อดีต กสทช. เสนอทำระบบกดรายงานเบอร์มิจฉาชีพขจัดปัญหา SMS-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ชี้ กสทช. มีศักยภาพแก้ไขแต่ล่าช้า

ภาพข่าวเสนอทางออก sms ทำระบบรายงาน 01

ผู้ก่อตั้งโคแฟค อดีต กสทช. เสนอทางออก SMS-แก๊งคอลเซ็นเตอร์ กสทช.ต้องทำงานเชิงรุก ทำระบบกดรายงานเบอร์มิจฉาชีพ พร้อมขึ้นเตือนให้ระวังเบอร์นั้น ชี้ กสทช. มีศักยภาพที่จะทำ แต่ยังล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ไม่กระตุ้นให้ทำงานและลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม

          จากปัญหาเรื่อง SMS หลอกลวงและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ระบาดนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รับเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมากอยู่เป็นระยะ ผู้ร้องเรียนรายหนึ่งระบุว่า ผู้ร้องได้รับ SMS หลอกลวงบ่อยมาก วันละ 4-5 ข้อความ มีเนื้อหาเกี่ยวกับพนันออนไลน์หรือหลอกให้กดรับเงิน ต่อมาเปลี่ยนเป็นการโทรศัพท์โดยตรง มุกที่มิจฉาชีพใช้เป็นการหลอกว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งถึงหรือไม่ก็ชวนลงทุน ผู้ร้องเรียนไม่ได้หลงเชื่อ แต่เป็นห่วงผู้สูงอายุโดยทั่วไปที่อาจหลงเชื่อ เพราะพ่อผู้ร้องเคยเจอและงงว่าไม่ได้สั่งของแต่บริษัทขนส่งโทรมา อยากให้บล็อก SMS หลอกลวงให้หมดไป ทั้งพนันออนไลน์หรือชวนให้กู้ยืม

          ทางด้านผู้ที่ได้รับความเสียหายจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บัญชีผู้ใช้บนเว็บไซต์ www.change.org ชื่อ หนู ถูกหลอกให้โอนเงินไปถึง 4 ล้านบาท จึงจัดทำแคมเปญ “ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดช่องโหว่ไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์มีที่ยืนในสังคม!” เนื้อหาระบุโดยย่อว่า ผู้จัดทำแคมเปญถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเอาเงินไปกว่า 4 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต ผู้จัดทำฯ มีอาชีพเป็นเจ้าของธุรกิจร้านอาหาร เลี่ยงเรื่องการเปิดเผยเบอร์โทรศัพท์ไม่ได้ และไม่สามารถเลี่ยงไม่รับเบอร์แปลกได้ ผู้จัดทำฯ ไม่รู้ว่าเงินทั้งชีวิตของใครจะต้องตกเป็นเหยื่อของแก๊งนี้อีก เข้าใจความรู้สึกสูญเสียว่ามันฆ่าชีวิตคนบริสุทธิ์ได้เลย

          ผู้จัดทำฯ ถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์หลอกเป็นรอบที่ 4 โดยรอบล่าสุดที่โทรมานั้น ให้วิดีโอคอลกับชายแต่งเครื่องแบบเหมือนตำรวจที่พูดด้วยน้ำเสียงข่มขู่ ซึ่งเป็นการหลอกที่ต่างจากทุกครั้ง หลังโอนเงินแล้วเริ่มหาข้อมูลจนพบว่าน่าจะเป็นการหลอกจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จึงไปธนาคารเพื่อขอให้ระงับการโอนเงินทันที เจ้าหน้าที่ธนาคารให้นำใบแจ้งความมาแสดงถึงจะอายัดได้ และขอส่งใบแจ้งความตัวจริงทางไปรษณีย์ไปให้หน่วยงานที่มีอำนาจตรวจสอบบัญชีของมิจฉาชีพ ซึ่งมีกระบวนการหลายขั้นตอนจนเงินไปถึงไหนต่อไหนแล้ว

