ข้อเสนอต่อนโยบาย กฎหมายและมาตรการการปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
และศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ๔๒ จังหวัด


ผู้บริโภคคือพลเมือง

ทุกคนเป็นผู้บริโภคตั้งแต่เกิดจนตาย สมัยหนึ่งคำว่า บริโภค มีนัยเพียงการกิน(อาหาร) ต่อมาได้รับการยอมรับกันมากขึ้นว่า บริโภคไม่เพียงแต่เฉพาะเรื่องกินเท่านั้น ยังหมายถึงการใช้สินค้าและบริการด้วยทั้งที่ซื้อด้วยตนเองหรือไม่ก็ตาม และในปัจจุบันแนวความคิดการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค ยังขยายความหมายผู้บริโภคที่รวมถึงความเป็นพลเมือง นั่นคือทุกคนเป็นผู้บริโภคนั่นเอง

กระแสบริโภคนิยมในปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่ทำให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมไม่ต่างจากโฆษณาในโทรทัศน์ การโฆษณาและการส่งเสริมการขายทำให้ทุกอย่างกลายเป็นสินค้า สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในสังคมไทยที่มีปัญหาการบริโภคด้านต่างๆ มากมายที่ซับซ้อนตั้งแต่ปัญหาในอดีต เช่น ยาชุด ยาไม่เหมาะสม สมุนไพรใส่ สเตียรอยด์ ที่เป็นปัญหามานานและยังเป็นปัญหาถึงปัจจุบัน กับปัญหาการบริโภคที่ไม่เหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร นับตั้งแต่น้ำโนนิ สาหร่ายเกลียวทอง น้ำMRET น้ำคลอโรฟิลด์ ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต สินค้าและบริการลดความอ้วน เครื่องมือแพทย์หรือเทคโนโลยีทางการแพทย์ การผ่าตัดเสริมความงาม ความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ ฯลฯ มาตรฐานสินค้า ฉลากสินค้าที่ยังไม่ชัดเจนไมเป็นภาษาไทย หรือแม้แต่ปัญหาสิทธิในที่อยู่อาศัย หรือไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิในซื้อบ้านและคอนโดมิเนียมไม่สมหวัง ปัญหาหนี้สินของผู้บริโภคทั้งในระบบ(Non Bank) และนอกระบบ ดอกเบี้ยที่ไม่เป็นธรรม การติดตามทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรมและละเมิดสิทธิมนุษยชน การเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคจากบริการสาธารณะของรัฐ เช่น ไฟฟ้า โทรศัพท์ การประปา รวมถึงการผูกขาด ตัดตอน หรือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เป็นเพียงการเปลี่ยนเจ้าของการผูกขาดโดยรัฐ เป็นการผูกขาดและทำกำไรสูงสุดโดยเอกชนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ได้มีความหมายถึงการปฏิรูปทรัพยากรของรัฐเพื่อผลประโยชน์ของพลเมือง ความไม่เป็นธรรมหรือช่องว่างของกฎหมายอีกมากมาย

การออกมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคถูกแทรกแซง เช่น การห้ามโฆษณาเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในสื่อทุกประเภท การออกมาตรการเพื่อควบคุมการโฆษณาขนมเด็ก เป็นต้น

การบังคับใช้กฎหมายไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่น การบังคับใช้สิทธิ(Compulsory licensing) ตามกฎหมายสิทธิบัตรกับผลิตภัณฑ์ยาที่ประสบปัญหาการผูกขาด ราคาแพง คนส่วนใหญ่ไม่มีกำลังซื้อ ขาดแคลน ส่งผลต่องบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น ในกรณียาต้านไวรัส ยารักษาโรคหัวใจ เป็นต้น

ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาด ข้อมูล ความรู้ ขาดความตระหนักในปัญหาทั่วไปและปัญหาที่สลับซับซ้อน อ่อนแอและขาดอำนาจต่อรองปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคที่ตื่นตัวใช้สิทธิอันพึงมีพึงได้ของตนเองยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ ทำให้ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้บริโภคและองค์กรผู้บริโภคในการแก้ไขปัญหาของตนเอง รวมทั้งการพัฒนานโยบาย กฎหมาย มาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคโดยรวมยังมีความจำกัด

ขณะที่รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับรองสิทธิของประชาชนในฐานะผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะใน มาตรา ๕๗ ที่กล่าวไว้ว่า สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

กฎหมายตามวรรคหนึ่งต้องบัญญัติให้มีองค์การอิสระซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภคทำหน้าที่ให้ความเห็นในการตรากฎหมาย กฎ และข้อบังคับ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ถึงแม้จะได้รับการรับรองสิทธิในรัฐธรรมนูญ แต่การละเมิดสิทธิผู้บริโภค ยังปรากฏให้เห็นมากมายในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภคในปัจจุบันดังนี้

ข้อเสนอต่อนโยบาย กฎหมายและมาตรการ การปฏิรูประบบคุ้มครองผู้บริโภค

๑. ต้องรีบดำเนินการผลักดันให้มีการออกกฎหมายใหม่ที่บัญญัติเรื่อง องค์การอิสระผู้บริโภค ที่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง และเป็นกฎหมายที่อิสระจากหน่วยงานของรัฐ การเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ทางธุรกิจ และภาคธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบ ตลอดจนลดความทุกข์ให้กับผู้บริโภคในการใช้สิทธิของตนเองในปัจจุบัน โดยองค์การอิสระจะต้องมีบทบาทสำคัญเบื้องต้นดังนี้
      ๑.๑ เสนอแนะ ให้ความเห็นแก่รัฐ หน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ในการออกนโยบาย กฎหมาย ข้อบังคับและมาตรการต่างๆ โดยความเห็นที่ให้หรือเสนอแนะจากองค์การอิสระผู้บริโภคจะต้องมีหลักประกันว่าจะต้องได้รับการพิจารณาและให้ความสำคัญ หากไม่ดำเนินการเป็นเพราะเหตุผลใด โดยข้อมูลที่เสนอความเห็นนั้นควรจะต้องผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของตัวแทนผู้บริโภคอย่างเป็นระบบและกว้างขวางการ และเป็นความเห็นที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและปัญหาของผู้บริโภค บางครั้งอาจจะต้องมีการดำเนินงานหรือสนับสนุนให้เกิดการศึกษา การวิจัย การรวบรวมความเห็น เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเสนอแนะที่มีพื้นฐานทางวิชาการ
      ๑.๒ การสนับสนุนการทำงาน การติดตาม ตรวจสอบการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานรัฐ
      ๑.๓ นอกจากนี้องค์การอิสระผู้บริโภค จะต้องมีการดำเนินงานเชิงรุก โดยจะต้องมีบทบาทในการพัฒนาและเสนอแนะนโยบาย กฎหมาย กฎ และมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
      ๑.๔ สร้างความเข้มแข็ง ให้ผู้บริโภค กลุ่ม เครือข่าย องค์กรผู้บริโภค และส่งเสริม สนับสนุนให้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคในทุกระดับ โดยจะต้องสนับสนุนงบประมาณที่ชัดเจนต่อหัวประชากร เช่น หัวละ ๕ บาท เพื่อเป็นงบประมาณในการสนับสนุนให้เกิดกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคโดยกลุ่มองค์กรผู้บริโภค ให้เข้มแข็งและมีบทบาทในการคุ้มครองตนเองและยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทย
      ๑.๕ การฟ้องร้องแทนผู้บริโภคในกรณีเพื่อประโยชน์สาธารณะ

๒. การปรับปรุงพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ (แก้ไขปรับปรุง พ.ศ. ๒๕๔๑) ให้ทันต่อสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เช่น

      ๒.๑ การปรับปรุงคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้มีสัดส่วนผู้แทนผู้บริโภคไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
      ๒.๒ การปรับปรุงกระบวนการระงับข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบการ เพื่อทำให้ผู้บริโภคได้รับค่าชดเชยรวดเร็วและเป็นธรรมเพิ่มขึ้น โดยไม่ต้องรอการไต่สวนหาผู้รับผิดชอบ
      ๒.๓ การขยายการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ แก้ไขปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ให้สอดคล้องกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศ และยกมาตรฐานให้เท่าเทียมกับสิทธิของผู้บริโภคในต่างประเทศ

      ประการที่ ๑ สิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต(THE RIGHT TO ACCESS) อันได้แก่ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา
      ประการที่ ๒ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าและบริการ (THE RIGHT TO SAFETY) หมายถึง สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากผลิตภัณฑ์ กรรมวิธีผลิตและบริการที่เป็นอันตรายต่อคุณภาพและชีวิต สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัย คลอบคลุมถึงประโยชน์ในระยะยาวของผู้บริโภคด้วย ไม่ได้หมายเพียงแค่ความต้องการในระยะสั้น
      ประการที่ ๓ สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองจากการหลอกลวงของโฆษณา หรือการแจ้งประกาศที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการตัดสินใจเลือกซื้อ(THE RIGHT TO BE INFORMED)
หมายถึง สิทธิที่จะได้รับข้อเท็จจริงที่จะเลือกและตัดสินใจ สิทธินี้ครอบคลุมมิให้มีการคดโกง คุ้มครองการโฆษณา ฉลากสินค้า และการกระทำอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด ผู้บริโภคจะต้องได้รับข้อมูลเพียงพอที่จะทำให้เขาได้ซื้อสินค้า และบริการอย่างฉลาด และด้วยความรับผิดชอบ
      ประการที่ ๔ สิทธิที่จะได้เลือกซื้อสินค้าและบริการในราคายุติธรรม(THE RIGHT TO CHOOSE) หมายถึงสิทธิที่จะเลือกสินค้าและบริการได้หลายๆ อย่าง ในราคาที่แข่งขันกัน และในกรณีที่มีการผูกขาดสินค้าก็จะวางใจได้ว่า จะได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพเป็นที่พอใจ และในราคายุติธรรม
      สิทธิที่จะเลือกนี้ หมายอีกด้วยว่า เป็นสิทธิที่จะได้รับสินค้าและบริการในระดับพื้นฐาน ทั้งนี้เพราะว่าสิทธิที่จะเลือกอย่างไม่มียับยั้งของกลุ่มผู้บริโภคส่วนน้อยอาจเป็นสิ่งที่กลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยก็ได้
      ประการที่ ๕ สิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในฐานะตัวแทนผู้บริโภคเพื่อให้ได้รับประโยชน์ที่พึงได้ (THE RIGHT TO BE HEARD) รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์ร่วมกับรัฐบาลในการบริหารจัดการ
หมายถึงสิทธิที่จะเป็นตัวแทน เพื่อประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับการพิจารณาอย่างเข้าใจในการตั้งกฏเกณฑ์ และดำเนินเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจ หมายรวมถึง สิทธิที่จะได้ร้องเรียนและเป็นตัวแทนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการก่อนที่จะมีการผลิตหรือทำการใดๆ ไม่แต่นโยบายของรัฐ แต่ในทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ด้วย
      ประการที่ ๖ สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชย ในกรณีที่ถูกละเมิด หลอกลวงให้ได้รับสินค้าและบริการที่ไม่มีคุณภาพ (THE RIGHT TO REDRESS)
หมายถึงสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการตัดสินเรื่องราวที่ร้องเรียนอย่างถูกต้อง ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการชดใช้เมื่อได้รับสินค้าและบริการที่บกพร่องหรือเสียหายหรือการช่วยเหลือหรือการชดใช้อื่นๆ
      ประการที่ ๗ สิทธิที่จะได้รับความรู้และไหวพริบอันจำเป็นต่อการบริโภคอย่างเท่าทัน (THE RIGHT TO CONSUMER EDUCATION) หมายถึงสิทธิที่จะได้รับความรู้และทักษะให้เป็นผู้บริโภคที่มีความรู้ในเรื่องราวต่างๆ ที่ควรรู้ตลอดชีวิตสิทธินี้หมายรวมถึง สิทธิที่จะได้รับความรู้ที่ควรรู้ ควรมี ในการที่จะใช้ในการต่อสู้สิ่งต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค
      ประการที่ ๘ สิทธิที่จะดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และยังชีพได้อย่างปลอดภัย (THE RIGHT TO HEALTHY ENVIROMENT) หมายถึง สิทธิที่จะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงสิทธิที่จะได้รับการป้องกันจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ผู้บริโภคแต่ละคนไม่สามารถควบคุมได้เอง สิทธินี้ต้องยอมรับถึงความต้องการที่จะได้รับการคุ้มครองและปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ตลอดชั่วอายุเราไปจนชั่วอายุลูกหลานอีกด้วย

