ฉลาดซื้อ ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง สสส. เผยผลทดสอบวัตถุกันเสียในไส้กรอก พื้นที่ จ.อยุธยา พบไนเตรท สารที่ สธ.ไม่อนุญาตให้ใช้ ทุกตัวอย่าง พบซอร์บิก เกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง และพบสารไนไตรท์ แต่ไม่เกินมาตรฐาน 12 ตัวอย่าง พร้อมแนะ อย. พัฒนาระบบเฝ้าระวัง-เตือนภัยให้รวดเร็ว ตรวจสอบและ จับกุมผู้ผลิตผิดกฎหมาย
ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับองค์กรผู้บริโภคภาคกลาง และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สสส. สุ่มตรวจวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัยในอาหาร เนื่องจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดีพบเด็กป่วยด้วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน จำนวน 14 รายใน 8 จังหวัด โดยทั้งหมดกิน "ไส้กรอก" ซึ่งจากการสืบสวนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า เป็นไส้กรอกที่ผลิตจากโรงงานเถื่อนใน จ.ชลบุรี และผลวิเคราะห์จากตัวอย่างไส้กรอกที่ผู้ป่วยรับประทานทั้ง 4 ตัวอย่าง พบว่ามีปริมาณไนไตรท์เกินจากที่กฎหมายกำหนดถึง 35-48 เท่า ทำให้ อย.ขยายผลต่อเนื่องร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการผลิตไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ต่อมา อย.จับกุม 2 โรงงานผลิตไส้กรอกไม่ได้มาตรฐาน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 3-4 ก.พ. 65 แต่กลับแถลงผลเรื่องยี่ห้อของไส้กรอกที่ไม่ได้มาตรฐาน ในวันที่ 13 ก.พ. 65 ซึ่งในช่องว่างของระยะเวลาดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบ เพราะประเทศไทยไม่มีระบบการเรียกคืนสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานที่ออกจากโรงงาน และระบบการกระจายสินค้าของโรงงานไม่สามารถบอกได้ว่าส่งขายไปที่ไหนบ้าง ผู้บริโภคจึงยังคงเสี่ยงภัยกับสินค้าจากโรงงานดังกล่าว
เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคกลางจึงลงพื้นที่และทำงานร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ มพบ. ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สสส. สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอกจำนวน 17 ตัวอย่าง ภายในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ตลาดวังน้อย เมืองใหม่, ตลาดเจ้าพรหม, ห้างแมคโคร อยุธยา และร้านซีพีเฟรชมาร์ท สาขาอยุธยา เดชาวุธ และนำส่งวิเคราะห์หาปริมาณวัตถุเจือปนอาหารประเภทกรดเบนโซอิก, กรดซอร์บิก, ไนเตรท และไนไตรท์ ซึ่งเป็นวัตถุเจือปนอาหารที่ใช้เป็นสารกันเสีย สารคงสภาพของสี รวมถึงใช้เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียบางชนิด ว่าปริมาณสารเหล่านี้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยตามที่ อย. กำหนดไว้หรือไม่
วันนี้ (29 มีนาคม 2565) ภก.สันติ โฉมยงค์ เภสัชกร องค์กรผู้บริโภคภาคกลาง กล่าวสรุปผลทดสอบว่า 1.พบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ปริมาณตั้งแต่ 20.67 – 112.61 มก./กก. ทั้งนี้ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่อนุญาตให้ใช้สารไนเตรทในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธีโดยใช้ความร้อน (ไส้กรอกสุก หมูยอ ไก่ยอ ลูกชิ้น)
2.พบสารซอร์บิก ปริมาณเกินมาตรฐาน 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 2191.75 มก./กก. ซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนด ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ที่อนุญาตให้ใช้กรดซอร์บิก ซึ่งเป็นสารกันเสีย ในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์บดและผ่านกรรมวิธี ได้ไม่เกิน 1500 มก./กก. โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามใช้ร่วมกับสารกันเสียในกลุ่มไนไตรท์
3.พบสารเบนโซอิก 3 ตัวอย่าง ได้แก่ Kfm ไส้กรอกไก่รมควันหนังกรอบ ป๊อบปูล่า ปริมาณ 148.28 มก./กก., ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ปริมาณ 58.87 มก./กก. และ CFP ไส้กรอกจัมโบ้หมูรมควันหนังกรอบ ปริมาณ 41.05 มก./กก. ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ไม่มีเกณฑ์กำหนดให้ใช้วัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก
4.พบสารไนไตรท์ใน 12 ตัวอย่าง ไม่พบ 5 ตัวอย่าง ทั้งนี้ปริมาณที่พบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน (<10.00 – 53.74 มก./กก.) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มไนไตรท์ ในปริมาณไม่เกิน 80 มก./กก.
นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มพบ. และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า จากผลการทดสอบมีข้อสังเกต ดังนี้
1.มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ไส้กรอก 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบทั้งซอร์บิก เบนโซอิก และไนเตรท ได้แก่ ฮอทดอกไก่ (ไส้กรอกไก่) ตราพีแอนด์เจ ตามกฎหมายไม่อนุญาตให้ใช้สารกลุ่มซอร์บิกร่วมกับสารกลุ่มไนไตรท์ และไม่อนุญาตการใช้เบนโซอิก เท่ากับว่าผิดมาตรฐานเพิ่ม
2.การพบสารไนเตรทในทุกตัวอย่าง ทำให้เกิดข้อสงสัยในการผลิตไส้กรอก เนื่องจากเป็นสารที่ไม่ได้กำหนดมาตรฐานกับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกชนิดสุกหรือก็คือห้ามใช้ (หากเป็นไส้กรอกที่ไม่ผ่านการปรุงสุกกำหนดมาตรฐานให้ใช้ในปริมาณไม่เกิน 200 มก./กก.) แต่กลับพบในทุกตัวอย่าง ทั้งนี้การปนเปื้อนของไนเตรทอาจเป็นไปได้ทั้งจากการที่ผู้ผลิตจงใจใช้ทั้งที่กฎหมายห้าม หรืออาจเกิดจากการที่ผู้ผลิตยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนสูตรการผลิต เนื่องจากเดิมเคยอนุญาตให้ใช้ได้ในปริมาณ ไม่เกิน 500 มก./กก. ซึ่งต่อมาปรับเป็นไม่ได้กำหนดให้ใช้ ตั้งแต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 389) พ.ศ. 2561 และประกาศฉบับปัจจุบัน (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 หรือการที่พบในปริมาณน้อยอาจเกิดจากการปนเปื้อนที่มาจากวัตถุดิบหรือวัตถุเจือปนอาหารชนิดอื่นๆ ที่ใช้ร่วมกันในการผลิต
สำหรับข้อแนะนำในการบริโภคนั้น ภก.สันติ กล่าวว่า หากผู้บริโภคเลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์แปรรูปประเภทลูกชิ้น หมูยอ หรือไส้กรอกชนิดสุก ในเบื้องต้นอาจสังเกตสีของไส้กรอกที่ไม่สดจัดจนเกินไป เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีเลขสารบบอาหาร 13 หลัก (เลข อย.) สำหรับการซื้อจากร้านค้าที่อาจไม่ทราบว่าไส้กรอกเป็นผลิตภัณฑ์ยี่ห้อใด อาจขอให้ผู้ขายแสดงหีบห่อบรรจุภัณฑ์ของสินค้าที่นำมาขายเพื่อให้ทราบว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเลข อย.หรือไม่ นอกจากนี้ การบริโภคผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ควรบริโภคในปริมาณพอเหมาะ ไม่บ่อยครั้งจนเกินไป และเนื่องจากเด็กๆ จะชอบรับประทานอาหารประเภทนี้ แต่เด็กก็เป็นกลุ่มเสี่ยงคือมีความไวต่อวัตถุกันเสียโดยเฉพาะประเภทไนไตรท์ ผู้ปกครองจึงควรพิจารณาให้เลือกรับประทานอย่างเหมาะสม
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล อนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อ อย.ทราบเบาะแสแหล่งผลิตอาหารอันตราย ต้องไปตรวจค้นและต้องรายงานผู้บริโภค ทั้งยี่ห้อ โรงงาน ผลตรวจทันที นี่เป็นข้อมูลที่ผู้บริโภคต้องรู้ ซึ่งหลังจากเกิดเหตุการณ์เด็กป่วยภาวะเมธฮีโมโกลบิน สภาองค์กรของผู้บริโภคในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่แทนผู้บริโภค มีข้อเรียกร้องไปยัง อย. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล และข้อแนะนำไปยังหน่วยงานอื่นและผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ ดังนี้
