หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มพบ. ระบุ พ.ร.บ. ทวงหนี้ ไม่กระทบต่อสิทธิเจ้าหนี้

money

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ ไม่กระทบต่อสิทธิเจ้าหนี้ 

          จากกรณีคลิปวิดีโอที่กำลังโด่งดังในโลกโซเชียล “เจ๊เอ๋ ทวงหนี้สายโหด” ที่ทวงเงินจากลูกหนี้ด้วยถ้อยคำและกิริยาที่ไม่สุภาพ รวมทั้งมีการพูดถึงพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ว่าคุ้มครองแต่ลูกหนี้ และตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีกฎหมายที่คุ้มครองเจ้าหนี้จากการถูกโกงนั้น

          วันนี้ (22 พฤศจิกายน 2562) นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อธิบายถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าวว่า พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้และผู้ติดตามทวงถามหนี้ โดยไม่มีมาตราใดที่ห้ามการทวงถามหนี้ เพียงแต่เจ้าหนี้และผู้ติดตามทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียน หรือได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อให้หน่วยงานสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้ได้ เนื่องจากเมื่อก่อนมีกรณีที่เจ้าหนี้นอกระบบไปข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายลูกหนี้จนได้รับเจ็บหรือเสียชีวิต นอกจากนั้นในการทวงถามหนี้ หากผู้ติดตามทวงถามต้องรับชำระหนี้จากลูกหนี้ จะต้องมีเอกสารที่แสดงว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าหนี้ให้ติดตามทวงถามและสามารถรับชำระหนี้ได้ด้วย

          นางนฤมลกล่าวต่ออีกว่า เนื้อหาที่กำหนดใน พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ แบ่งเป็นสองลักษณะ คือ สิ่งที่ห้ามทำ และเวลาในการทวงหนี้ สำหรับสิ่งที่ห้ามทำ ได้แก่ 1. การข่มขู่ ทำให้ลูกหนี้กลัว หรือทำร้ายร่างกาย 2. การทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าผู้ติดตามทวงถามหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับศาล และ 3. การประจาน หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ที่อยู่รอบตัวลูกหนี้ เช่น ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน

          “ตามหลักกฎหมายกำหนดให้ผู้ติดตามทวงถาม สามารถทวงถามหนี้ได้เฉพาะกับลูกหนี้เท่านั้น ยกเว้นลูกหนี้มีการระบุชื่อคนอื่นๆ ที่สามารถทวงถามหนี้ได้ลงในสัญญา ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อลงในสัญญา ผู้ติดตามทวงถามหนี้ไม่มีสิทธิ์พูดคุยหรือสอบถามในลักษณะที่เกี่ยวกับหนี้โดยเด็ดขาด ทำได้เพียงการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือคนที่ลูกหนี้ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น” นางนฤมลกล่าว

          สำหรับเรื่องเวลาในการทวงถามหนี้ นางนฤมลกล่าวว่า กฎหมายกำหนดให้ ในวันทำการ (วันจันทร์ - วันศุกร์) สามารถติดต่อทวงถามหนี้ได้ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถทวงถามหนี้ได้ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 18.00 น.

          ส่วนที่ในคลิปมีการระบุว่า ลูกหนี้จำนวน 10 คน รวมตัวกันไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วไม่ต้องชำระหนี้นั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีระบุอยู่ในกฎหมาย แต่ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้หรือผู้ติดตามทวงถามหนี้ปฎิบัติอย่างไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งเรื่องไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกรมการปกครอง แล้วหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนก็จะเสนอเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป

          ดังนั้น การมีพ.ร.บ. การทวงถามหนี้จึงไม่ได้หมายความว่าลูกหนี้จะสามารถหลีกเลี่ยงการชำระหนี้ได้ อีกทั้งปัจจุบันมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้อยู่แล้ว โดยหากลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องเพื่อให้ศาลบังคับชำระหนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535*

* ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535

มาตรา 194 ด้วยอำนาจแห่งมูลหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิจะเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ได้ อนึ่ง การชำระหนี้ด้วยงดเว้นการอันใดอันหนึ่งก็ย่อมมีได้

มาตรา 203 ถ้าเวลาอันพึงจะชำระหนี้นั้นไม่ได้กำหนดลงไว้ หรือจะอนุมานพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ ท่านว่าเจ้าหนี้ย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลัน และฝ่ายลูกหนี้ก็ย่อมจะชำระหนี้ของตนได้โดยพลันดุจกัน

มาตรา 213 ถ้าลูกหนี้ละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตน เจ้าหนี้จะต้องร้องขอต่อศาลให้สั่งบังคับชำระหนี้ก็ได้ เว้นแต่สภาพแห่งหนี้จะไม่เปิดช่องให้ทำเช่นนั้น

และมาตรา 214 (3) เจ้าหนี้มีสิทธิที่จะให้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้โดยสิ้นเชิง รวมทั้งเงินและทรัพย์สินอื่นๆ ซึ่งบุคคลภายนอกค้างชำระแก่ลูกหนี้ด้วย 

Tags: พ.ร.บ.การทวงถามหนี้, เจ๊เอ๋, ทวงหนี้, ทวงหนี้โหด, ลูกหนี้

พิมพ์ อีเมล