สถานการณ์ผู้บริโภคไตรมาส 3 พบปัญหา ‘ซื้อของไม่ได้ของ’ มากเป็นอันดับ 1

info consumersituation2020 3

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยสถานการณ์ผู้บริโภค ไตรมาส 3 ของปี 2563 พบปัญหาอันดับ 1 คือซื้อสินค้าผ่านออนไลน์แล้วไม่ได้ของ

            วันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 โดยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม - เดือนกันยายนที่ผ่านมา มพบ. และเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค ได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนทั้งหมด จำนวน 801 เรื่อง

          ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและร้องเรียนมากเป็นอันดับหนึ่ง ได้แก่ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 262 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 32.71 โดยปัญหาส่วนใหญ่ในหมวดนี้เป็นการซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า จากกรณีการหลอกขายที่นอนยางพารา (อ่านข่าวเพิ่มเติมได้ที่ : [รายงานพิเศษ] ภัยออนไลน์ : ขบวนการหลอกขายที่นอนยางพารา)

          อันดับที่ 2 เป็นเรื่องอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ พบการร้องเรียนจำนวน 179 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 22.35 ลักษณะปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง มีทั้งการแสดงสรรพคุณอันเป็นเท็จ แสดงที่ตั้งอันเป็นเท็จทำให้หลงเชื่อ ทั้งนี้ประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีปัญหามากที่สุด คือ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากผู้บริโภคใช้บริการซื้อขายผ่านร้านค้าออนไลน์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเชื่อคำโฆษณาโดยไม่ได้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ก่อน นอกจานี้ยังพบปัญหาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนผสมของสารที่น่าจะเป็นอันตราย ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายหรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตอีกด้วย

         สำหรับปัญหาที่มีการร้องเรียนมากเป็นอันดับที่ 3 คือด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข มีจำนวน 136 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 16.98 โดยลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นมีทั้งการไม่ทราบว่าตัวเองมีสิทธิรักษาพยาบาลอะไร อีกทั้งปัญหาการปิดคลินิกชุมชนอบอุ่นในเขตกรุงเทพมหานครช่วงเดือนกันยายน ทำให้มีใช้สิทธิบัตรทองได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก แต่ไม่สามารถติดต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้ เนื่องจากไม่มีข้อมูล จึงได้ขอคำปรึกษามายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

         จากสถิติที่กล่าวไปข้างต้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และองค์กรเครือข่ายผู้บริโภคทั่วประเทศ ได้รับเรื่องและดำเนินการช่วยเหลือผู้บริโภคได้เสร็จสิ้น จำนวน 489 เรื่อง ส่วนปัญหาการปิดสถานพยาบาลในเขตกรุงเทพฯ ยังมีผู้บริโภคสอบถามเข้ามาเป็นระยะ ทั้งนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายในกรุงเทพฯ ได้ร่วมมือกับสปสช. ให้คำปรึกษาและแจ้งข่าวสารให้กับผู้บริโภคทราบ เพื่อไม่ให้ตื่นตระหนกและสามารถใช้สิทธิได้ทุกโรงพยาบาลเนื่องจากทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพได้แจ้งสิทธิว่างให้กับผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบ 

          ส่วนปัญหาที่ยังดำเนินการเป็นเรื่องการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ แล้วไม่ได้รับสินค้า การโอ้อวดคุณภาพเกินจริง เช่น ที่นอนยางพารา อาหารเสริมบำรุงสุขภาพและความงาม ยังคงดำเนินการ่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิทักษ์สิทธิผู้บริโภคต่อไป

Tags: โฆษณาเกินจริง, มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., บัตรทอง, สถานการณ์ผู้บริโภค63, ที่นอนยางพารา, มหากาพย์ที่นอนยางพารา, คลินิกชุมชนอบอุ่น

พิมพ์ อีเมล