1. เรียกร้องให้ อย. ประสานข้อมูลกับพื้นที่และพัฒนาระบบเฝ้าระวังและระบบเตือนภัยให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์มากยิ่งกว่านี้ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ขึ้นซ้ำอีก โดยมีการดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1.1 เชื่อมโยงข้อมูลทั้งระบบเข้าด้วยกันเพื่อความสะดวกในการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค นอกจากนี้ยังต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับสถานพยาบาลที่มักเป็นแหล่งที่มีผู้ป่วยจากการกินหรือใช้ผลิตภัณฑ์อันตรายเข้ารักษาตัวด้วย
1.2 นำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานเพื่อให้เกิดระบบการเฝ้าระวังและตรวจจับอัตโนมัติ เพื่อเตือนภัยผู้บริโภคได้ทันเหตุการณ์หากเจอผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย
1.3 สนับสนุนให้ผู้บริโภคและเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นเครือข่ายเฝ้าระวัง โดยใช้เทคโนโลยีที่ง่าย ไม่ซับซ้อนและส่งต่อข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2. ส่งต่อข้อมูลจากสถานพยาบาลไปยังจังหวัดที่พบเด็กป่วยจากการกินไส้กรอกและให้จังหวัดเหล่านั้นตรวจสอบพิสูจน์ต่อว่าโรงงานผลิตไส้กรอกที่มีอยู่ในจังหวัดขออนุญาตถูกต้องหรือไม่ และ ไส้กรอกที่ผลิตใส่สารกลุ่มไนเตรทหรือไนไตรท์เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากพบว่าผิดกฎหมายจะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาดกับผู้ผลิต ไม่ควรทำเพียงแค่การตักเตือน เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับอันตรายจากการกินอาหารอันตรายเข้าไป
3. ผู้บริโภคจะต้องไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากระบุอยู่ และต้องให้ข้อมูลหรือส่งต่อข้อมูลให้กับบุตรหลานและผู้บริโภครายอื่นๆ อีกทั้งยังต้องช่วยกันเฝ้าระวังและส่งต่อข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบติดตาม
ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค, อย. และสคบ. เข้าร่วมประชุมหารือกับสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ในประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ในการประชุมดังกล่าว องค์กรผู้บริโภค มีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1. เสนอให้มีระบบการเรียกคืนสินค้าประเภทอาหาร ในกรณีที่พบการปนเปื้อนหรือเข้าข่ายอาหารอันตราย 2. เสนอให้มีระบบการตรวจสอบย้อนกลับ ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในกรณีที่พบอาหารไม่ปลอดภัย เพราะจะทำให้สามารถสืบพบต้นตอของปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ทั้งยังเป็นการลดโอกาสที่ผู้บริโภคจะได้รับผลกระทบจากอาหารไม่ปลอดภัย และ 3. เสนอให้ อย. ยกระดับความสำคัญของกระบวนการตรวจสอบ – จัดการปัญหาหลังจำหน่าย หรือโพสต์มาร์เก็ตติ้ง (Post-Marketing) ให้เท่ากับกระบวนการตรวจสอบ – อนุญาตให้ผลิตและจำหน่ายสินค้า หรือ พรีมาร์เก็ตติ้ง (Pre-Marketing)
อ่านสรุปผลทดสอบวัตถุกันเสียในผลิตภัณฑ์ไส้กรอก พื้นที่จังหวัดอยุธยา ได้ที่ https://chaladsue.com/article/3965