข้อยุติ

นายประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ ๒ มีนาคมที่ผ่านมาได้เชิญ ตัวแทนผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)  บริษัท ทรู มูฟ จำกัด บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  รวมถึงตัวแทนผู้บริโภค ได้แก่ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค  และนายอานุภาพ ถิรลาภ  ร่วมหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า ซึ่งที่ประชุมกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ เคยมีมติภายใต้การหารือร่วมกับบริษัทผู้ให้บริการว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน ๓๐ วัน โดยเริ่มต้นด้วยการที่บริษัทผู้ให้บริการต้องแสดงต้นทุนเพื่อเป็นข้อมูลในการหาข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนวันต่อไป

ทั้งนี้ ในการรายงานความคืบหน้า ทุกบริษัท ยกเว้นบริษัท ทรู มูฟ จำกัด แจ้งว่ายังไม่สามารถดำเนินการแสดงต้นทุนและเสนอตัวเลขระยะเวลาขั้นต่ำของการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการได้ทันตามกำหนด ที่ประชุมจึงมีความเห็นให้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการเพิ่มเติมเป็น ๖๐ วัน โดยในระหว่างนี้การใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าจะห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ และห้ามตัดสัญญาณ

“เป็นการคุยเพื่อหาข้อยุติในรอบแรกและต้องเห็นผลใน ๖๐ วัน โดยภายใน ๓๐ วันจากนี้ บริษัทมีหน้าที่ส่งตัวเลขต้นทุนและโครงสร้างในการคำนวณวันขั้นต่ำมา รวมถึงให้บริษัทเสนอตัวเลขวันขั้นต่ำมาเพื่อเป็นตุ๊กตาให้ได้  แต่คงไม่ใช่นัดกันมาเสนอตัวเลข ๓๐ วัน ๓๐ วันทุกเจ้า ตัดหัวตัดท้ายก็ได้ ๓๐ วัน  ดังนั้นต้องนำต้นทุนที่เสนอมาพิจารณาจริงๆว่าจำนวนวันที่เสนอมานั้นเป็นไปตามต้นทุนจริงหรือไม่ หลักสำคัญอยู่ที่ตัวเลขต้นทุน ดังนั้นภายใน ๓๐ วันทุกบริษัทจะต้องส่งตัวเลขมา จากนั้นวันที่ ๔๕ เคาะตัวเลขที่น่าจะเป็นและหารือกับทุกบริษัทโดยต้องได้ตัวเลขจำนวนวันที่เหมาะสมภายใน ๖๐ วัน หากครั้งนี้ยังไม่ได้ตัวเลขที่ลงตัวคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปรับทางปกครองกับทุกบริษัท และระหว่าง ๖๐ วันนี้โทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินต้องได้รับการคุ้มครองห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการกับผู้บริโภค  ”นายประวิทย์กล่าว

นายประวิทย์ กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ตามมติ กรรมการกิจการโทรคมนาคมที่ให้ทุกบริษัท ห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงในระหว่างนี้นั้น พบว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส และบริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่นจำกัดหรือดีแทค ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยบริษัทเอไอเอสแจ้งว่า จะสามารถดำเนินการได้ภายในสัปดาห์นี้ ดังนั้นในระหว่างนี้หากผู้บริโภคถูกตัดสัญญาณการใช้บริการคือ ไม่สามารถโทรออกและรับสายได้ เนื่องจากถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ขอให้แจ้งมาที่สำนักงาน กสทช. ๑๒๐๐ กด ๑ ทันที

ด้านนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ในระยะเวลา ๓๐ วันที่ผ่านมาน้องชายตัวเองเป็นผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าของ ดีแทค และถูกตัดสัญญาณทั้งที่ยังมีเงินอยู่ในระบบถึง ๔๐๐ บาท

“น้องเราเงินเหลือ แต่รับได้อย่างเดียวโทรออกไม่ได้ โทรประสานเองว่า บังคับใช้ประกาศแล้วมาตัดสัญญาณได้อย่างไร ก็ได้รับคำตอบว่า ทำตาม กสทช. แล้วไม่ได้ตัดสัญญาณเพียงแต่รับได้อย่างเดียวโทรออกไม่ได้ ถ้าอยากโทรออกให้นำเงินที่เหลือไปแลกวัน  ทำแบบนี้เรียกว่า กระล่อนไม่ยอมทำตามระเบียบ ถ้าผู้บริโภคมีเงินในระบบต้องโทรออกได้ ถ้าเปลี่ยนคุณจากผู้ให้บริการเป็นผู้รับบริการจะทำอย่างไรมีเงินแล้วโทรออกไม่ได้ น้องเราเป็นไต๋กงเรือใช้โทรศัพท์เวลาออกทะเลกลางคืนเผื่อมีปัญหาจะได้ติดต่อได้ แต่ก็มาเจอเรื่องนี้เข้าเอง ทั้งที่ครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ผู้บริโภคยอมถอยให้คือให้มีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการได้แล้ว” นางสาวบุญยืนกล่าว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน