เสนอคุ้มครองผู้บริโภคยุค กสทช. ต้องจุดเดียวจบ

“สารี” ห่วงผู้บริโภคสับสน ชี้กลไกคุ้มครองผู้บริโภคยุค กสทช. ต้องออกแบบให้ “จุดเดียวจบ”  มีอิสระทำงานทั้งรับและรุก  ด้านว่าที่กสทช.ประวิทย์ เตือนเตรียมรับมือปัญหาวิทยุโทรทัศน์ที่มาแบบไร้รูปแบบหน่วยงานต้องคล่องตัวแก้ปัญหาได้ทัน

 

 

 

คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ใน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดเสวนาหัวข้อ “ร่วมออกแบบกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม” เพื่อนำเสนอกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคในยุค กสทช.

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ถึงแม้ว่าพรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ จะให้ความสำคัญกับการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่มาก เช่น การบัญญัติเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคไว้ในกฎหมาย การให้มีคณะอนุกรรมการเพื่อดูแลผู้บริโภคทั้งด้านโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ แต่พรบ.ฉบับดังกล่าวได้กำหนดหน้าที่หลักของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งสองคณะคือการพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียน เว้นแต่จะมอบหมายให้ทำหน้าที่อื่น

“หากเป็นเช่นนั้นเท่ากับ พรบ.ฉบับนี้ได้ลดบทบาทในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคจนเหลือเพียงการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเป็นรายๆ เท่านั้น แต่จากบทเรียนการทำงานของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งเรามีแบรนด์นี้อยู่ คือการทำงานทั้งเชิงรับและเชิงรุก การรับเรื่องร้องเรียนเป็นงานเชิงรับที่ทำให้เห็นภาพรวมของปัญหาจากการใช้บริการซึ่งถือเป็นข้อเท็จจริงสำคัญของผู้บริโภค อันนำไปสู่การแก้ไขปัญหาเชิงรุกคือ การสื่อสารกับผู้บริโภคให้รู้สิทธิและป้องกันตัวเองจากปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้บริการ และนำไปสู่การผลักดันเชิงนโยบายซึ่งทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาในภาพรวม เช่น การกำหนดวันหมดอายุโทรศัพท์ระบบเติมเงินหรือพรีเพด รวมถึงการให้บริการคงสิทธิเลขหมายก็ตาม” นางสาวสารีกล่าว

นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า ดังนั้นเพื่อให้การทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งต้องดูแลผู้ใช้บริการทั่วประเทศทั้งด้านโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์สามารถเป็นจริง โครงสร้างของส่วนงานนี้จึงต้องมีอิสระในการบริหารงานเพื่อให้เกิดความคล่องตัว  โดยขึ้นตรงต่อ กสทช. มีส่วนงานรับเรื่องร้องเรียนเพียงจุดเดียว หรือเป็น One stop service เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงได้ง่ายไม่สับสน

นายประเสริฐ  ศีลพิพัฒน์  ว่าที่ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า งานคุ้มครองผู้บริโภคต้องทำงานเชิงรุกโดยการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคทั้งด้านโทรคมนาคมและวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้นโครงสร้างการทำงานจะต้องมีหน่วยงานที่มากกกว่าการรับเรื่องร้องเรียน และต้องมีการกำหนดบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน รวมถึงตัวแทนที่จะเป็นคณะอนุกรรมการทั้งสายวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมนั้น ต้องมีองค์ประกอบจากหลากหลายวิชาชีพ จึงเห็นว่าควรมีการนำผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) นำเสนอต่อ กสทช.เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาโครงสร้างในภาพรวมต่อไป

นายประวิทย์    ลี่สถาพรวงศา  ว่าที่ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า งานคุ้มครองผู้บริโภคสายโทรคมนาคมนั้นมีความชัดเจนแล้ว แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ด้านวิทยุโทรทัศน์ ที่ปัญหาร้องเรียนจะมาแบบไร้รูปแบบทั้งประเด็นทั้งกลุ่ม เช่นเรื่องรสนิยม เสรีภาพ ความเห็นที่แตกต่าง คาดได้ว่าจะมีเรื่องร้องเรียนเข้ามามหาศาล ดังนั้นจึงต้องมีการตั้งส่วนงานที่มีความคล่องตัว และแก้ไขปัญหาได้ทัน โดยจะนำไปหารือร่วมกับกสทช.ทุกท่าน

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน