ร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต้องมีกลไกแก้ปัญหาผู้บริโภคแท้จริง

ผอ.สบท. ชี้ ร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ต้องมีกลไกทำงานอย่างชัดเจน ด้านเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคระดมความคิดเรียกร้องให้ร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวต้องมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในฐานะผู้บริโภค

 

วันที่ 26 เมษายน นพ. ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา  ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ

โทรคมนาคม (สบท.) กล่าวเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ…. ในเวทีย่อยงานประชุมสมัชชาผู้บริโภค “เงินของเรา สิทธิของใคร  (Your Money Your Rights) 10 บาท เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค”  ซึ่งจัดโดยเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  ที่โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี ว่า ขณะนี้ตัวร่างพ.ร.บ. ดังกล่าวกำลังอยู่ในชั้นวุฒิสภา ซึ่งในร่างพ.ร.บ.นั้นต้องเป็นบทบัญญัติที่มีกลไกคุ้มครองผู้บริโภคอย่างชัดเจน มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับเรื่องร้องเรียนและแก้ปัญหาเชิงระบบได้ ไม่เฉพาะแต่การจัดการเรื่องร้องเรียนรายกรณีเท่านั้น  นอกจากนี้ยังต้องสามารถเชื่อมโยงกับหน่วยบังคับใช้กฎหมาย และประสานงานกับหน่วยงานทั่วประเทศได้

 

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า การกำกับดูแลขององค์กรจัดสรรคลื่นฯ นั้นเป็นการดำเนินการทางปกครอง โดยในส่วนของด้านโทรคมนาคมจะเน้นที่ตัวบริการ ไม่ใช่เนื้อหา แต่ปัญหาที่พบในปัจจุบันนั้นคาบเกี่ยวกับบริการด้านเนื้อหา เช่น การขายของ  การชิงโชค เป็นต้น ซึ่งวิธีที่สามารถจัดการกับปัญหาได้ คือ การร้องเรียน ทว่าแม้ในปัจจุบันจะมีผู้บริโภคประสบปัญหาจำนวนมากและมีการร้องเรียนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังพบว่าคนไทยใช้สิทธิร้องเรียนน้อยมากเพียงร้อยละ 2 เท่านั้น

 

“สาเหตุอาจมาจากการคุ้มครองผู้บริโภคไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้บริโภคไม่ร้องเรียน ในทางกลับกันหากมีการร้องเรียนมากก็ต้องมีกลไกเข้าถึงข้อมูล ติดตามตรวจสอบการให้บริการก่อนถึงคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ” นพ.ประวิทย์กล่าวและว่า สำหรับการจัดการด้านวิทยุนั้นไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องเนื้อหา แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องสัญญาณและการเอาเปรียบ จึงจำเป็นต้องสร้างมิติของการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน  เช่น ให้ชาวบ้านฟังกันเองและร้องเรียนเข้ามา

 

นายต่อพงษ์  เสลานนท์  อุปนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า  ในการให้บริการนั้น  ต้องมีผู้ประกอบการมากรายให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลือกใช้ในราคาและคุณภาพดี  ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญจำเป็นต้องมีกลไกแท้จริงที่ทำงาน  แต่ในตัวร่าง พ.ร.บ. กลับเป็นแค่เรื่องของอนุกรรมาธิการ เช่น มาตรา 31 เกี่ยวกับการให้อำนาจ หน้าที่ กสทช. ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการนั้นยังระบุไม่ชัดเจน “อำนาจหน้าที่ไม่ชัดเจนจะเป็นกลไกที่เหมาะสมได้จริงหรือไม่”

 

นายต่อพงษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้การแยกกลไก 2 กลไกออกจากกัน คือการดูแลด้านวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์  และการดูแลด้านกิจการโทรคมนาคม อาจทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการกำกับดูแลมากขึ้น ซึ่งจุดยืนคือ ข้อเสนอต้องถกเถียงเรื่องสัดส่วนของผู้บริโภคในการช่วยดูแลหรือมีส่วนร่วม

 

ด้านตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ได้กล่าวเสนอแนะในที่ประชุม โดยสาระสำคัญคือ ในการจัดทำร่างพ.ร.บ. ควรให้ผู้ภาคประชาชนมีส่วนร่วม เกิดการรวมตัวกันในฐานะผู้บริโภค นอกจากนี้ในแต่ละมาตราควรระบุข้อบัญญัติต่างๆ ให้ชัดเจนเพื่อคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค เช่น  มาตรา 57 (4) เกี่ยวกับการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียน เสนอให้เป็นความรับผิดชอบขององค์การอิสระ และควรเพิ่มบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการเผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสาร เป็นต้น

 

นายบริภัทร  เพ็ญศรีชล นิสิตคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเสนอเพิ่มเติมว่า การมีองค์กรอิสระนั้นควรมีอำนาจรัฐเป็นกลไกเข้ามาช่วยกำกับหน้าที่ในการดูแลทั้งต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการอย่างแท้จริง

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน