กทช.รื้อยกแผง"สบท.-TRIDI-ไอซี" ลดบทบาท-ริบอำนาจคืน

กทช. รื้อยกแผง "สบท.-ทริดี้-ไอซี" เล็งปรับสถานะลดบทบาท-ริบอำนาจ

"ติดตามตรวจสอบ-อนุมัติวงเงิน" จากสถาบันอิสระเป็นส่วนงานภายใต้ "สำนักงาน กทช." อีกที "วงใน" เผยภารกิจสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคกิจการโทรคมนาคมเหลือแค่ "รับเรื่องร้องเรียน" ริบอำนาจติดตามตรวจสอบคืน ฟาก"สถาบันไอซี-ทริดี้" โดนด้วย ผอ.TRIDI ติงแก้ไขระเบียบใหม่ควรแตะเฉพาะที่มีปัญหา ไม่ใช่รื้อยกกระบิกระทบแผนงานเดิ

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะ กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการ กทช.อยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 (สบท.) โดยได้ยกร่างมาใหม่ทั้งหมด ซึ่งประเด็นสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลง คือจะให้ สบท.เข้ามาเป็นส่วนงานภายในสำนักงาน กทช.ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของเลขาธิการ กทช. รวมถึงให้ผู้อำนวยการสถาบันขึ้นตรงต่อเลขาธิการ กทช. และให้ใช้ระเบียบข้อบังคับของสำนักงาน กทช. กับการบริหารสถาบันเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นภายใต้สำนักงาน กทช.

นอก จากนี้ยังจะเปลี่ยนแปลงวิธีการได้มาของคณะกรรมการบริหารงานสถาบันคุ้มครอง ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) จากเดิมที่กำหนดให้มีองค์ประกอบจากนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม เศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ และกฎหมาย รวมทั้งตัวแทนองค์กรผู้บริโภค ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยให้คณะกรรมการสรรหา คบท. ซึ่งมาจากการคัดเลือกขององค์กรผู้บริโภค โดยการแต่งตั้งจาก กทช. ทำหน้าที่สรรหาบุคลากร และให้บุคคลเหล่านั้นคัดเลือกกันเองเป็น กรรมการ สบท.อีกที

กับ ระเบียบฉบับใหม่เปลี่ยนเป็นให้ กทช.แต่งตั้งกรรมการ สบท.ทั้งหมด มีประธาน 1 คน โดยแต่งตั้งจากผู้มีความรู้และประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ด้านการบริหาร จัดการและคุ้มครองผู้บริโภค มีกรรมการโดยตำแหน่ง 3 คน คือเลขาธิการ กทช. รองเลขาธิการ และผู้บริหารระดับกลาง ส่วนกรรมการที่เหลืออีก 5 คน ให้ กทช.แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ทางด้านโทรคมนาคม เศรษฐศาสตร์ กฎหมาย การสื่อสารมวลชน และการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านละ 1 คน และให้ คบท.รับผิดชอบขึ้นตรงต่อ กทช.

สำหรับอำนาจหน้าที่ของ คบท.ได้เพิ่มเติมการ "พิจารณาจัดทำความเห็นเกี่ยวกับข้อร้องเรียนของผู้บริโภคเสนอต่อ กทช. ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ กทช.กำหนด" พร้อมแก้ไขข้อความให้ทำหน้าที่ "ให้ความเห็นชอบแผนดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคมของสถาบัน" จากเดิมกำหนด "ให้เสนอความคิดเห็นแก่ กทช. เพื่อพิจารณาออกประกาศ หลักเกณฑ์ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค"

สถานะใหม่ของ สถาบันจะเป็น "ส่วนงานภายใน" ของสำนักงาน กทช. จากเดิมกำหนดให้มีสถานะเป็นหน่วยงานหนึ่งในสำนักงาน มีการบริหารงานอย่างเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซงจากหน่วยงานอื่นในสำนักงาน จากเลขาธิการ ผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสาขาของ สบท.ในต่างจังหวัดด้วย พร้อมกันนั้นยังลดทอนอำนาจของ สบท.ให้เหลือเพียงให้รับเรื่องร้องเรียนเท่านั้น จากเดิมให้ "รับเรื่องและติดตามตรวจสอบข้อร้องเรียน"

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า โครงสร้างการบริหารก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน โดย "ให้ผู้อำนวยการ สบท.รับผิดชอบขึ้นตรงต่อเลขาธิการกทช." มีเลขาธิการ กทช. เป็นผู้กำหนดอัตราเงินเดือน และผลประโยชน์ตอบแทนของ ผอ.สถาบัน จากเดิมให้ผู้อำนวยการ สบท. ขึ้นกับ กทช. และ คบท.โดยตรง รวมถึงกำหนดสิทธิประโยชน์ว่า ต้องได้ไม่น้อยกว่าเลขาธิการ กทช. โดย คบท.เป็นผู้กำหนดเงินเดือนให้

สำหรับเรื่องงบประมาณของสถาบัน ในระเบียบเดิม สบท.จะอนุมัติโดย กทช. ไม่เกิน 15% (ตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นไป) ของรายได้สำนักงาน กทช.จากค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยให้ ผอ.สบท.จัดทำคำขอกันงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสนอให้ กทช. อนุมัติ และจัดส่งรายละเอียดดังกล่าวแก่เลขาธิการ กทช.เพื่อผนวกเป็นงบประมาณรายจ่ายประจำปีของสำนักงาน

แต่กับร่าง ระเบียบฉบับใหม่อยู่ภายใต้ระเบียบการงบประมาณของสำนักงาน กทช. เช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นในสังกัด โดยกำหนดให้ ผอ.สบท.จัดทำคำขอตั้งงบประมาณและรายละเอียดการใช้จ่ายตามระเบียบ กทช.เกี่ยวกับงบประมาณของสำนักงาน กทช.เสนอให้ กทช.อนุมัติเป็น งบประมาณประจำปีต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า กทช.ยังจะ พิจารณาแก้ไขระเบียบเกี่ยวกับการตั้งสถาบันอีก 3 ฉบับ คือระเบียบ กทช.ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ระเบียบ กทช.ว่าด้วยสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2550 และระเบียบ กทช.ว่าด้วยการมอบอำนาจของเลขาธิการ กทช.ให้ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในสถาบันเฉพาะทาง พ.ศ.2550

โดยให้ มีหลักการคล้ายคลึงกับ สบท. คือให้ปรับสถานะเป็นส่วนงานภายในของสำนักงาน กทช. และใช้ระเบียบการบริหารงานบุคคล งบประมาณ การเงิน บัญชี และพัสดุเช่นเดียวกับหน่วยงานอื่นของสำนักงาน กทช. โดย กทช.จะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 8 เม.ย.2552 นี้

ด้าน ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (TRIDI) กล่าวว่า ร่างระเบียบฉบับใหม่ในส่วนของ TRIDI จะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การทำงานของ TRIDI ทั้งหมด เช่น ตัดอำนาจคณะกรรมการ TRIDI เหลือเพียงการให้คำแนะนำแก่ กทช. เรื่องการพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จากเดิมมีอำนาจในการกลั่นกรองโครงการวิจัยที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนได้ เป็นต้น

"ในร่างระเบียบฉบับใหม่ ทริดี้จะเข้าไปรวมเป็นหน่วยงานในสำนักงาน กทช. จากเดิมที่เป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงาน กทช. มีความเป็นอิสระและคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า ร่างระเบียบฉบับใหม่เขียนโดยคนนอก ไม่เข้าใจหลักการทำงานของทริดี้ และเป็นร่างที่ขัดกับระเบียบฉบับเดิมโดยสิ้นเชิง ต้องเข้าใจว่างานของเราเป็นการทำงานเชิงรุก ต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภายนอก ถ้าให้มาเป็นส่วนหนึ่งของสำนักงาน กทช.ทำให้หมดความคล่องตัว"

ดร.สุพจน์กล่าวต่อว่า การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับสถาบันควรแก้ไขเฉพาะที่จำเป็น เพื่อให้การทำงานมีความคล่องตัวยิ่งขึ้น เช่น กรณี TRIDI ที่มีปัญหาเรื่องบุคลากร เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาได้เสนอข้อคิดเห็นไปด้วยเช่นกัน ตนไม่เห็นด้วย ถ้าจะแก้ไขโดยเปลี่ยนหลักการทำงานใหม่หมดเลย อย่างการทำงานของ TRIDI ในขณะนี้งานทุกอย่างกำลังเดินหน้า ที่ผ่านมามีการเซ็น MOU ให้เงินสนับสนุนการวิจัยของสถาบันการศึกษาหลายแห่ง มีการแจกทุนการศึกษา ซึ่งมีระยะเวลา 3 ปีไปแล้ว แต่ในร่างฉบับใหม่ที่มีการแก้ไขไม่มีเรื่องดังกล่าว จึงน่าจะเป็นปัญหากับงานเดิมว่าจะทำอย่างไร

 

ข้อมูลจาก นสพ.ประชาชาติธุรกิจ 09/04/52

{mxc}

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน