มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในไตรมาสแรกของปี 2562 ชี้ปัญหาที่พบมาที่สุดยังคงเป็นเรื่องการโฆษณาเกินจริง
วันที่ 29 เมษายน 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 โดยตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมีนาคมที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 1,147 ราย
ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่งและสองยังคงเหมือนกับสถิติปี 2561 คือ เรื่องอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ 511 ราย คิดเป็นร้อยละ 44.55 ของจำนวนผู้ร้องเรียนทั้งหมด และ บริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน 300 ราย คิดเป็นร้อยละ 26.16 ส่วนอันดับที่สามเป็นเรื่อง การเงินการธนาคาร ที่ขยับขึ้นมา 1 อันดับจากปี 2561 โดยมีผู้ร้องเรียน 147 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.82
สำหรับการร้องเรียนหมวดอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (511 ราย) ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง ซึ่งมีมากถึง 282 ราย มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ทั้งนี้ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน ซึ่งนอกจากจะทำให้มีความเสี่ยงที่จะได้รับสินค้าที่ไม่มีคุณภาพและประสิทธิภาพแล้ว ยังมีโอกาสได้รับสินค้าที่มีส่วนผสมของสารอันตราย ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย
ส่วนด้านบริการสาธารณะ (300 ราย) ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการขนส่งทางบกมากที่สุด โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเยียวยาความเสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสาร ส่วนกลุ่มรถที่ถูกเฝ้าระวังและร้องเรียนมากที่สุด 4 อันดับ ได้แก่ 1. รถทัวร์โดยสาร (107 ราย) ได้รับร้องเรียนเรื่องอุบัติเหตุรถ และพฤติกรรมพนักงานขับรถ อุปกรณ์ความปลอดภัยภายในรถ 2. รถตู้โดยสาร (86 ราย) เป็นเรื่องพฤติกรรมพนักงานขับรถและอุบัติเหตุรถ 3. รถรับส่งนักเรียน (48 ราย) เป็นเรื่องการใช้รถผิดประเภทในการรับส่งนักเรียน และ 4. รถสองแถว เรื่องการบรรทุกผู้โดยสารเกินที่นั่ง
อีกประเด็นหนึ่งเกี่ยวกับบริการสาธารณะที่กำลังถูกพูดถึงและผู้บริโภคให้ความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน คือ เรื่องการขึ้นค่ารถเมล์ เมื่อวันที่ 22 เมษายนที่ผ่านมา เนื่องจากการขึ้นราคารถเมล์ครั้งนี้ส่งผลต่อการขึ้นราคาขนส่งมวลชนในรูปแบบอื่นๆ เช่น รถตู้ขนส่งมวลชน เรือโดยสาร รถมินิบัส รถโดยสารประจำทาง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องคุณภาพของรถเมล์ รวมถึงบริการของพนักงานที่ไม่ได้พัฒนาไปตามราคาค่าโดยสาร
สุดท้าย หมวดการเงินการธนาคาร (147 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่ คือ กลุ่มสินเชื่อถึง 96 ราย ลักษณะปัญหาที่ร้องเรียนจะเป็นลักษณะการทำสัญญาพิสดาร ไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นผลพวงจากคดี ‘สามล้อเอื้ออาทร’ เมื่อช่วงปลายปี 2561
จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภค โดยการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแต่ละกลุ่มปัญหา เพื่อช่วยกันหาทางออก แต่บางกลุ่มปัญหาเรื้อรัง หรือ มีเพิ่มมากขึ้น ไร้การแก้ไขเยียวยา ไม่มีหน่วยงานที่ดูแลชัดเจน กระบวนการช่วยเหลือล่าช้า ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับการเยียวยาและบางรายก็ได้รับความเสียหายมากกว่าเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- กลุ่มตุ๊กตุ๊กกว่า 40 ราย ร้อง มพบ. เหตุถูกฟ้องคดีไม่เป็นธรรม
- มพบ. ร้องกองปราบฯ คดีฉ้อโกง ‘ตุ๊กตุ๊ก’ กว่า 100 ราย
- 'ออมสิน' รับปากยื่นขอชะลอการฟ้องและบังคับคดี 'ตุ๊กตุ๊ก' พร้อมนัดฟังคำตอบ 15 ม.ค. 62
- 'ออมสิน' รับข้อเสนอ 'มพบ.' ให้กลุ่มผู้เสียหายจ่ายหนี้ตามจริง
- มพบ.โต้ หลักฐานมัดแน่น หลายภาคส่วนสมรู้ร่วมคิด อาจจะเข้าข่ายร่วมฉ้อโกง โครงการ “สามล้อเอื้ออาทร”