มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ 18 องค์กรลงนาม MOU ผนึกกำลังคุ้มครองผู้บริโภคซื้อขายออนไลน์

ภาพข่าวเซ็น mou 01

รมต. ดีอีเอส เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไทยให้เท่าสากล เลขาสภาองค์กรของผู้บริโภค เผย MOU 21 ข้อ สร้างความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอลได้ พร้อมขอบคุณ ETDA - สสส.-ร้านค้าออนไลน์  รวม 19 องค์กรภาครัฐ-เอกชน ร่วมสร้างบรรทัดฐานใหม่คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์

          วันนี้ (15 พฤศจิกายน 2564) เวลา 09.30 – 12.00 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ ร่วมกัน 19 องค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานเปิดงานในพิธี

         นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระบุว่า การทำธุรกิจออนไลน์เป็นการทำตลาดตรงกับผู้บริโภค ดังนั้นรูปแบบการสื่อสาร การโฆษณาชวนเชื่อ จึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อผู้บริโภค และผู้บริโภคไม่สามารถเห็นหรือสัมผัสสินค้าได้ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ที่สำคัญผู้ซื้อไม่สามารถรูัตัวตนที่แท้จริงของผู้ขาย ถือเป็นความเสี่ยงของผู้บริโภคที่อาจก่อให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น การหลอกขายสินค้า ได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา สินค้าเสียหาย สินค้าผิดกฎหมาย รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหลแล้วถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด การลงนามในบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ในการยกระดับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคไทยไปสู่มาตรฐานสากล

         ด้าน น.ส.อภิญญา ตันทวีวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ภายหลังสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) กับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ก็ยังพบว่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคไม่ได้รับการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ทำให้ยังมีการหลอกลวงคุณสมบัติเกินจริงเพื่อสร้างยอดขาย ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่ไม่ตรงตามคำโฆษณา สินค้าเสียหายก่อนถึงมือ รวมไปถึงปัญหาการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและความเป็นส่วนตัว ดังนั้นถือเป็นนิมิตหมายที่ดีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ องค์กรด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและองค์กรภาคเอกชน ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์และหน่วยงานของรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค จะมาร่วมมือกันในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  

         ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ร่วมกันทำข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ฉบับนี้ ซึ่งมี 21 ข้อ ซึ่งจะเป็นกลไกหลักในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคสำหรับการซื้อ-ขายทางของออนไลน์ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รวมถึงความปลอดภัยทางเศรษฐกิจดิจิตอลในอนาคตและช่วยลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในระยะยาว ซึ่งขอบคุณ เจดี เซ็นทรัล ลาซาด้า แอลเอ็นดับเบิลยู บิวตี้นิสต้า แอสเชนด์ คอมเมิร์ซ ที่เข้าร่วม แต่น่าเสียดายที่ความร่วมมือนี้ยังไม่ครอบคลุมทั้ง ช้อปปี้ เฟซบุ๊กประเทศไทย ซึ่งก็จะเดินหน้าประสานงานต่อไป

         บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการคุ้มครองผู้บริโภคในการซื้อขายสินค้าและบริการในตลาดออนไลน์ มีรายละเอียด ดังนี้

         1. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะปฏิบัติต่อผู้บริโภคอย่างเป็นธรรม

         2. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะยึดมั่นความรับผิดชอบที่มีต่อผู้บริโภค

         3. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้อง

         4. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะปฏิบัติตามมาตรฐานของประเทศที่จำหน่ายสินค้าและบริการ

         5. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะยึดมั่นในคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าและบริการ

         6. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะสื่อสารด้วยความซื่อสัตย์และตรงตามความเป็นจริง

         7. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะแสดงราคาอย่างโปร่งใส

         8. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะบันทึกประวัติการซื้อขายอย่างเหมาะสม

         9. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะมีทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถยกเลิกการสั่งซื้อสินค้าหรือบริการ

         10. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะให้ความสำคัญกับการร้องเรียนของผู้บริโภค

         11. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า

         12. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะดูแลให้การชำระเงินออนไลน์มีความปลอดภัย

         13. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะหลีกเลี่ยงการส่งสแปมออนไลน์

         14. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะไม่สร้างรีวิวปลอม

         15. ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จะให้ความรู้แก่ผู้บริโภคเกี่ยวกับความเสี่ยงในการซื้อสินค้าออนไลน์

         16. สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตกลงที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ให้บริการตลาดออนไลน์จัดทำแนวปฏิบัติที่ดีหรือมีกลไกในการกำกับดูแลตนเองที่เหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจอันดีและเป็นที่ยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ ผู้บริโภค และหรือหน่วยงานของรัฐ

         17. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค ตกลงที่จะให้ความร่วมมือกับผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ ในการเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการออนไลน์ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค และผู้ให้บริการตลาดออนไลน์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค

         18. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และสภาองค์กรของผู้บริโภค จะติดตามผู้ให้บริการตลาดออนไลน์ และหน่วยงาน เพื่อให้ดำเนินการตามที่กำหนดในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือนี้ต่อผู้บริโภคและต่อสังคม

         19. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตกลงที่จะช่วยประชาสัมพันธ์ถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ให้บริการตลาดออนไลน์

         20. สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ให้ความร่วมมือในการประสานงานแก่สมาชิกและหน่วยงาน ช่วยประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูล เกี่ยวกับบริการออนไลน์ที่ประโยชน์ต่อผู้บริโภค รวมทั้งการให้ความร่วมมือในการติดตามและประเมินผลทุก ๖ เดือน ในบันทึกข้อตกลงความร่วมนี้

         21. หน่วยงานของรัฐด้านการคุ้มครองผู้บริโภค “พยาน” ตกลงที่จะให้คำปรึกษา ให้การสนับสนุน และบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าวข้างต้น

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สภาองค์กรของผู้บริโภค, MOU, ซื้อขายออนไลน์, ตลาดออนไลน์, ร้านค้าออนไลน์, กระทรวงดิจิทัล

พิมพ์ อีเมล