หวั่นร่างกม.กสทช. เปิดทุนนอกฮุบคลื่น

นักวิชาการชี้ พ.ร.บ.กสทช.เอื้อประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ เปิดทางต่างชาติฮุบธุรกิจโทรคมนาคมสื่อสาธารณะมากขึ้น

นายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านสื่อสารและสารสนเทศ เปิดเผยว่า หากร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.... หรือ กสทช. มีการประกาศใช้ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีทุนมากเท่านั้นถึงจะถือครองสิทธิคลื่นความถี่ได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาครอบครองกิจการด้านสื่อสาร วิทยุ และโทรทัศน์มากขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากในร่างกฎหมายได้ระบุวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้ใช้การประมูล คลื่นความถี่เท่านั้น ซึ่งหลายประเทศในยุโรปเคยใช้รูปแบบดังกล่าวมาแล้ว และเกิดปัญหาทุนใหญ่กินทุนเล็ก ทุนต่างชาติกินทุนไทย และปัญหาตามมาคือการผลักภาระให้กับผู้บริโภค ถึงแม้ภาครัฐจะได้รับเงินจากการประมูลมาเป็นจำนวนมหาศาลก็ตาม

“เมื่อก่อนยุโรปใช้วิธีนี้กันมาก แต่ต่อมาในหลายประเทศในยุโรป ฮ่องกง และญี่ปุ่น ไม่ใช้กันแล้วแต่บ้านเรากลับเลือกวิธีที่ไม่ถูก เพราะไม่ได้พิจารณาจากผลประโยชน์ของคนที่ใช้จะได้รับ ขณะที่ไทยได้กำหนดวิธีการประมูลเป็นวิธีเดียวที่ใช้จัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งต่างจากต่างประเทศที่ไม่ระบุรายวิธีหรือไม่ระบุวิธีการเลย” นายอานุภาพ กล่าว

ทั้งนี้ เห็นว่าวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ควรใช้วิธีการประกวดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ดีที่สุด เช่น ผู้ที่ชนะประมูลจะต้องกำหนดว่าจะให้ประโยชน์แก่สาธารณะในรูปแบบค่าโทร.ไม่ เกิน 50 สตางค์ เป็นต้น โดยวิธีนี้เริ่มมีการใช้ในหลายๆ ประเทศ แต่ประเทศไทยกลับใช้วิธีเดียวคือการประมูล ซึ่งเมื่อกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้ ผู้ที่มีทุนน้อยจะหมดสิทธิ์ทันที

ทั้งนี้ การที่ร่าง พ.ร.บ.กสทช. ยังไม่ชัดเจนเรื่องการคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ระบุว่าจะให้คืนเมื่อใด ซึ่งอนาคตจะก่อให้เกิดการถกเถียงจนไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ เท่ากับสร้างการผูกขาด และไม่เท่าทันเทคโนโลยี ส่งผลให้หากมีการส่งคลิปที่ผิดกฎหมายจะใช้กฎหมายใดมาควบคุม หรือหากมีบริการ 3จี เกิดขึ้นและมีการตั้งสถานีโทรทัศน์บนมือถือการกำกับดูแลควรเป็นกฎเกณฑ์ด้าน โทรคมนาคมหรือโทรทัศน์ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ระบุไว้

สำหรับร่าง พ.ร.บ.กสทช. ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วม 2 สภา ซึ่งตามร่างที่วุฒิสภาแก้ไขมามีด้วยกัน 23 มาตรา ครอบคลุม 4 ประเด็นสำคัญ คือ องค์ประกอบของ กสทช. วุฒิสภากำหนดให้มี 15 คน จากร่างเดิมที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎรไป 11 คน คุณสมบัติของ กสทช. วุฒิสภาแก้ไขให้บุคคลที่จะมาทำหน้าที่ กสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 70 ปีบริบูรณ์จากเดิมที่ร่างของส.ส.กำหนดให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีการจัดทำแผนแม่บท วุฒิสภาแก้ไขให้การจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ของ กสทช. ต้องมีระยะเวลาในการรับฟังความคิดเห็นในการจัดทำแผนแม่บทไม่น้อยกว่า 30 วัน และต้องกำหนดรายละเอียด เพื่อใช้งานด้านความมั่นคงของรัฐอย่างเพียงพอ เหมาะสม ขณะที่ร่างของสภาผู้แทนราษฎรไม่มีการกำหนดระยะเวลาในการจัดทำแผนแม่บท รวมไปถึงไม่ได้กำหนดเรื่องรายละเอียดเกี่ยวกับงานความมั่นคงของรัฐ

รวมทั้ง การนำส่งรายได้ให้ กสทช.ของทีโอที และ กสท โทรคมนาคม วุฒิสภาบัญญัติให้เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศบังคับใช้ โดยให้หักค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง กสทช.จะนำส่งเงินดังกล่าวเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

ข้อมูลจาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 8/11/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน