สรุปสาระสำคัญปัญหาการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงาน

กระทรวงพลังงาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่  ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ ด้วยความมุ่งหมายของรัฐบาลในขณะนั้นที่ต้องการจะรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในหน่วยงานกว่า ๒๐ หน่วยงาน ๙ กระทรวงให้เกิดเอกภาพภายในการบริหารจัดการงานด้านพลังงานอันเป็นกิจการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมที่มีอยู่อย่างจำกัดและถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน

 

กระทรวงพลังงาน มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย แผน และมาตรการด้านพลังงาน จัดหาพลังงาน พลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียน กำหนดมาตรการ กฎ ระเบียบ และกำกับดูแล ควบคุม การดำเนินงานด้านพลังงาน รวมถึงส่งเสริม สนับสนุน การจัดหาพัฒนาและอนุรักษ์พลังงาน และที่สำคัญต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ หมวด ๕ เรื่องแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ อันมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงานปรากฏในส่วนที่ ๗ ว่าด้วยเรื่องแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะตามมาตรา ๘๔ (๑) (๒) (๕) (๑๐) และ (๑๑) ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรา ๘๔ (๑) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรมโดยอาศัยกลไกตลาด และสนับสนุนให้มีการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน   โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ และต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน  เว้นแต่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ รักษาผลประโยชน์ส่วนรวม หรือการจัดให้มีสาธารณูปโภค

มาตรา ๘๔ (๒) สนับสนุนให้มีการใช้หลักคุณธรรม จริยธรรม และหลักธรรมาภิบาล ควบคู่กับการประกอบกิจการ

มาตรา ๘๔ (๕) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาดตัดตอนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม และคุ้มครองผู้บริโภค

มาตรา ๘๔ (๑๐) จัดให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐในทางเศรษฐกิจ และต้องมิให้สาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอยู่ในความผูกขาดของเอกชนอันอาจก่อความเสียหายแก่รัฐ

มาตรา ๘๔ (๑๑) การดำเนินการใดที่เป็นเหตุให้โครงสร้างหรือโครงข่ายขั้นพื้นฐานของกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐอันจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชน หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐตกไปเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน หรือทำให้รัฐเป็นเจ้าของน้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดจะกระทำมิได้

 

ในการจัดตั้งกระทรวงพลังงานได้มีการนำรัฐวิสาหกิจด้านน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ จากกระทรวงอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งแปรสภาพจากการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) และกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ มาสังกัดกระทรวงพลังงาน แต่ปรากฏว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงพลังงานมิได้ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการของบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนอย่างใหญ่หลวงและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้

๑.   นับแต่ ปตท. ถูกแปรรูปกลายเป็นบริษัทมหาชนจำกัด กระทรวงพลังงานมิได้ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลกิจการพลังงานให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรี มีความเป็นธรรม โดยอาศัยกลไกตลาดที่แท้จริงแต่อย่างใด ปล่อยให้มีการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการให้สิทธิแก่บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ผูกขาดการจัดหา และจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวของประเทศโดยไม่มีการแข่งขัน ราคาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) จำหน่ายให้กับผู้ใช้ก๊าซรายใหญ่อย่างโรงไฟฟ้าทั้งของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และของโรงไฟฟ้าเอกชน มิได้เป็นไปตามกลไกตลาดที่แท้จริง แต่เป็นไปตามการสูตรคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่กระทรวงพลังงานกำหนด ซึ่งมีราคาที่สูงกว่าราคาก๊าซที่บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) จำหน่ายให้กับโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจในกลุ่มของตน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในราคาที่สูงเกินควร

๒.   ศาลปกครองสูงสุด ได้มีคำตัดสินในคดีที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและประชาชนร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนการแปรรูปบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ว่า การที่ ปตท. ได้เปลี่ยนเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว จึงไม่ได้มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป  พิพากษาให้ ปตท. ต้องคืนท่อส่งก๊าซธรรมชาติและอุปกรณ์ที่ประกอบกันเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ รวมถึงท่อส่งน้ำมัน คืนให้แก่รัฐทั้งหมด เพราะถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดิน จะให้ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชนไม่ได้ แต่จนถึงปัจจุบันปรากฏหลักฐานของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ยังดำเนินการคืนทรัพย์สินไม่ครบโดยเฉพาะท่อส่งก๊าซทางทะเล นอกจากกระทรวงพลังงานจะไม่ดำเนินการติดตามตรวจสอบการคืนทรัพย์สินให้ครบแล้ว กระทรวงพลังงานยังกำหนดสูตรการคำนวณราคาก๊าซธรรมชาติและค่าใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติโดยยอมให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ประเมินมูลค่าท่อส่งก๊าซได้ใหม่เสมือนว่า ท่อส่งก๊าซยังเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ซึ่งขัดกับคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) ได้รับประโยชน์จากการขึ้นค่าผ่านท่อก๊าซที่ได้จากการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินเพิ่มขึ้นอีกด้วย

๓.   ระบบท่อส่งก๊าซถือเป็นระบบที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐจะต้องเข้าไปควบคุมดูแลโดยตรง การละเลยของกระทรวงพลังงานเช่นนี้ ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) กลายเป็นธุรกิจที่ดำเนินกิจการก๊าซธรรมชาติแบบผูกขาดโดยไม่มีคู่แข่งทั้งธุรกิจการจัดหา การให้บริการท่อส่งก๊าซ การแยกก๊าซ และการจัดจำหน่าย ปตท. จึงสามารถกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติได้อย่างเบ็ดเสร็จ  ทั้งที่การกระทำดังกล่าวขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่ไม่ปรากฏว่าข้าราชการที่เข้าไปเป็นกรรมการในฐานะตัวแทนของรัฐซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จะมีการคัดค้านหรือกำกับดูแลให้บริษัทต้องดำเนินการตามที่กฎหมายบัญญัติ

๔.   กระทรวงพลังงานปล่อยให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เข้าเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในกิจการโรงกลั่นน้ำมัน ๕ แห่งจากที่มีโรงกลั่นขนาดใหญ่ในประเทศทั้งหมด ๖ แห่ง ทำให้บริษัท ปตท จำกัด(มหาชน) เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ไม่เกิดการแข่งขันด้านราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นอย่างแท้จริง ขณะที่ กระทรวงพลังงานมิได้พยายามแก้ปัญหานี้ แต่กลับกำหนดราคาจำหน่ายน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศอิงราคานำเข้าจากสิงคโปร์ซึ่งเป็นการสร้างกลไกตลาดเทียม ที่ไม่ได้อิงอุปสงค์อุปทานภายในประเทศแต่อย่างใด

๕.   กระทรวงพลังงาน ยอมให้มีการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากประชาชนไปอุดหนุนการใช้แอลพีจีที่เป็นวัตถุดิบของธุรกิจปิโตรเคมี และทำการโฆษณาที่เป็นเท็จกล่าวหาผู้ใช้รถยนต์ที่ใช้แอลพีจีว่าเป็นสาเหตุทำให้ก๊าซแอลพีจีไม่พอเพียงและพยายามให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีกับภาคประชาชน การนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนให้ภาคปิโตรเคมีดังกล่าว เป็นการกระทำที่ผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนน้ำมันฯ ตั้งแต่แรกเริ่ม ที่มีขึ้นเพื่อรักษาระดับราคาพลังงาน มิใช่เพื่อไปอุดหนุนราคาวัตถุดิบในอุตสาหกรรมใดโดยเฉพาะ จึงเป็นการกระทำที่ไม่เป็นธรรมต่ออุตสาหกรรมอื่นที่ไม่ได้รับการอุดหนุน และยังเป็นการเอาเปรียบประชาชน ผู้เป็นเจ้าของกองทุนน้ำมันฯ อีกด้วย

 