นอกจากนี้ ควรจะพิจารณารวมถึงสิทธิอื่น ๆ ที่ควรจะกำหนดในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น
      ๑ . สิทธิที่จะจะได้รับความคุ้มครองและได้รับเป็นธรรมจากการโฆษณาที่เกินสมควร การโฆษณาที่ส่งผลต่อความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้น และความล้มเหลวในการควบคุมโฆษณา
๒. สิทธิที่จะได้ความเป็นธรรมในการพิสูจน์ความผิด ภาระในการพิสูจน์ความผิดถือเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบธุรกิจ

๔. การปรับปรุงนโยบาย กฎหมายที่เกี่ยวข้อง และบังคับใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ของการคุ้มครองผู้บริโภคให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น
      ๔.๑ การบังคับใช้กฎหมาย พรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพรบ.ความรับผิดต่อผลิตภัณฑ์และบริการ (Liability Act) ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่ส่งเสริมให้ผู้บริโภค คนยากจนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ไม่เป็นภาระในการดำเนินคดี และมีขั้นตอนที่รวดเร็ว ซึ่งในปัจจุบันรัฐกลับทำการยกเว้นความรับผิดต่อความไม่ปลอดภัยของผู้บริโภค เช่น การออกประกาศยกเว้นให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์
      ๔.๒ เร่งจัดทำและออกกฎหมายสนับสนุนการดำเนินคดีแบบกลุ่ม (Class Action)
      ๔.๓ ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในการแก้ไขปัญหาของผู้บริโภค เช่น ศาลผู้บริโภค ให้มีกลไกช่วยเหลือแบบเบ็ดเสร็จ
      ๔.๔ หยุดการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยการทำความตกลงระหว่างประเทศ
      ๔.๕ หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่จำเป็นต่อบริการสาธารณขั้นพื้นฐาน แต่ต้องทำการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆอย่างเข้มแข็ง เช่น การไฟฟ้า ประปา องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น
      ๔.๖ การดำเนินการทางกฎหมายที่เข้มงวดกับผู้กระทำผิดอาศัยช่องว่างของกฎหมายในการส่งเสริมการขาย เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์ จะจำหน่ายภายใต้กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งมักอาศัยการขายตรง และมักจะโฆษณาสรรพคุณทางการรักษา ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อและคิดว่าเป็นเครื่องมือแพทย์
      ๔.๗ ปรับปรุงกฎหมายต่างๆให้สอดคล้องกับสังคม และมีข้อบังคับที่ทันสมัย ทั้งด้าน การผลิตและการบริโภค เช่น
- การปรับปรุงมาตรการปรับเชิงลงโทษและเข้มงวดมากขึ้น เช่น การลงโทษผู้ผลิตที่โฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือโฆษณาเกินจริง หลอกลวง
- การแก้ไขพระราชบัญญัติ ยาฉบับใหม่ ให้ มีกองทุนประชาชน หรือ กองทุนชดเชยของผู้ประกอบการ เข้ามาสนับสนุนเมื่อได้รับอันตรายจากยา มีมาตรการชดเชยความเสียหาย หน่วยงานของรัฐสามารถประกาศชื่อยาที่ไม่มีมาตรฐานได้ อุตสาหกรรมยานำไปสู่การพัฒนาเพื่อพึ่งตนเองและพัฒนาอย่างยั่งยืน มีหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ดีในการผลิตยา บริการยานำไปสู่การตั้งกองทุนพัฒนายาระบบยา
- การส่งเสริมการขายและการโฆษณา นำเกณฑ์ว่าด้วยจริยธรรมในการส่งเสริมการขายยาขององค์การอนามัยโลกมาเป็นแนวปฏิบัติ ราคายายุติธรรม มีโครงสร้างราคายาและมาตรการควบคุมราคายา การคุ้มครองสวัสดิภาพการใช้ยาของประชาชน มีบทบัญญัติให้การคุ้มครองรับผิดชอบต่อความเสียหายของผลิตภัณฑ์ยา ภาระในการพิสูจน์อันตรายที่เกิดจากยา มีรูปแบบสัญลักษณ์ของบริษัทบนเม็ดยาเพื่อให้รู้แหล่งที่มา

