ผลโพลล์พุ่งอันดับหนึ่ง คนกรุงต้องการค่ารถไฟฟ้าทุกระบบไม่เกิน 33 บาท มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจงต้องลดค่าโดยสาร คำนึงความเดือดร้อนของผู้บริโภค

ภาพข่าวโพล์ขนส่งมวลชน

โพลล์ชี้คนกรุงเทพ 47.1% ต้องการรถไฟฟ้าทุกระบบราคาไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือ 33 บาท แต่บีทีเอสสวนทาง ยกเลิกตั๋วรายเดือน ทั้งที่คนกรุงเทพ 45.5% ใช้รถไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน รองจากรถเมล์ ด้านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแจงค่าโดยสารแพงส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค แนะขนส่งฯ ศึกษาและแก้ไขปัญหาตามผลสำรวจ

     มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้บริการขนส่งมวลชน ในกรุงเทพมหานคร โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,200 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 8 - 17 กันยายน 2564

     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการใช้บริการขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร มีข้อมูลที่น่าสนใจตังต่อไปนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีบริเวณที่พักอาศัยที่มีบริการขนส่งมวลชนให้เลือกใช้บริการได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ร้อยละ 85 และมีบริเวณที่พักอาศัยที่สามารถเดินเท้ามาถึงจุดให้บริการขนส่งมวลชนได้ในระยะทาง 1,000 เมตร มากที่สุด ร้อยละ 38.2 อันดับที่สองคือ ระยะทาง 500 เมตร ร้อยละ 27.1 อันดับที่สามคือ ระยะทาง 1,500 เมตร ร้อยละ 18.5 และอันดับสุดท้ายคือ ระยะทาง มากกว่า 1,500 เมตร ร้อยละ 16.2

     บริการขนส่งมวลชนที่สามารถเลือกได้มากที่สุดจากที่พักอาศัย อันดับที่หนึ่งคือ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) ร้อยละ 84 อันดับที่สองคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 72.7 อันดับที่สามคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 51.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 48.4 อันดับที่ห้าคือ รถสองแถว ร้อยละ 44.7 และอันดับสุดท้ายคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 33.5 โดยในชีวิตประจำวันของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ใช้บริการขนส่งมวลชนประเภท รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) มากที่สุด ร้อยละ 68 อันดับที่สองคือ รถไฟฟ้า ร้อยละ 45.5 อันดับที่สามคือ รถจักรยานยนต์รับจ้าง ร้อยละ 42.6 อันดับที่สี่คือ รถเมล์เอกชนร่วมบริการ ร้อยละ 30 อันดับที่ห้าคือ เรือโดยสาร ร้อยละ 28.2 และอันดับสุดท้ายคือ รถสองแถว ร้อยละ 23

     ในส่วนของความถี่ในการใช้บริการขนส่งมวลชนของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คือ 5-6 ครั้งต่อสัปดาห์ มากที่สุด ร้อยละ 23 อันดับที่สองคือ 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 22.5 อันดับที่สามคือ ใช้ทุกวัน ร้อยละ 21.8 อันดับที่สี่คือ นานๆ ครั้ง ร้อยละ 17.6 และอันดับสุดท้ายคือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ ร้อยละ 15.1 กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้บริการขนส่งมวลชนในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ร้อยละ 73.5

     กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชนของผู้บริโภคแต่ละประเภท ดังนี้ รถโดยสารประจำทาง ขสมก. (รถเมล์) มีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ ด้านความสะดวกในการเข้าถึงบริการ และจุดเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ ราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 33 บาท ร้อยละ 30.6 อันดับที่สามคือ บริการของรถเมล์มีมาตรฐานตรงเวลา ไม่ล่าช้า ร้อยละ 29.7 อันดับที่สี่คือ รถเมล์มีบริการที่มีคุณภาพ ในการรับส่งผู้โดยสาร ร้อยละ 27.7 อันดับที่ห้าคือ อัตราค่าโดยสารเหมาจ่ายรถร้อน 10 บาท (ทั้งวัน) ร้อยละ 26.7

     รถไฟฟ้า กลุ่มตัวอย่างมีความต้องการใช้บริการขนส่งมวลชน อันดับที่หนึ่งคือ ด้านราคาค่าโดยสารขนส่งมวลชนทุกระบบรวมกัน ต้องไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ (กรุงเทพมหานคร) หรือ 33 บาท ร้อยละ47.1 อันดับที่สองคือ ความสะดวกในการเข้าถึงสถานี และเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนได้ไม่ติดขัด ร้อยละ 43.1 อันดับที่สามคือ การเชื่อมต่อรถไฟฟ้าทุกสายเพื่อลดค่าแรกเข้าเหลือครั้งเดียว (ขึ้นหลายสายก็จ่ายครั้งเดียว) ร้อยละ 41.6 อันดับที่สี่คือ การออกแบบพื้นที่เพื่อรองรับการเข้าถึงรถไฟฟ้าของกลุ่มผู้พิการ ร้อยละ 39.4 อันดับที่ห้าคือ ต้องการให้รถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่รัฐต้องดำเนินการเพื่อประชาชน ร้อยละ 38.9

โพลล์การใช้บริการขนส่งมวลชน 01

     นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลการสำรวจครั้งนี้ สะท้อนถึงความทุกข์และความต้องการของผู้บริโภคคนเมืองที่ใช้บริการขนส่งมวลชนแต่ละประเภทได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะบริการขนส่งพื้นฐาน เช่น รถเมล์ประจำทางที่มีผู้ใช้บริการมากที่สุด แต่ก็ยังต้องการความสะดวก จุดเชื่อมต่อระบบไม่ติดขัด และบริการที่มีคุณภาพตรงต่อเวลา ขณะที่การเข้าถึงจุดเชื่อมต่อหรือป้ายรถประจำทางจากที่พักอาศัยของคนส่วนใหญ่ต้องเดินเท้าในระยะทาง 1,000 เมตร ส่งผลให้ผู้บริโภคอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการเดินทางหลายต่อ และไม่สะดวกต่อการเดินทางในชีวิตประจำวัน ดังนั้นรัฐจึงควรรณรงค์และกำหนดนโยบายให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงจุดเชื่อมต่อหรือป้ายรถเมล์จากที่พักไม่ให้เกิน 500 เมตร ซึ่งประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญที่องค์กรผู้บริโภคจะผลักดันอย่างต่อเนื่อง

     ขณะที่ราคาค่าโดยสาร ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องแก้ไขปรับราคาลดลงให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ เพื่อให้ทุกคนเข้าถึงขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าและรถเมล์ต่างก็ต้องการให้ราคาค่าโดยสารทุกระบบรวมกัน ไม่เกิน 10% ของค่าแรงขั้นต่ำ หรือ 33 บาท แต่ขณะนี้กลับพบปัญหาเรื่องแผนปฏิรูปรถเมล์ที่จะทำให้ราคาค่าโดยสารถูกลงก็ยังไปไม่ถึงไหน ภาระค่าใช้จ่ายที่แพงขึ้นจึงกระทบต่อค่าครองชีพของผู้บริโภค

     ส่วนค่าโดยสารรถไฟฟ้าก็เพิ่มขึ้น จากการที่บีทีเอสประกาศยกเลิกตั๋วรายเดือน ทำให้ค่าโดยสารเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวในช่วงวิกฤตโควิด-19 บีทีเอสให้เหตุผลในการยกเลิก คือ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะตั้งแต่ 1 ต.ค. 64 ก็มีผู้ใช้บริการจำนวนมากขึ้นเทียบเท่าเวลาปกติ และผลการสำรวจรถไฟฟ้าเป็นบริการขนส่งมวลชนที่คนในกรุงเทพใช้ในชีวิตประจำวันเป็นอันดับที่ 2 ฉะนั้นการยกเลิกตั๋วรายเดือนของบีทีเอสจึงเข้าข่ายเป็นการสร้างวิกฤตใหม่ซ้ำเติมค่าครองชีพ และผลักภาระให้กับประชาชนจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องเข้ามากำกับการประกอบธุรกิจขนส่งสาธารณะที่ควรต้องเป็นบริการพื้นฐานด้านขนส่งมวลชนที่รัฐต้องจัดให้กับประชาชนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม

Tags: รถไฟฟ้า, รถโดยสารสาธารณะ, รถไฟฟ้าบีทีเอส, รถเมล์

พิมพ์ อีเมล