ปัญหาดังที่กล่าวมา สาเหตุสำคัญประการหนึ่งมาจากการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่ขาดธรร-มาภิบาล โดยพบว่า มีเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงานหลายตำแหน่ง เข้าไปมีส่วนได้เสียในฐานะเป็นกรรมการในธุรกิจของเอกชนด้านพลังงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับ ดูแล ควบคุม หรือตรวจสอบของกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ได้รับผลตอบแทนเป็นเงินโบนัส ซึ่งเป็นผลประโยชน์ที่อิงกับผลกำไรของธุรกิจพลังงานนั้น อีกทั้งยังมีการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งโดยสภาพของผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชนนั้นอาจขัดหรือแย้งต่อประโยชน์ส่วนรวม หรือประโยชน์ทางราชการ หรือกระทบต่อความมีอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้นั้น อันเป็นการดำเนินกิจการต้องห้ามตามความในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.๒๕๔๒ รายละเอียดตามตารางข้างท้าย

เพื่อป้องกันการก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยส่วนรวม สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมรายชื่อประชาชนจำนวน ๓,๑๘๖ คน ใคร่ขอเรียกร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐๐ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว เร่งพิจารณากำหนดตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ต้องห้ามมิให้ดำเนินกิจการตามความในบทบัญญัติดังกล่าวเพิ่มเติมโดยเร็ว คือ  

 

๑. ปลัดกระทรวงพลังงาน  

๒. รองปลัดกระทรวงพลังงาน  

๓. อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ  

๔. อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน  

๕. อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และ  

๖. ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

 

 ตารางแสดงการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคล

และประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงในกระทรวงพลังงาน (ช่วงปี ๒๕๕๔-๒๕๕๕)

 

เจ้าหน้าที่ของรัฐในกระทรวงพลังงาน

ตำแหน่งในบริษัทเอกชน
(พ.ศ.๒๕๕๔-๒๕๕๕)

นายณอคุณ  สิทธิพงศ์  
ปลัดกระทรวงพลังงาน
 

ตำแหน่งสำคัญและหน้าที่เกี่ยวข้อง

ประธานกรรมการปิโตรเลียม
-ให้ความเห็นชอบในการให้สัมปทาน ต่อระยะเวลาสำรวจ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียม

-ทำความตกลงราคาขายก๊าซธรรมชาติในราชอาณาจักรกับผู้รับสัมปทาน

กรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ 
-เสนอแนะนโยบายและแผนการบริหารและพัฒนาพลังงานของประเทศต่อคณะรัฐมนตรี

-กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดราคาพลังงาน

กรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
-กำหนดราคาและอัตราเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

-เสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน และกำกับการเปลี่ยนแปลงค่าไฟฟ้า Ft

กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ประธานอนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

ประธานกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV

ประธานอนุกรรมการพิจารณาการชดเชยราคา NGV

ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า

ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย

ประธานอนุกรรมการเอทานอล

ประธานอนุกรรมการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ

กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ

กรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน

ประธานกรรมการติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ประธานบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)

  • ดูแลการจัดหา จัดจำหน่ายปิโตรเลียมของประเทศ
  • ดูแลธุรกิจระบบท่อก๊าซ , โรงแยกก๊าซ ,  จำหน่าย NGV

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๕๒๙,๐๐๐ บาท  โบนัส ๒,๒๒๓,๒๘๗ บาท

รวมรับทั้งสิ้น ๒,๗๕๓,๒๐๗ บาท

ประธานกรรมการบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)

ผู้รับสัมปทานสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๘๕๐,๐๐๐ บาท โบนัส ๒,๔๓๒,๕๑๗ บาท

รวมรับทั้งสิ้น ๓,๒๘๒,๕๑๗ บาท

กรรมการ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน)

โรงกลั่นน้ำมัน กำลังผลิต ๒๗๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน

ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๘๐,๐๐๐ บาท

โบนัส ยังไม่ได้ รวมรับทั้งสิ้น ๘๐,๐๐๐ บาท

(เพิ่งรับตำแหน่งเมื่อ พ.ย.๒๕๕๔)

กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๒๑๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย  ลาออกเมื่อ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๔

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๕๔๐,๐๐๐ บาท โบนัส ๑,๙๓๗,๘๘๘  บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๔๗๗,๘๘๘ บาท

นายคุรุจิต  นาครทรรพ
รองปลัดกระทรวงพลังงาน

ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หากได้รับมอบหมาย)

ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (หากได้รับมอบหมาย)

ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (หากได้รับมอบหมาย)

กรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)

 

กรรมการอิสระบริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

ดำเนินธุรกิจน้ำมัน มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๑๗๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๕ ของประเทศไทย

ได้รับค่าตอบแทนกรรมการเดือนละ ๑๓๓,๓๓๔ บาท

รวมตลอดปี ๒๕๕๔ ได้รับทั้งสิ้น ๑,๖๐๐,๐๐๘ บาท

ประธานกรรมการ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) (RATCH)

รับซื้อเชื้อเพลิงโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติจาก ปตท. เพื่อผลิตไฟฟ้า และจำหน่ายไฟฟ้าให้ กฟผ.