๕. การปรับปรุงประสิทธิภาพกลไกในการให้ความช่วยเหลือเมื่อถูกละเมิดสิทธิ
      ๕.๑ ขั้นตอนการเรียกร้องความเป็นธรรมเป็นภาระของผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนหรือพิสูจน์ปัญหาขาดศักยภาพและประสิทธิภาพ
      ๕.๒ มีระบบตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำงานคุ้มครองผู้บริโภค
      ๕.๓ การพัฒนากระบวนการทางศาลให้มีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้นให้สอดคล้องกับพรบ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค
      ๕.๔ การปรับกลไกในองค์กรวิชาชีพหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทยสภา กองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข กองเงินทุนทดแทน ประกันสังคมฯลฯ จะต้องปรับปรุงองค์ประกอบให้มีส่วนร่วมจากภาคีอื่น ๆ ในสังคมมากขึ้น เช่น องค์กรผู้บริโภคที่มีกิจกรรมด้านนี้ สื่อมวลชน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านความโปร่งใส และที่สำคัญจะทำอย่างไรให้กลไกเหล่านี้มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ดังเช่น กลไกสภาการแพทย์ในประเทศอังกฤษที่มีองค์ประกอบของบุคคลอื่น(Lay man) ที่ไม่ใช่แพทย์ถึงร้อยละ ๕๐

๖. การจัดทำกองทุนชดเชยความเสียหาย ที่เกิดขึ้นจากการถูกละเมิดสิทธิเพื่อชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค
     
ปัจจุบัน พบว่า การให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้บริโภคเมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสาธารณสุขไม่ได้ทำให้ผู้เสียหายสามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขธรรมดา และการให้การช่วยเหลือเบื้องต้นกับผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขให้กับผู้ใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่รวมระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสังคม หรือแม้แต่การใช้บริการของโรงพยาบาลเอกชนใน

ดังนั้น การมีกองทุนชดเชยความเสียจากบริการสาธารณสุขในอนาคต จะต้องเป็นการชดเชยความเสียหายกับบุคคลทุกคน โดยมีเป้าหมายเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและมาตรฐานการรักษาพยาบาล รวมทั้งลดการฟ้องร้องและความขัดแย้งระหว่างแพทย์กับคนไข้

ข้อเสนอเฉพาะประเด็น/เฉพาะกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน

ข้อเสนอต่อการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
      ๑. จัดตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายจากบริการสาธารณสุข(สุขภาพ) สำหรับทุกคน เพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการ ลดภาระในการพิสูจน์ความผิดและความทุกข์ในการฟ้องร้อง รวมทั้งลดความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้
      ๒. มาตรฐานและคุณภาพบริการ ควรเป็นมาตรฐานเดียวในการให้บริการกับประชาชน ในระบบประกันสุขภาพทั้ง ๓ ระบบ
      ๓. การกระจายงบประมาณและบุคลากรที่สอดคล้องกับจำนวนประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ
      ๔. ยกเลิกพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และจัดทำ(ร่าง) พรบ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ เพื่อลดภาระของผู้ใช้บริการ ภาวะเสี่ยงล้มละลายของผู้ประสบอุบัติเหตุ และลดภาระต่อระบบหลักประกันประเภทต่าง ๆ เป็นต้น
      ๕.เก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ภาษีที่ดิน ภาษีมรดก ภาษีนักเล่นหุ้น หรือ ทำระบบภาษีให้เป็นภาษีก้าวหน้าที่รวมถึงการเก็บภาษีจากโอกาสทางนโยบายต่าง ๆ เช่น ภาษีอัตราพิเศษโรงพยาบาลเอกชนที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซีย

ข้อเสนอเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์

      ๑. ขอให้มีการตั้งกองทุนชดเชยความเสียหายทางการแพทย์ ทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน ชดเชยมากน้อยให้ขึ้นอยู่กับระดับของความเสียหาย เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้อง
      ๒. ขอให้มีการจัดตั้งองค์กรกลาง ประกอบไปด้วยบุคคลที่เป็นที่ยอมรับได้ทั้งฝ่ายแพทย์และฝ่ายคนไข้ ให้ทำหน้าที่พิสูจน์หาสาเหตุของความเสียหาย เพื่อนำไปสู่การชดเชยที่เป็นธรรม
      ๓. ขอให้มีการจัดทำโครงการความปลอดภัยของคนไข้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (Patient for Patient Safety) ขึ้นในประเทศไทย คือการนำความผิดพลาดที่ได้รับการพิสูจน์แล้วจากองค์กรกลาง ไปทำเป็นสถิติ นำไปเป็นบทเรียนสอนบุคลากรทางการแพทย์ และให้ความรู้กับประชาชนอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดซ้ำ ๆ ขึ้นอีก เป็นการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ ลดปัญหาการตาย การเจ็บ การพิการจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ที่สำคัญลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของชาติที่ใช้ในการดูแลคนไข้ก่อนเสียชีวิตในห้องไอซียู(ICU) โดยปกติประมาณ ๑ แสนบาทต่อหัวได้อย่างมหาศาล มีการยอมรับในการประชุมระดับชาติแล้วว่ามีคนไข้ไทยตายจากความผิดพลาดทางการแพทย์ ตายโดยป้องกันได้ประมาน ๒๕,๐๐๐-๕๐,๐๐๐ คนต่อปี)
      ๔. ขอให้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับเวชระเบียนโดยชัดเจน เนื่องจากปัจจุบันคนไข้มีปัญหาในการขอเวชระเบียนจากสถานบริการอย่างมาก เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแล้วเวชระเบียนคือหลักฐานเดียว ถึงแม้จะได้มีคำวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสาร ว่าเวชระเบียนเป็นสิทธิของผู้ป่วย แต่ไม่ค่อยมีผลในทางปฏิบัติ ยังมีการปฏิเสธ ให้ล่าช้า ได้ไม่ครบ มีการแก้ไข ซ่อนเร้น หน่วงเหนี่ยว อีกทั้งไม่ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชนอีกด้วย ขอให้ท่านได้โปรดออกกฎหมาย ให้คนไข้ที่เสียหายสามารถขอสำเนาเวชระเบียนได้ทันทีทั้งนี้ให้ครอบคลุมโรงพยาบาลเอกชนด้วย เพื่อเป็นการตัดปัญหาการพิพาทที่นำไปสู่การออกสื่อ และการแจ้งความจับแพทย์ และข้อมูลที่ได้ก็จะเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกตกแต่ง แก้ไข ดัดแปลง องค์กรกลางก็จะทำหน้าที่พิสูจน์ได้รวดเร็ว ผลที่ออกมาก็จะมีความเที่ยงตรงเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย และสามารถนำผลที่ถูกต้องนั้นไปเป็นบทเรียนสอนบุคลากรทางการแพทย์ได้อีกด้วย
      ๕. ขอให้มีการออกกฎหมายว่า หากปรากฏว่าแพทย์หรือคนไข้ จงใจแก้ไขเวชระเบียนเพื่อประโยชน์ในทางคดีแล้ว ให้ศาลหรือองค์กรกลางปรับให้เป็นฝ่ายผิดได้ในทันที และกองทุนจะไม่จ่ายค่าชดเชยให้
      ๖.ขอให้ปรับปรุงแก้ไขพรบ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยมีการจำกัดจำนวนกรรมการแพทยสภาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน เข้าไปเป็นกรรมการแพทยสภา ขอให้คณะกรรมการแพทยสภามีคนนอกเข้าไปเป็นกรรมการในสัดส่วนที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเป็นธรรมสูงสุดต่อสังคมโดยส่วนรวม ขอให้ประชาชนสามารถไต่สวนสาธารณะแพทยสภาได้ ในกรณีที่ไม่สามารถเอาผิดทางศาลกับคณะกรรมการแพทยสภาที่ละเว้นและประพฤติมิชอบได้ ขอให้ประชาชนสามารถร่วมกันโหวตให้นายกแพทยสภาลงจากตำแหน่งได้ หากปรากฏว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
      ๗. การจะออกกฎหมาย, กฎ, คำสั่ง, หรือประกาศใด ๆ ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ที่คนไข้มีส่วนได้ส่วนเสีย ขอให้คนไข้ได้มีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็นด้วยทุกครั้ง
      ๘. ขอให้มีการแก้ไขเรื่องอายุความทางแพ่ง เกี่ยวกับคดีทางการแพทย์ เนื่องจากที่ผ่านมาคนไข้ไม่สามารถรู้ว่าใครเป็นคนทำละเมิด เพราะแพทย์มักปฏิเสธ กว่าคนไข้จะหาเหตุอันชวนให้เชื่อว่าแพทย์น่าจะเป็นผู้ทำละเมิด ก็มักขาดอายุความทางแพ่ง หรือหากรอมติของแพทยสภาก็มักถูกดึงเรื่องให้นานจนขาดอายุความ เนื่องจากหลักกฎหมายสากลทางการแพทย์นั้นหากแพทย์ปฏิเสธคนไข้ ให้ถือว่าคนไข้ไม่รู้ อายุความก็จะสะดุดทันที
      ๙. ขอให้มีการแก้ไขพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ปีพ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๒ ที่ระบุว่า “ในกรณีที่มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และมิใช่เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องเป็นคดีอยู่ในศาล หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว ให้คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบและเสนอมาตรการการแก้ไขตามพระราชบัญญัตินี้” โดยขอให้เพิ่มเติมว่า “หรือที่ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งเด็ดขาดแล้ว หากปรากฏว่าการทำละเมิดนั้น เป็นคนละประเด็นกับที่ศาลฎีกาวินิจฉัย ให้คณะกรรมการมีอำนาจตรวจสอบ และเสนอมาตรการการแก้ไข้ตามพระราชบัญญัตินี้” เคยมีคดีที่ศาลฎีกาพิพากษาว่าคดีขาดอายุความ แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนยังคงมีอยู่ ดังนั้นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจึงควรมีอำนาจตรวจสอบการกระทำละเมิดนั้นได้

ข้อเสนอเครือข่ายบ้านไม่สมหวัง (กรณีอสังหาริมทรัพย์และคอนโดมิเนียม)

มาตรการระยะสั้น
      ๑ . ปรับปรุงตัวแทนในคณะกรรมการคุ้มครองให้มีองค์ประกอบจากตัวแทนผู้บริโภค ที่เดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิและรวมถึงตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกมากขึ้น
      ๒. การสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวให้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการคุ้มครองตนเองที่รอบด้านโดยมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน
      ๓. ขอให้มีการลงโทษหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ใช้กฎหมาย ที่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือร่วมมือกับเอกชนทุกจริตต่อหน้าที่ โดยต้องลงโทษที่เข้มงวดและเด็ดขาด เพราะปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความทุกข์มากมายขนาดนี้ หากมีการดำเนินการลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำละเมิดกับผู้บริโภคแต่รัฐกลับใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เช่น ขัดขวางและไม่สนับสนุนผู้บริโภคที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ใส่ร้ายป้ายสีและคุกคามผู้บริโภคที่ใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมาย
      ๔. การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ศาลปกครองสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ผู้บริโภคร้องเรียน เช่น ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิที่ดิน กองทุนในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงข้อสัญญาที่เป็นธรรมให้รวมถึงคุณภาพของวัสดุในการก่อสร้างด้วย
      ๕. การปรับปรุงมาตรการลงโทษและเปรียบเทียบปรับในการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เพิ่มสูงขึ้น
      ๖. การพัฒนาระบบข้อมูลให้สามารถเชื่อมโยงในหน่วยงานทั้งของรัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น บริษัทที่ได้รับอนุญาตการจัดสรรที่ดิน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค
     
๗. การผลักดันให้เกิดกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในชั้นศาล
      ๘. เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในกระบวนการจัดสรรที่ดินและรวมถึงให้การเคหะแห่งชาติแจ้งคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางเรื่องแผนผังการจัดสรร การแจ้งพื้นที่ส่วนกลางที่ชัดเจนและเปิดเผยให้กับผู้ซื้อของการเคหะแห่งชาติ
      ๙. พัฒนากลไกในการบังคับคดี เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการชดใช้เยียวยาเมื่อชนะคดี
      ๑๐. การอบรมเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดและบ้านจัดสรรให้กับส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาบ้านจัดสรรและอาคารชุดของตนเอง