          ผู้จัดทำฯ จึงขอเรียกร้องไปยังหน่วยงานต่างๆ ว่า 1. ตำรวจควรเร่งจับคนรับเปิดบัญชีปลอม ถ้าไม่มีคนกลุ่มนี้ มิจฉาชีพก็ทำงานไม่ได้ และประชาสัมพันธ์ถึงโทษทางอาญาและอัตราปรับของการเปิดบัญชีปลอมอย่างทั่วถึง 2. ธนาคารควรให้ความร่วมมือลูกค้าและรีบอายัดบัญชี เงินเข้า-ออกปลายทางทั้งหมดของผู้เกี่ยวข้อง ถึงจะผิดพลาดที่โอนเงินไปเอง แต่ธนาคารควรมีมาตรการตรวจสอบถ้ามีสิ่งผิดปกติที่เกิดขึ้นในบัญชี เช่น ลูกค้าอยู่ๆ ก็โอนเงินจำนวนมากจนหมดบัญชี หรือมีบัญชีที่เงินโอนเข้าจำนวนมากๆ และโอนออกภายในไม่กี่วินาทีจนเงินในบัญชีเหลือหลักหน่วย 3. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมควรรวบรวมข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เช่น บัญชีธนาคาร หมายเลขโทรศัพท์ และชื่อ-สกุล ที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นส่วนหนึ่งของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ไว้เป็นฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบได้โดยง่าย

          ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการโคแฟคประเทศไทย กรรมการนโยบายสภาองค์กรผู้บริโภค และอดีตคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอทางออกปัญหา SMS และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ว่า การแก้ไขเรื่อง SMS และแก๊งคอลเซ็นเตอร์นั้น กสทช. ควรมีวิสัยทัศน์ทำงานเชิงรุกไปข้างหน้าโดยอาศัยเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเช่นในต่างประเทศ นำนวัตกรรมมาใช้เพื่อให้เกิด 1. การบูรณาการการทำงาน 2. ทำให้สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที และ 3. สร้างช่องทางให้ประชาชนสามารถร้องเรียนได้อย่างรวดเร็ว เช่น ทำระบบหลังบ้านให้ผู้บริโภคสามารถกดร้องเรียนเบอร์มิจฉาชีพคล้ายๆ การรีพอร์ตของโซเชียลมีเดีย โดยร่วมกับผู้ให้บริการมือถือหรือ กสทช. ทำระบบขึ้นเอง

          เมื่อผู้บริโภคได้รับ SMS เบอร์ไม่พึงประสงค์หรือเบอร์มิจฉาชีพ ต้องร้องเรียนได้ทันที ซึ่งขณะนี้ค่ายมือถือบางค่ายเริ่มทำบ้างแล้ว แต่ไม่ควรต่างคนต่างทำ ควรมีเบอร์กลางที่ผู้บริโภคใช้กดรายงานแล้วจะส่งการร้องเรียนไปหลังบ้านของทุกเครือข่าย โดยมี กสทช. เป็นตัวกลาง แจ้งเบอร์นั้นไปที่ Database ของรัฐ แล้วประมวลข้อมูล วิเคราะห์ โดยใช้ AI หรือใช้คน และหาที่มาของต้นตอ ส่งไปตำรวจให้ตรวจสอบและดำเนินการสืบสวนสอบสวนต่อ คล้ายเบอร์ 7726 ของอังกฤษ ที่ Ofcom (หน่วยงานคล้าย กสทช. ในไทย) ให้ผู้บริโภคกดรายงาน 7726 มาจากแป้นพิมพ์คำว่า spam ในมือถือ เป็นต้น (ที่มา : https://www.ofcom.org.uk/phones-telecoms-and-internet/advice-for-consumers/scams/7726-reporting-scam-texts-and-calls) หลังจากที่ผู้บริโภคร้องเรียนเข้าสู่ระบบ แล้วเบอร์นี้มีคนร้องเรียนเกินพันหรือหมื่น เวลามิจฉาชีพโทรไปเบอร์ไหนจะได้ขึ้นเตือนอัตโนมัติได้ว่า ให้ระวัง เบอร์นี้เป็นมิจฉาชีพ ระบบแบบนี้ถึงจะมีเป็นแอปพลิเคชันของเอกชน แต่ภาครัฐต้องจัดทำเอง โดยเอาข้อมูลหลังบ้านตรงนั้นไปวิเคราะห์เพื่อหาทางป้องกันแก้ไขต่อไป รวมถึงต้องกำกับดูแลไม่ให้ฐานข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลไปสู่มิจฉาชีพ ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีตรวจสอบได้และสร้างระบบตรวจสอบผู้ประกอบการเกี่ยวกับการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเป็นระยะ

          “กสทช. มีศักยภาพที่จะทำระบบดังกล่าวได้ โดยเงินกองทุนที่เก็บจากผู้ให้บริการเครือข่าย นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมายและกำหนดบทลงโทษให้ทันสมัยขึ้นจึงจะรับมือมิจฉาชีพยุค 5G ได้ ปัจจุบันการจัดสรรคลื่นทำไปมากแล้ว กสทช. ควรเน้นบทบาทการกำกับดูแลให้มากขึ้น การทำงานของ กสทช. ที่ผ่านมามีกระบวนการค่อนข้างล่าช้า เน้นตัวบทกฎหมาย ทั้งที่ตนเองมีอำนาจและทรัพยากรในมือให้กระตุ้นการทำงานหรือลงโทษผู้ให้บริการอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นบทบาทที่หายไปของ กสทช.” นางสาวสุภิญญากล่าว

          ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการโคแฟคประเทศไทย กล่าวอีกว่า หากยังจัดทำระบบไม่ได้ กสทช. ก็ควรจัดการแก้ไขสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน อย่างการตรวจดูกฎ กติกา และประกาศล่าสุดต่างๆ ของ กสทช. ว่ามีจุดใดที่ล้าสมัย ต้องแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยเฉพาะด้านการบังคับผู้ได้รับใบอนุญาตหรือว่าค่ายมือถือในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ เช่น การทำกลไกป้องกันตั้งแต่ต้นทางโดยให้ผู้บริโภคแสดงความจำนงไม่รับข้อความ SMS ที่ไม่พึงปรารถนา รวมถึง SMS ที่มาจากเบอร์ที่ไม่รู้จัก หรือไม่ใช้เบอร์ที่มีนิติบุคคลรองรับเป็นทางการ เช่น โรงพยาบาล ธนาคาร เป็นต้น แต่ตรงนี้ กสทช. อาจจะอ้างว่าต้องแก้กฎหมาย ต้องทบทวนก่อนว่ามีกฎหมายอะไรที่ยังไม่เอื้อ จึงต้องว่าดูกฎกติกาอะไรเป็นอุปสรรคที่ไม่สามารถจะบังคับใช้ได้ ส่วนอะไรที่บังคับใช้ได้แล้ว เอกชนยังไม่ทำก็ต้องมีบทลงโทษที่เด็ดขาด

พิมพ์ อีเมล

[รายงานพิเศษ] ปัญหาซิมเน็ตรายปี : ลงทะเบียนแต่ลืม activate ระวังเสียเงินฟรี

scoop pic 25122020 netsim 01

[รายงานพิเศษ] ปัญหาซิมเน็ตรายปี : ลงทะเบียนแต่ลืม activate ระวังเสียเงินฟรี

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

ศาลรับเป็นคดีกลุ่ม กรณีฟ้อง ‘ดีแทค’ ปัดเศษวินาที

news pic 29072020 dtacclassaction

ศาลมีคำสั่งรับเป็นคดีกลุ่ม กรณีฟ้อง ดีแทคคิดค่าโทรศัพท์ปัดเศษวินาทีเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนเอไอเอสนัดไต่สวนอีกครั้ง 9 พฤศจิกายนนี้

อ่านต่อ

พิมพ์ อีเมล

เนื้อหาอื่นๆ...

บทความใกล้เคียงกัน