‘ฉลาดซื้อ’ ตรวจซ้ำสารกันบูดในโรตีสายไหม พบยังเกินมาตรฐาน

roti season2 news pic 01

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบโรตีสายไหม รอบ 2 พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน 6 จาก 13 ตัวอย่าง แนะหน่วยงานกำกับดูแลสุ่มตรวจจริงจัง พร้อมให้ความรู้ผู้ประกอบการ

          วันนี้ (29 พฤษภาคม 2562) ณ ห้องประชุมชั้น 2 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ภายใต้โครงการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สุ่มเก็บตัวอย่างโรตีสายไหม จำนวน 13 ตัวอย่าง จากร้านค้าโรตีสายไหมใน จ.พระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิก และสีผสมอาหารสังเคราะห์เป็นครั้งที่สอง จากก่อนหน้านี้ที่เคยสุ่มตรวจครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2561

roti season2 news pic 3

          นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร หัวหน้ากองบรรณาธิการ นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ผลทดสอบครั้งนี้พบโรตีสายไหมที่มีปริมาณสารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิกเกินมาตรฐาน จำนวน 6 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 46 ได้แก่ 1) ร้านแม่ชูศรี พบกรดเบนโซอิก 3281.56 มก./กก. 2) ร้านบังเปีย อามีนะห์ แสงอรุณ พบกรดเบนโซอิก 1590.67 มก./กก. 3) ร้านวริศรา โรตีสายไหม พบกรดเบนโซอิก 1442.81 มก./กก. 4) ร้านบังหมัด พบกรดเบนโซอิก 1251.81 มก./กก. 5) ร้านไคโร น้องชายบังอิมรอน พบกรดเบนโซอิก 1114.79 มก./กก. และ 6) ร้านเรือนไทย พบกรดเบนโซอิก 1024.60 มก./กก.  ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่องวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิกสูงสุดได้ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักอาหาร 1 กิโลกรัม หากผู้บริโภคได้รับสารกับูดในปริมาณมากอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ได้แก่ อาการวิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน หรืออาจทำให้ระบบทางเดินอาหารเกิดการระคายเคือง อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงช็อกเฉียบพลัน หายใจไม่ออก หรือเป็นลมหมดสติได้

roti season2 OK press 02

          ส่วนอีก 7 ตัวอย่าง มีปริมาณสารกันบูดไม่เกินมาตรฐาน ได้แก่ 1) ร้านอาบีดีน + ประนอม แสงอรุณ
พบกรดเบนโซอิก
19.87 มก./กก. 2) ร้านวรรณพร พบกรดเบนโซอิก 526.67 มก./กก. 3) ร้านจ๊ะโอ๋ พบกรดเบนโซอิก 574.58 มก./กก. 4) ร้านเอกชัย (B.AEK) พบกรดเบนโซอิก 575.34 มก./กก. 5) ร้านประวีร์วัณณ์ พบกรดเบนโซอิก 620.87 มก./กก. 6) ร้านศิลัคข บังอารีย์ แสงอรุณ เจ้าเก่า พบกรดเบนโซอิก 751.19 มก./กก. และ 7) ร้านแกรนด์ โรตีสายไหม (โรตี ล้อเล็ก) พบกรดเบนโซอิก 867.70 มก./กก.

roti season2 OK press 01

          นางสาวทัศนีย์กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการทดสอบสีผสมอาหารสังเคราะห์พบว่า มีแผ่นแป้งโรตี จำนวน 2 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณสีผสมอาหารสังเคราะห์ ในกลุ่มสีเหลือง คือ ตาร์ตราซีน (Tartrazine) เกินมาตรฐาน ได้แก่ ร้านวรรณพร ตรวจพบปริมาณ ตาร์ตราซีน 59.76 มก./กก. และร้านประวีร์วัณณ์     ตรวจพบปริมาณ ตาร์ตราซีน 57.41 มก./กก ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 381) พ.ศ. 2559 อนุญาตให้ใช้ ตาร์ตราซีน ได้สูงสุดไม่เกิน 50 มก./กก. สำหรับอาหารในกลุ่มขนมหวานที่มีธัญชาติและสตาร์ชเป็นส่วนประกอบหลัก

