มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย สถานการณ์เรื่องร้องเรียน ทั้งปี 2563 ปัญหา ‘โฆษณาเกินจริง’ ยังมีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุด และในช่วงโควิด - 19 ผู้บริโภคยังร้องเรียนปัญหาหน้ากากอนามัย - เจลล้างมือ ราคาแพงและไม่มีมาตรฐาน เข้ามาจำนวนมาก
วันนี้ (9 มกราคม 2564) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2563 ในปีที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค ทั้งหมด 3,667 ราย ซึ่งได้มีการแบ่งปัญหาของผู้บริโภคออกเป็น 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข
ปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังคงเป็นปัญหาที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามามากที่สุดในปี 2563 ถึง 1,089 เรื่อง หรือ คิดเป็นร้อยละ 29.70 รองลงมา ได้แก่ ปัญหาด้านบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียนเข้ามาจำนวน 812 เรื่อง หรือ คิดเป็นร้อยละ 22.14 และอันดับสาม ได้แก่ ปัญหาด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน 742 เรื่อง หรือ คิดเป็นร้อยละ 20.23
สำหรับปัญหาด้านอาหาร ยา ผลิตภัณฑ์สุขภาพ (1,089 เรื่อง) ที่มีผู้ร้องเรียนเข้ามามากที่สุดนั้น ส่วนใหญ่เป็นปัญหาที่พบจากเฝ้าระวังการขายผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านทางช่องทางออนไลน์ เรื่องการโฆษณาเกินจริงยังคงเป็นปัญหาที่ยังพบมากอยู่ ทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง จนทำให้มีผู้เข้าใจผิดหลงเชื่อและสั่งซื้อมาใช้ ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีเลข อย. หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ฉลากถูกสั่งเลิกใช้ไปแล้ว ยังพบว่า มีวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาด
ส่วนปัญหาบริการสาธารณะ (812 เรื่อง) พบปัญหาในเรื่องพนักงานประพฤติตัวไม่เหมาะสม เช่น พูดไม่สุภาพ สูบบุหรี่ในรถ ขับรถเร็ว เป็นต้น และปัญหาจากการเฝ้าระวังรถรับ - ส่งนักเรียนนั้น พบว่า มีการใช้รถโดยสารผิดประเภทเข้ามาดัดแปลงในการขนส่ง นอกจากนี้ ในปี 2563 ยังมีผู้บริโภคร้องเรียนสายการบินเข้ามาจำนวนมากถึง 304 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นปัญหาการคืนเงิน กรณีการยกเลิกเที่ยวบินในช่วงโควิด - 19 มีการระบาดอย่างหนักช่วงต้นปีที่ผ่านมา
สุดท้าย ปัญหาสินค้าและบริการทั่วไป (742 เรื่อง) พบปัญหาในการซื้อสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีราคาสูงเกินจริง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการระบาดของโควิด - 19 ที่ทุกคนจำเป็นต้องหาอุปกรณ์ในการป้องกันตัวเองและรักษาสุขภาพ เช่น การสวมใส่หน้ากากอนามัย หรือการใช้เจลล้างมือที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปในการฆ่าเชื้อโรค ทำให้สินค้าเหล่านี้มีความต้องการสูงมากจนขาดตลาด ขณะที่ผู้ประกอบการบางรายก็อาศัยช่วงเวลานี้ฉวยโอกาสกักตุนสินค้าเพื่อนำมาขายในราคาที่สูงเกินจริง นอกจากนี้ในยุคที่สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ได้สะดวกมากขึ้นนั้น ก็ยังพบปัญหาจากการที่ผู้บริโภคสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าตามที่สั่งซื้อเป็นจำนวนมากเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม มพบ. และ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาโดยนำประเด็นปัญหาดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ประกอบการ หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขและเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ตัวอย่างเช่น กรณีสายการบินยกเลิกเที่ยวบินนั้น มพบ. ได้ร่วมกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย จัดเวทีเพื่อหาทางออกร่วมกันและผลักดันให้มีการเยียวยาความเสียหายแก่ผู้บริโภคอย่างเร่งด่วน สำหรับปัญหาการขายสินค้าเกินราคาหรือราคาแพง ได้ประสานงานกับกรมการค้าภายในเพื่อให้ตรวจสอบแหล่งร้านค้าที่ขายสินค้าเกินราคา ขณะเดียวกันยังได้ประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้จัดการกับกรณีที่มีการขายสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เช่น เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัยไม่ได้มาตรฐาน
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศนายทะเบียนกลาง เรื่อง การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ทำให้เกิด ‘สภาองค์กรผู้บริโภค’ อย่างเป็นทางการ ซึ่งสภาองค์กรฯ นั้นมีขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนให้กับผู้บริโภค ช่วยตรวจสอบ เตือนภัย เปิดเผยข้อมูล และชื่อสินค้าที่หลอกลวง ไม่ปลอดภัยกับผู้บริโภค ช่วยสนับสนุนผู้บริโภคให้สามารถแก้ปัญหา เคียงข้างผู้บริโภคในการเจรจาไกล่เกลี่ย ประนีประนอม ตั้งแต่ก่อนฟ้องจนเรื่องขึ้นสู่ศาล ช่วยฟ้องคดี รวมถึงช่วยผู้บริโภคที่ใช้สิทธิแล้วถูกดำเนินคดี รวมถึงทำให้ผู้บริโภค รู้สิทธิ เข้าถึงสิทธิและใช้สิทธิได้อย่างเข้มแข็ง โดยร่วมกับองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เพื่อคุ้มครองสิทธิอันพึงมีพึงได้ของผู้บริโภค