ได้รับโบนัสของปี ๒๕๕๓ รวม ๒๖๕,๒๐๕ บาท

นายศิริศักดิ์  วิทยอุดม 
รองปลัดกระทรวงพลังงาน

ประธานอนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (หากได้รับมอบหมาย)

ประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า (หากได้รับมอบหมาย)

ประธานอนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (หากได้รับมอบหมาย)

กรรมการบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ประกอบกิจการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีครบวงจร มีโรงกลั่นน้ำมัน กำลังการกลั่น ๒๑๕,๐๐๐ บาร์เรล/วัน ใหญ่เป็นอันดับ ๓ ของประเทศไทย  เข้าเป็นกรรมการเมื่อ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

ได้รับค่าตอบแทนรายเดือนถึงสิ้นปี ๒๕๕๔ เป็นเงิน ๒๔,๖๗๗ บาท

นายทรงภพ  พลจันทร์
อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ

กรรมการปิโตรเลียม

กรรมการบริษัท ปตท เคมิคอล จำกัด(มหาชน)  บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ครบวงจร

ปัจจุบันถูกควบรวมกิจการเป็นบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ
ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

อนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV

กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน

อนุกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

รองประธานอนุกรรมการการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้า

อนุกรรมการพิจารณาปรับปรุงแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย

กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ

กรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน

อนุกรรมการเอทานอล

กรรมการบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)

บริษัทในเครือ ปตท. ดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมัน มีกำลังการกลั่นมากที่สุดในประเทศไทย ๒๘๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุมและเงินเดือนรวมทั้งสิ้น ๑๖๐,๙๖๘ บาท

นายวีระพล  จิรประดิษฐกุล
 อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน

ประธานกรรมการกำกับดูแลและตรวจสอบการค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว

รองประธานกรรมการติดตามตรวจสอบการลักลอบจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลวไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

กรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ

กรรมการส่งเสริมการใช้ก๊าซ NGV

อนุกรรมการเอทานอล

กรรมการบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน)

บริษัทในเครือ ปตท. เป็นผู้รับสัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยและต่างประเทศ จำหน่ายก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ คอนเดนเสทให้แก่ ปตท.

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๑,๑๔๓๗๕๐ บาท

โบนัส ๒,๖๒๒,๙๕๑ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๓,๗๖๖,๗๐๑ บาท

นายไกรฤทธิ์  นิลคูหา 
อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน

กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมพลังงานทดแทน

กรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

อนุกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน

กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ

อนุกรรมการเอทานอล

อนุกรรมการพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ

กรรมการบริษัท ปตท จำกัด(มหาชน)

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๗๗๗,๕๐๐ บาท

โบนัส ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๗๗๗,๕๐๐ บาท

 

ประธานกรรมการบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. ที่มีโรงกลั่นน้ำมันใหญ่เป็นอันดับ ๖ ของประเทศไทย มีกำลังการกลั่น ๑๒๐,๐๐๐ บาร์เรล/วัน

ปี ๒๕๕๔ ได้รับเบี้ยประชุม + เงินเดือน ๖๗๕,๐๐๐ บาท

โบนัส ๑,๔๔๗,๕๗๔ บาท รวมรับทั้งสิ้น ๒,๑๒๒,๕๗๔ บาท

 ที่มา :     ตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ จาก http://www.eppo.go.th/nepc/subcom/index.html

ตำแหน่งในธุรกิจด้านพลังงานและผลประโยชน์ตอบแทน จาก รายงานแบบ ๕๖-๑

ประจำปี ๒๕๕๔ ของแต่ละบริษัท

 

 

รวบรวมข้อมูลโดย นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา  

หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

พิมพ์ อีเมล