กป.อพช. อีสาน ร้องนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ

                    99789

           วันนี้ 27 สิงหาคม 2561 เวลา 10.30-11.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) อ.เมือง จ.ขอนแก่น ทางเครือข่ายประชาชนภาคอีสานประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนอีสานติดตามนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล ,คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช) ,กลุ่มนักวิชาการเพื่อประชาชนภาคอีสาน ,เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนภาคอีสาน, เครือข่ายสภาองค์กรจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดแถลงข่าวเรื่องผลกระทบนโยบายส่งเสริมการอุตสาหกรรมอ้อยพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลที่จะสร้างขึ้นในภาคอีสาน  

          สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ได้ออกใบอนุญาตให้ผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลซึ่งผูกขาดด้วยผู้ประกอบการรายใหญ่ 6 กลุ่มสามารถตั้งโรงงานน้ำตาลใหม่ หรือย้าย-ขยายกำลังผลิตไปตั้งยังที่แห่งใหม่ บวกกับโรงงานที่ได้รับอนุญาตตามมติ ครม.ปี 2554 รวมแล้วในภาคอีสานจะมีไบโอฮับเป็นศูนย์กลางในพื้นที่ฐานการผลิต และจะมีโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มขึ้น 29 โรงงาน โดยแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ.2558 – 2569 วางเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย 5.47 ล้านไร่ เพิ่มผลผลิตเอทานอล 2.88 ล้านลิตร/วัน เพิ่มผลิตไฟฟ้าชีวมวล 2,458 เมกะวัตต์ จากนั้นได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ หรือ ไบโอฮับ เสนอให้ คสช. ใช้ มาตรา 44 เรื่องการยกเว้นบังคับใช้กฎกระทรวง ตาม พ.ร.บ. การผังเมือง พ.ศ.2518 ในโรงงานน้ำตาลทราย และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์อื่นที่ใช้อ้อยเป็นวัตถุดิบที่ตั้งควบคู่กับโรงงานน้ำตาลให้สามารถก่อสร้างได้ในพื้นที่การเกษตร มีการศึกษาและจัดทำรายงาน EIA ให้กลุ่มโรงงานที่ใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากอ้อย เพื่อใช้ในการขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน/ขยายโรงงานของผู้ประกอบการ และมีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยอ้อยและน้ำตาลทราย และกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมจากอ้อยและน้ำตาลทรายมาอย่างต่อเนื่อง

        การออกใบอนุญาตให้โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวลในคราวเดียวกัน 27 โรงงาน และแผนพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งจะต้องมีผลผลิตจากการปลูกอ้อยหลายล้านไร่ในพื้นที่ 50 กิโลเมตรของแต่ละโรงงาน เป็นการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ขนาดใหญ่จากนโยบายรัฐโดยยังไม่ได้ศึกษาอย่างรอบคอบว่าโรงงานแต่ละแห่งนั้นควรตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ห่างจากพื้นที่แหล่งอาหาร และแหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีแหล่งน้ำที่จะไม่กระทบต่อการใช้น้ำอุปโภค-บริโภคของชุมชน หรือเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยหรือไม่ รวมทั้งยังไม่ได้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียอย่างรอบด้านให้แก่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ได้ทำความเข้าใจอย่างเพียงพอ  

         นายอกนิษฐ์ ป้องภัย คณะกรรมการเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน กล่าวว่าอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสาน เช่น โรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล 27 แห่ง อุตสาหกรรม ไบโอฮับ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอาหารสัตว์ ซึ่งโรงไฟฟ้าชีวมวลที่นำวัตถุดิบชานอ้อยมาผลิตกระแสไฟฟ้าคงไม่พอแน่นอนว่าต้องนำเข้าถ่านหินลิกไนต์ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เช่น ปรอท มะเร็ง เป็นต้น จึงเสนอให้รัฐได้จัดเวทีให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนที่กลุ่มโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น เช่น พรุ่งนี้ 28 สิงหาคม 2561 ที่ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตน์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทางโรงงานจะจัดรับฟังความคิดเห็น (ครั้งที่ 1) การสร้างโรงงานน้ำตาลพ่วงโรงไฟฟ้าชีวมวล จริงๆ ฝ่ายโรงงานยังไม่ควรทำเพราะประชาชนยังไม่รู้ว่าจะมีโรงงานดังกล่าว ดังนั้นหน่วยงานของรัฐต้องจัดเวทีให้ความรู้กับคนในพื้นที่ในรัศมี 5 กิโลเมตรก่อนอีกทั้งเสนอให้พื้นที่ที่จะก่อสร้างในจังหวัดอื่นๆ ในอีสานด้วย

          ต่อมานายปฏิวัติ เฉลิมชาติ รองเลขาธิการ กป.อพช.อีสาน กล่าวว่าเครือข่ายประชาชนอีสาน ขอเรียกร้องสิทธิ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 43 ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณี อันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ สิทธิในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลาย ทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ และสิทธิในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

และ มาตรา 58 ที่บัญญัติไว้ว่า การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยา ความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

           เครือข่ายประชาชนอีสาน ขอย้ำว่า การดำเนินการอนุมัติอนุญาตใด ๆ ต่อโครงการทั้งหมดแก่ผู้ประกอบการต้องยุติไว้ก่อน จนกว่ารัฐจะใช้กระบวนการนโยบายสาธารณะดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อให้ประชาชนมีข้อมูลความเข้าใจที่เพียงพอจะนำมาประกอบการพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ

          และขอให้มีการทบทวนแผนยุทธศาสตร์อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2558 – 2569 และแผนการพัฒนาไบโอฮับ ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มทุนบางกลุ่ม มีการวางเป้าหมายที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง และไม่สอดคล้องกับนิเวศวัฒนธรรมอีสานทีไม่สามารถรองรับอุตสาหกรรมพืชเชิงเดี่ยว และอุตสาหกรรมพลังงานที่ต้องใช้วัตถุดิบจากพืชเชิงเดี่ยวได้อีกต่อไป

Tags: เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน, กป.อพช.อีสาน

พิมพ์ อีเมล