ขอเพิ่มสัดส่วนประชาชนผู้เสนอ กม.เป็นกรรมาธิการ พิจารณา กม.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

วันพุธ ที่ 12 กันยายน เวลา 13.00 น. เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จะเข้ายื่นจดหมายต่อประธานรัฐสภา เพื่อขอให้ขอให้รัฐสภาพิจารณาเพิ่มเติมสัดส่วนประชาชนผู้เสนอกฎหมายในคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา (ร่าง)พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค

สืบเนื่องจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 10 สมัยสามัญทั่วไป วันที่ 5 กันยายน 2555ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ..... กรณีการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา โดยสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขเพิ่มเติมของวุฒิสภา และมีมติกำหนดจำนวนบุคคลที่จะประกอบเป็นกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับนี้จำนวน 22 คน โดยตั้งกรรมาธิการฝ่ายสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 11 คนและทางวุฒิสภา ได้มีมติตั้งกรรมาธิการร่วมจำนวน 11 คน เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กันยายนที่ผ่านมา

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจึง ขอให้รัฐสภาพิจารณาเพิ่มเติมสัดส่วนประชาชนผู้เสนอกฎหมายในคณะกรรมาธิการร่วมเพื่อพิจารณา (ร่าง)พระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ. .... ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 163 เพื่อไม่ให้เกิดข้อโต้แย้งใดๆ ในการจัดทำกฎหมายฉบับนี้

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 163 ได้กำหนดไว้ว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนมีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดใน หมวด 3  และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญนี้

คำร้องขอตามวรรคหนึ่งต้องจัดทำร่างพระราชบัญญัติเสนอมาด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเข้าชื่อ รวมทั้งการตรวจสอบรายชื่อ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในการร่างพระราชบัญญัติตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต้องให้ผู้แทนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้น ชี้แจงหลักการของร่างพระราชบัญญัติ และคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยผู้แทนของประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินั้นจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมาธิการทั้งหมดด้วย

กรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคพ.ศ. ....
กรรมาธิการร่วมของสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 11 คน
1. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล           พรรคเพื่อไทย
2. นายชลน่าน ศรีแก้ว                       พรรคเพื่อไทย
3. นายนิยม เวชกามา                        พรรคเพื่อไทย
4. นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์                 พรรคเพื่อไทย
5. นายขจิตร ชัยนิคม                         พรรคเพื่อไทย

6. นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน             พรรคเพื่อไทย
7. นายบุญยอด สุขถิ่นไทย                 พรรคประชาธิปัตย์
8. นายอรรถพร พลบุตร                      พรรคประชาธิปัตย์
9. นายวัชระ เพชรทอง                       พรรคประชาธิปัตย์
10. นางสาวนริศา อดิเทพวรพันธุ์      พรรคประชาธิปัตย์
11. นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช   พรรคภูมิใจไทย

กรรมาธิการร่วมของวุฒิสภาจำนวน 11 คน
1. นายสมชาย แสวงการ                      สมาชิกวุฒิสภา
2. นายมหรรณพ เดชวิทักษ์                 สมาชิกวุฒิสภา
3. นายไพโรจน์ พลเพชร                     ผู้เสนอกฎหมาย
4. นางสาวสารี อ๋องสมหวัง                 ผู้เสนอกฎหมาย
5. นางสาวรสนา โตสิตระกูล               สมาชิกวุฒิสภา
6. นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง                      ผู้ทรงคุณวุฒิ
7. ศาสตราจารย์วิรัตน์ พาณิชย์พงษ์  สมาชิกวุฒิสภา
8. นายวันชัย สอนศิริ                          สมาชิกวุฒิสภา
9. พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์          สมาชิกวุฒิสภา
10. นายวิเชียร คันฉ่อง                       สมาชิกวุฒิสภา
11. นายเจริญ ภักดีวานิช                    สมาชิกวุฒิสภา

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน