สคร.ประเมินทีโอที1.39แสนล้านแก้สัญญาเอื้อชิน

"สคร." เสนอ "กรณ์" ประเมินความเสียหายแก้สัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่และภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป ทำ "ทีโอที" สูญตลอดสัญญาสัมปทาน 1.39 แสนล้านบาท เสนอเพิกถอนสัญญาเรียกค่าเสียหาย

ตามที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปพิจารณาเพื่อดำเนินการเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมในคดีแพ่งนั้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้ประเมินความเสียหายเพื่อเสนอให้นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รับทราบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับบมจ.ทีโอที จากการแก้ไขสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่สัญญาตลอดอายุสัมปทาน และการหักค่าสัมปทานออกจากภาษีสรรพสามิตที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนกฎหมาย รวมมูลค่าประมาณ 139,290 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.การปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องจ่ายให้ ทีโอที จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (มือถือ) แบบบัตรเติมเงิน ให้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตรา 25-30% มูลค่าความเสียหายตลอดอายุสัญญาสัมปทาน 87,390 ล้านบาท

2.การแก้ไขสัญญาสัมปทานให้เอไอเอสนำรายจ่ายการใช้เครือข่ายร่วม หรือโรมมิ่ง กับผู้ประกอบการรายอื่นมาหักออกจากรายได้ค่าโรมมิ่งก่อนคำนวณส่วนแบ่งรายได้ ให้แก่ ทีโอที ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน มูลค่าความเสียหายอีกประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท และ 3.การอนุมัติให้นำภาษีสรรพสามิตกิจการโทรคมนาคมมาหักออกจากการจ่ายส่วนแบ่ง รายได้สัมปทาน ทำให้ ทีโอที ขาดรายได้อีก 3.2 หมื่นล้านบาท

โดย สคร.มีความเห็นว่า กระทรวงไอซีทีและทีโอทีควรใช้วิธีเพิกถอนสัญญาที่ไม่ถูกต้องแทนการยกเลิก สัญญา เพราะหากเอกชนไม่จ่ายค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่หน่วยงานของรัฐ ทีโอที ในฐานะคู่สัญญาสามารถฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งกับภาคเอกชนคู่สัญญาได้

แหล่งข่าวกล่าวว่า จากนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ไขสัญญาสัมปทานให้ถูกต้อง หากสามารถแก้ไขสัญญาต่างๆ เสร็จเร็ว ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับหน่วยงานของรัฐจากสัญญาต่างๆ ก็จะลดลง ซึ่ง สคร.ประเมินว่าหากแก้ไขสัญญาพรีเพดให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 มูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทีโอทีนับจากวันแก้ไขสัญญาจนถึงวันที่ 31 มีนาคม จะอยู่ที่ 31,462 ล้านบาท ส่วนความเสียหายของทีโอทีจากการแก้ไขสัญญาโรมมิ่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม จะอยู่ที่ 6,900 ล้านบาท รวม 2 สัญญา เป็นมูลค่าความเสียหาย 38,362 ล้านบาท

สำหรับความเสียหายให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำ เข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) จำนวน 4,000 ล้านบาทนั้น ยังอยู่ระหว่างการสรุปความเสียหาย

ส่วนการฟ้องร้องทางแพ่งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ กำหนดให้กรมบัญชีกลางแจ้งให้กระทรวงหรือหน่วยงานที่ได้รับความเสียหาย ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงแล้วเสร็จภายใน 60 วัน แล้วแจ้งกลับมาให้กรมบัญชีกลางพิจารณา ก่อนที่จะสรุปเรื่องเสนอให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทาง แพ่งตามขั้นตอนต่อไป

นสพ.คมชัดลึก 07/03/53



พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน