สำรวจโฆษณาสินค้าเกินจริงเพียบ

ผลสำรวจโฆษณาสินค้าทางทีวีมีอิทธิพลมากที่สุดในการจูงใจผู้บริโภคให้ซื้อ ขณะเดียวกันส่วนใหญ่ประสบปัญหาโฆษณาเกินจริง เงื่อนไขการรับประกันไม่ยุติธรรม อีกทั้งประชาชนไม่ตระหนักในการใช้สิทธิคุ้มครองตัวเอง

ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC - SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่องสิทธิของผู้บริโภคที่ถูกคุกคาม กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 18 ปี ขึ้นไป ใน 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา จำนวน 2,764 ตัวอย่าง ค่าความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-20 กันยายนที่ผ่านมา

กลุ่มผู้ บริโภคส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 72.4 ตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากการโฆษณาทางโทรทัศน์ รองลงมาคือ ร้อยละ 30.0 จากคำแนะนำของเพื่อนหรือคนรู้จัก ร้อยละ 29.2 จากคำชักชวนของผู้ขาย ร้อยละ 23.4 จากสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ร้อยละ 14.4 จากวิทยุ และร้อยละ10.4 จากอินเทอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาในการซื้อสินค้าร้อยละ 56.5 ระบุราคาสินค้าไม่ตรงกับโฆษณา/ ป้ายบอกราคา รองลงมาคือ ร้อยละ 47.8 ระบุสินค้าโฆษณาเกินจริง ร้อยละ 43.5 สินค้าชำรุด บกพร่อง เน่าเสีย รองๆ ลงไปคือ เงื่อนไขการรับประกันสินค้าไม่ยุติธรรม ไม่มีมาตรฐานสินค้า เช่น อย. มอก. และไม่ได้รับความเป็นธรรมในการบริการต่างๆ เช่น เรื่องการเสริมความงาม การรักษาพยาบาล เป็นต้น

เมื่อสอบถามถึงการรับรู้ รับทราบหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาต่อสิทธิของผู้บริโภคด้าน ต่างๆ หรือไม่ พบว่า ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 74.6 รับรู้รับทราบ แต่ร้อยละ 25.4 ไม่ทราบ อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 88.7 ไม่เคยร้องเรียน ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะไม่รู้จะติดต่ออย่างไร คิดว่าจะยุ่งยาก เสียเวลา ไม่เชื่อมั่นว่าจะช่วยได้ ร้องเรียนไปก็เท่านั้น ไม่มีอะไรดีขึ้น เป็นต้น ในขณะที่ร้อยละ 11.3 เคยใช้สิทธิร้องเรียน ร้องทุกข์

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มคนที่เคยร้องเรียนร้องทุกข์ มีเพียงร้อยละ 38.5 เท่านั้นที่พอใจต่อความสามารถของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหา เรื่องร้องเรียน ร้องทุกข์ ความไม่เป็นธรรมต่อสิทธิของผู้บริโภค ร้อยละ 30.8 ระบุปานกลาง และร้อยละ 30.7 ระบุน้อยถึงไม่มีอะไรดีขึ้นเลย
ดร.อุดม กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องมีการปฏิรูปหน่วยงานคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระบบ สร้างการรับรู้และความตระหนักในกลุ่มผู้บริโภคต่อสิทธิของตนเองที่จะร้อง เรียน ร้องทุกข์ กล่าวโทษ ในขณะที่ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ ข้อเสนอแนะคือ

ประการแรก มีองค์การอิสระคุ้มครองผู้บริโภคที่มีกฎหมายรองรับเกิดขึ้นในสังคมไทย เพื่อดูแล คุ้มครองผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ
ประการ ที่สอง หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องมีระเบียบ กฎเกณฑ์ ที่จะทำให้ผู้ประกอบการระบุเบอร์โทรศัพท์สายตรงให้กับผู้บริโภคได้ติดต่อสอบ ถามในข้อสงสัย ร้องเรียน และข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อสิทธิของผู้บริโภค

ประการที่สาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง กระตุ้นให้ผู้บริโภคใช้สิทธิของตนเองในการร้องเรียน ร้องทุกข์ ดำเนินการเอาผิดกลุ่มผู้ประกอบการที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่เป็นธรรม และทำให้เกิดความเสียหายจากสินค้าอุปโภค บริโภค และบริการต่างๆ ต่อผู้บริโภค และหากมีกรณีตัวอย่างที่ถูกกระบวนการยุติธรรมเอาผิดได้ ต้องเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นตัวอย่างให้กับผู้บริโภคตระหนักในสิทธิของตน เอง และผู้ประกอบการรับผิดชอบจริงจัง

จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของ ตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 54.4 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 45.6 เป็นเพศชาย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 6.4 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 21.8 ระบุอายุ 25-35 ปี ร้อยละ 31.7 ระบุอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 37.7 ระบุอายุ 46-60 ปี และร้อยละ 2.4 ระบุอายุ 61 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 81.4 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 18.6 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป นอกจากนี้ ร้อยละ 34.7 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ ร้อยละ 33.0 เป็นเกษตรกร/ รับจ้างแรงงาน ร้อยละ 8.6 ระบุเป็นแม่บ้าน/ พ่อบ้าน/ เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ข้าราชการ/ รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 4.6 ระบุเป็นผู้ประกอบการ ร้อยละ 2.5 ระบุเป็นนักศึกษา ร้อยละ 1.3 ระบุว่างงาน และร้อยละ 0.3 ระบุอื่นๆ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่า ร้อยละ 76.0 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 24.0 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ.

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน