‘ตัวแทนผู้เสียหายทัวร์ ELC’ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือ ปปง. ให้เร่งรัดและติดตามคดีให้เร็วที่สุด

news pic 27092019 elctour 1

‘ตัวแทนผู้เสียหายทัวร์ ELC’ และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นหนังสือ ปปง. ให้เร่งรัดและติดตามคดีให้เร็วที่สุด เพราะมีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก ด้านเลขานุการ ปปง. แจง อยู่ระหว่างขั้นตอนการรวบรวมพยานหลักฐาน จะพยายามตรวจสอบโดยเร็ว ส่วนนักวิชาการ มพบ. ชี้ การเกิดขึ้นของสภาองค์กรผู้บริโภค จะทำให้กลุ่มผู้บริโภคไม่ต้องเดินไปร้องเรียนหลายหน่วยงานเช่นกรณีนี้

จากการที่บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จํากัด บริษัททัวร์ที่มีการโฆษณาขายโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างประเทศผ่านสื่อออนไลน์ในราคาถูก และมีการจ่ายเงินล่วงหน้ามากกว่า 1 - 2 ปี แต่เมื่อถึงกำหนดการเดินทางกลับไม่สามารถเดินทางไปได้ จนทำให้มีผู้เสียหายได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น

        ล่าสุด นายภัทริคณ์ เรตะกุล กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทดังกล่าว ถูกจับกุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยตำรวจสถานีตำรวจหัวหมาก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (TACTICS) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ร่วมสืบสวนสอบสวนเส้นทางการเงินของนายภัทริคณ์ เรตะกุล พบว่า มีเงินที่โอนออกนอกระบบไปยังที่ต่างๆ อย่างผิดปกติ และมีผู้รับโอนเงินต่อเป็นจำนวนมากกว่า 100 คน ทั้งกลุ่มบุคคลใกล้ชิดและกลุ่มบุคคลที่มีผลประโยชน์ร่วมเป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังมีการโอนเงินเกี่ยวโยงทั้งรายการที่เป็นบริการท่องเที่ยวบางส่วน และเป็นรายการโอนไปทำธุรกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวออกไป โดยอาศัยการเปิดบริษัทท่องเที่ยวบังหน้า ซึ่งอาจมีการร่วมกันฟอกเงินตามกฎหมายการฟอกเงินและความผิดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องnews pic 27092019 elctour 2

        วันนี้ (27 กันยายน 2562) เวลา 10.45 น. ที่ ปปง. ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อโปรแกรมทัวร์เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กับ บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด และนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เข้ายื่นหนังสือกับ ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการ ปปง. เพื่อขอให้เร่งรัดสั่งการ ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคดีดังกล่าว และเพื่อสืบและติดตามเส้นทางการเงินที่นายภัทริคณ์ เรตะกุล ได้ยักย้ายถ่ายเทไปอย่างผิดกฎหมายให้กับกลุ่มบุคคลใกล้ชิดที่มีเป็นจำนวนมาก รวมถึงการนำเงินกลับคืนให้กับผู้เสียหาย

        เรณู เวชรัชต์พิมล ตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ได้ไปร้องเรียนที่กรมการท่องเที่ยว (กทท.) แจ้งความที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และนำข้อมูลที่เป็นหลักฐานเพิ่มเติมที่ สน.หัวหมาก โดยทุกหน่วยงานที่ได้ไปร้องเรียนให้ความช่วยเหลืออย่างดี คือ หน่วยงานนั้นๆ จะมีการตั้งแผนกที่ดูแลคดีดังกล่าวขึ้นมาเฉพาะ เนื่องจากทราบว่ามีผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก และในวันนี้ก็มาติดตามและเร่งรัดกับ ปปง. ให้มีการดำเนินการให้รวดเร็วที่สุด เพราะมีผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายมากด้วย ประกอบกับทาง สน. หัวหมาก แจ้งว่าได้ประสานกับ ปปง. เกี่ยวกับคดีนี้แล้ว จึงมาติดตามในวันนี้

          ส่วนมะลิ ไพบูลย์บุษราคัม อีกหนึ่งในผู้เสียหาย กล่าวว่า หลังจากที่ทราบว่าตัวเองอาจถูกฉ้อโกง และด้วยความที่ไม่มีความรู้ในเรื่องการร้องเรียนมาก่อน จึงไปร้องเรียนมาหลายหน่วยงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 ทั้งกรมการท่องเที่ยว (กทท.) ที่ไปร้องเรียนเป็นหน่วยงานแรก เพราะเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง หลังจากนั้นจึงไปร้องเรียนที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพราะมองว่าเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค และต่อมาได้แจ้งความที่สำนักงานตำรวจในพื้นที่ที่อยู่ใกล้ แต่สุดท้ายกลับได้รับคำชี้แจงจากเจ้าหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานตอบกลับมาว่ายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบข้อมูล อีกทั้งคิดว่ายังหน่วยงานยังมีความล่าช้าในการช่วยเหลือด้วย

        ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัดสินใจไปฟ้องร้องคดีด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าอาจทำให้ขั้นตอนการดำเนินการรวดเร็วขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ และประกอบกับไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย อีกทั้งทราบมาว่าหากเป็นคดีผู้บริโภค ศาลจะมีเจ้าหน้าที่เขียนคำร้องให้ จึงเลือกฟ้องร้องด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามเมื่อได้ดำเนินการฟ้องร้องจนศาลมีคำพิพากษาออกมาว่าให้บริษัทฯ ดังกล่าวแพ้คดีและต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้ซื้อโปรแกรมการท่องเที่ยว แต่กลับไม่ได้ชดใช้ให้ ทำให้จะต้องสืบทรัพย์ของบริษัทฯ ขณะที่ตัวเองคิดว่าหากจะต้องจ้างทนายความเพื่อมาสืบทรัพย์ ทั้งๆ ที่ตัวเองถูกฉ้อโกงอยู่แล้ว จึงมีความกังวลว่าเมื่อสืบทรัพย์ไปนั้น ตัวเองจะได้รับการชดใช้จริงๆ หรือไม่

        ที่มาวันนี้ ส่วนหนึ่งมาตามเรื่องของตัวเองด้วยที่ไปแจ้งที่ สน. เอาไว้ เผื่อว่าทางนี้อาจสืบทรัพย์ได้และมีความหวังจะได้รับเงินคืน และอีกส่วนหนึ่ง คือ ต้องการที่จะมาช่วยผู้เสียหายด้วยกัน ผู้เสียหายบางคนเป็นผู้สูงอายุหรืออาจติดธุระที่ไม่สามารถมาวันนี้ได้ จึงมา ปปง. ในวันนี้ และหากเจ้าหน้าที่ต้องการข้อมูล หรือ หลักฐานเพิ่มเติม ก็อาจช่วยให้ข้อมูลได้

“วันนี้เป็นการมาเร่งรัดและติดตามข้อมูลกับทาง ปปง. ว่ามีการดำเนินการไปถึงไหน หรือมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ คาดหวังว่าจะสามารถติดตามเส้นทางการเงินที่ผู้กระทำผิดโอนไปยังที่ต่างๆ ได้ทัน แต่มีความกังวลว่าหากหากหน่วยงานดำเนินการล่าช้า คิดว่าจะส่งผลให้คดีนี้ล่าช้าออกไปอีก รวมถึงเงินเหล่านั้นอาจถูกโอนไปที่อื่นและอาจมีการกระจายออกไปเรื่อยๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่รู้ว่าอีกกี่ปีถึงจะตามมาได้ครบ” มะลิกล่าวnews pic 27092019 elctour 5

ขณะที่ ร.ต.อ.ไพรัตน์ เทศพานิช เลขานุการ ปปง. กล่าวว่า ทางเลขาธิการ ปปง. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับเรื่องนี้ และได้สั่งการให้ติดตามเรื่องนี้เป็นพิเศษ โดยให้พนักงานและเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ติดตามเรื่องดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและตรวจสอบ โดยจะพยายามเร่งรัดให้เร็วที่สุดnews pic 27092019 elctour 3

        ด้านนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่า เนื่องจากมูลนิธิฯ ก็ได้รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้เสียหาย จำนวน 124 รายจากการซื้อโปรแกรมการท่องเที่ยวจากบริษัทฯ ดังกล่าว ดังนั้น ในวันนี้จึงมายื่นหนังสือเพื่อขอให้ตรวจสอบ เร่งรัด และติดตามเส้นทางการเงินของบริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด โดยเร็วที่สุด รวมถึงการตรวจสอบคณะกรรมการบริษัทฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ตามพระราชบัญญัติปองกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมทุกฉบับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาตามสิทธิ และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคเป็นส่วนรวม

        ส่วนโสภณ หนูรัตน์ นักวิชาการกฎหมาย มพบ. กล่าวว่า จากปัญหาที่ผู้บริโภคถูกหลอกซื้อโปรแกรมการท่องเที่ยวต่างประเทศในราคาถูกจากกลุ่มเฟซบุ๊ก พบว่า มีผู้ได้รับความเสียหายและมีมูลค่าความเสียหายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคต้องไปร้องเรียนหลายหน่วยงาน อาทิ กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ศูนย์ปราบปรามด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ กทท. สคบ. และล่าสุดก็มาติดตามกับ ปปง. ในวันนี้ 

        ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคยังไม่มีตัวแทน ต้องมีภาระวุ่นวาย เดินทางร้องเรียนหลายหน่วยงาน เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย หากมีสภาองค์กรผู้บริโภค* ซึ่งเกิดจากการรวมตัวขององค์กรผู้บริโภคเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่เป็นตัวแทนของผู้บริโภคตาม มาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ผู้บริโภคก็จะไม่ต้องเดินทางไปร้องเรียนหลายหน่วยงานเช่นนี้ สามารถร้องผ่านองค์กรผู้บริโภค และให้สภาองค์กรผู้บริโภคช่วยทำหน้าที่เจรจาต่อรองกับผู้ประกอบการ พร้อมติดตาม ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานรัฐในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค อีกทั้งช่วยฟ้องคดีให้กับผู้บริโภคเพื่อเยียวยาความเสียหายได้ด้วย

 

*สภาองค์กรผู้บริโภค เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ ที่นี่ 

Tags: ปปง., ทัวร์ELC, ELCTour, ทัวร์, ทัวร์ต่างประเทศ

พิมพ์ อีเมล