roti season2 news pic 5

          ภก.สันติ โฉมยงค์เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า หากเทียบสัดส่วนการสุ่มตรวจพบปริมาณสารกันบูดในโรตีสายไหมที่เกินมาตรฐาน ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 ยังคงไม่แตกต่างกันมาก โดยในครั้งแรกพบว่า มีร้านค้าโรตีสายไหม จำนวน 4 ร้าน จากทั้งหมด 10 ร้าน ที่ตรวจพบปริมาณสารกันบูดเกินมาตรฐาน (คิดเป็นร้อยละ 40) และในครั้งที่สองพบว่า มี 6 ร้าน จาก 13 ร้าน ที่ปริมาณสารกันบูดเกินที่มาตรฐาน (ประมาณร้อยละ 46) แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือ ร้านโรตีสายไหมที่เคยตรวจพบสารกันบูดเกินมาตรฐานในครั้งแรก ยังคงตรวจพบปริมาณสารกันบูดมากกว่าเดิมในครั้งที่สอง และยังพบว่าร้านโรตีสายไหมที่สุ่มตรวจใหม่เพิ่มเติมบางร้านก็มีสารกันบูดเกินมาตรฐาน

          “ทั้งนี้ หากต้องการบริโภคโรตีสายไหม แนะนำให้เลือกซื้อเส้นสายไหมและแผ่นแป้งที่มีสีไม่เข้มจัดเพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคสีผสมอาหารสังเคราะห์ ส่วนสารกันบูดในแป้งโรตีนั้น วิธีการสังเกตอย่างง่ายหากซื้อมา 2-3 วันแล้วยังไม่มีราขึ้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าน่าจะใส่สารกันบูดในปริมาณมาก แต่หากเป็นแป้งที่ใส่สารกันบูดน้อยก็จะเสียเร็ว ดังนั้นจึงควรซื้อโรตีสายไหมที่ทำสดใหม่ และบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับสารกันบูดมากจนเกินไป” ภก.สันติกล่าว

          ภก.สันติ กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการควบคุมดูแล อยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงพื้นที่สุ่มตรวจโรตีสายไหมที่วางจำหน่ายในจังหวัด หากพบร้านค้าใดใช้สารกันบูดหรือสีผสมอาหารสังเคราะห์เกินปริมาณที่กำหนด ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารให้กับผู้บริโภค และเห็นว่าควรมีการจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้วัตถุเจือปนอาหาร แก่ผู้ประกอบการร้านค้า เช่น การใช้เครื่องมือชั่ง ตวง วัด วัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูดและสีผสมอาหารสังเคราะห์ เมื่อผู้ประกอบการสามารถใช้วัตถุเจือปนอาหารได้อย่างถูกต้อง ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตออกมาก็จะมีคุณภาพมาตรฐาน

 

ติดตามชมเฟซบุ๊กไลฟ์ ได้ที่: 
ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ "สารกันบูด และ สีผสมอาหารสังเคราะห์" ใน โรตีสายไหม (ภาค 2) รวม 13 ร้านค้า 

หรืออ่านข่าวผลทดสอบโรตีสายไหมครั้งที่ 1 ได้ที่: 
สงกรานต์นี้… อย่าลืม! ดูให้ดีก่อนเลือกซื้อโรตีสายไหม น้ำพริกหนุ่ม แกงไตปลาแห้ง เพราะมีสารกันบูดเกินเกณฑ์ ส่วนน้ำปลาร้าปรุงสำเร็จพบโลหะหนัก แต่ปลอดภัย 

 

QR Roti season2 

สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่ออ่านบทความฉบับเต็ม

นิตยสารฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบโรตีสายไหม รอบ 2 พบสารกันบูดเกินมาตรฐาน 6 จาก 13 ตัวอย่าง แนะหน่วยงานกำกับดูแลสุ่มตรวจจริงจัง พร้อมให้ความรู้ผู้ประกอบการ

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, นิตยสารฉลาดซื้อ, โรตีสายไหม, ของฝาก, อยุธยา

พิมพ์ อีเมล