ข้อเสนอแนะด้านมาตรฐานสินค้าโดยเฉพาะรถยนต์

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
      ๑. ควรกำหนดมาตรการในทางกฎหมายที่จะควบคุม ตรวจสอบ คุณภาพ มาตรฐานของรถยนต์ก่อนที่จะส่งมอบสินค้าให้กับผู้บริโภค
      ๒.ควรทบทวนหน้าที่ และบทบาทของหน่วยงานต่าง ๆ ให้มีมาตรฐานร่วมกัน
      ๓. ผู้บริโภคไม่ควรต้องรับภาระในการพิสูจน์ความบกพร่องของสินค้าเช่นในปัจจุบัน
      ๔.ควรมีหน่วยงานหรือองค์กรผู้บริโภคที่ทำหน้าที่พิจารณาปัญหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น
      ๕. หน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคควรทบทวนทัศนคติต่อ “ความเป็นกลาง”
      ๖. ควรผลักดันให้เกิดองค์กรอิสระผู้บริโภค ตาม รัฐธรรมนูญ ปี 2540

ข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาเรื่องหนี้สินจากบัตรเครดิต(Non Bank)

     ๑. ต้องการให้สำนักงานประกันสังคมเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ โดยห้ามให้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ประกันตนกับสำนักงานติดตามทวงหนี้ เพราะเมื่อลูกหนี้ลาออกจากงานเก่า เนื่องจากการทวงหนี้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน เช่น ส่งโทรสารประจาน ทำให้ลูกหนี้อับอาย แต่เมื่อลูกหนี้ได้งานใหม่ ซึ่งมักต้องทำประกันสังคมและแจ้งข้อมูลส่วนบุคคลกับประกันสังคม ซึ่งปัจจุบันกลุ่มทวงหนี้จะใช้ข้อมูลจากสำนักงานประกันสังคม ในการติดตาม สืบหาที่อยู่ที่ทำงานของลูกหนี้ เมื่อได้ข้อมูลก็จะดำเนินการทวงหนี้และเป็นปัญหาถูกออกจากงาน จนทำให้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้เนื่องจากขาดรายได้
     
๒. ต้องการให้สภาทนายความ จัดการกับ “สำนักงานกฎหมายที่ติดตามหนี้” ที่ชอบแอบอ้างใช้จดหมายที่เลียนแบบหมายศาล
      ๓. ต้องการให้ “กรมบังคับคดี” ตักเตือน สำนักงานกฎหมายที่ติดตามหนี้ ห้ามอ้างชื่อ “กรมบังคับคดี” ในการติดตามหนี้
      ๔. ต้องการให้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ รับเรื่องในการลงบันทึกประจำวันหรือรับแจ้งความ ในกรณีที่มีการแฟกซ์และจดหมายข่มขู่จาก สนง.ติดตามทวงหนี้ที่เข้าข่ายประจานลูกหนี้ ตลอดจนการส่งพนักงานมาที่ทำงานลูกหนี้
      ๕. ต้องการให้จัดหาทนายความไว้ช่วยเหลือซึ่งอยากให้เป็นทนายความที่ติดต่อกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขึ้นอีกส่วนหนึ่ง เนื่องจากปัจจุบัน ยังขาดทนายความที่เข้ามาช่วยเหลือลูกหนี้ไม่เพียงพอ
      ๖. ต้องการให้แก้ปัญหาดอกเบี้ยโหด ที่แบงค์ชาติยอมให้ “NON BANK” คิดดอกเบี้ย+ค่าปรับ+ค่าธรรมเนียม ซึ่งเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
      ๗. ต้องการให้รัฐบาล เข้ามาแก้ปัญหาสำหรับผู้ที่มีหนี้บัตรหลายใบ โดยให้รวมหนี้หลายบัญชีให้เป็นรายเดียว เพื่อลูกหนี้จะได้ชำระกับเจ้าหนี้รายเดียว

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน