ย้ำ รพ. เอกชน ตรวจโควิดเชิงรุก ‘ต้องได้มาตรฐาน’

22042020 pic covid 01 01 01

องค์กรผู้บริโภค เรียกร้องโรงพยาบาลเอกชนตรวจโควิด-19 เชิงรุก ต้องได้มาตรฐาน ปลอดภัยทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชน อย่าเลือกปฏิบัติตรวจแต่กลุ่มไม่เสี่ยง พร้อมเสนอให้โรงพยาบาลทั้งหมดทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อความครอบคลุม ปลอดภัย ตรวจสอบได้

          22 เมษายน 2563 ---- ตามที่สำนักงานสนับสนุนบริการสาธารณสุข (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ประกาศให้มีการดำเนินการเชิงรุกในการตรวจโควิด-19 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีประกาศจ่ายเงินชดเชยในการดำเนินการดังกล่าว ทำให้การเข้าถึงบริการของประชาชนในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีมากขึ้น จากการดำเนินการของโรงพยาบาลเอกชน แต่องค์กรผู้บริโภคได้รับทราบข้อมูลและข้อสังเกตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในบางพื้นที่ ว่า การให้บริการในบางพื้นที่มีปัญหาบางประการที่อาจจะส่งผลต่อการควบคุมโรคในอนาคต เช่น

1. การดำเนินการตรวจเชื้อโควิด ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการดำเนินงาน ได้แก่

a) ความพร้อมของอุปกรณ์ ชุด PPE บางหน่วยบริการ ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เสี่ยงต่อการรับเชื้อและแพร่เชื้อของผู้ให้บริการ บางแห่งไม่มีการเปลี่ยนถุงมือ 1:1

b) ความเหมาะสมของสถานที่ สถานที่ของเอกชนบางแห่งในการให้บริการ เช่น การจัดชุด mobile ไปปั๊มน้ำมัน และไม่มีการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมในการตรวจเชื้อ อาจจะส่งผลต่อการติดเชื้อของผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้ และควรคำนึงถึงทิศทางลมด้วย

c) การเก็บเชื้อ (specimen) ไม่มั่นใจว่าจะเป็นไปตามมาตรฐานการเก็บเชื้อ มีการดำเนินการแบบง่าย ไม่มีการจัดท่าทาง ซึ่งมีข้อสังเกตว่าอาจจะส่งผลต่อผลลบเทียม (False Negative) ในการตรวจ

2. กลุ่มเป้าหมาย และกระบวนการคัดกรองไม่ดำเนินการตามนิยาม ‘ผู้สงสัยติดเชื้อโควิด-19’ ที่กรมควบคุมโรคประกาศกำหนดอาการ และอาการแสดงร่วมกับปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อที่มีอาการแสดง อุณหภูมิร่างกายมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส หรือประวัติมีไข้ร่วมกับอาการระบบทางเดินหายใจ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ต้องร่วมกับปัจจัยเสี่ยง ที่เป็นประวัติสัมผัสในช่วง 14 วันอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่เอกชนจะออกแบบแบบคัดกรอง นิยามเฉพาะปัจจัยเสี่ยงไม่ดูอาการแสดงร่วม ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เหตุผลที่เข้าได้กับทุกคน คือ เคยไปในสถานที่ชุมชน หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มคน เช่น ตลาดนัด ห้าง สถานพยาบาล ขนส่งสาธารณะ แล้วจะทำตรวจเชื้อทุกกรณี เพื่อให้สามารถเบิกเงินได้

covid

3. ผลกระทบต่อระบบการจ่ายและงบประมาณ

a) ตามประกาศชดเชยของ สปสช. กำหนดจ่ายค่าชุด PPE สำหรับคนเก็บเชื้อ ตามจริงชุดละ ไม่เกิน 540 บาท /ครั้งบริการ พบว่าการลงไปตรวจหรือรณรงค์เชิงรุกจำนวนมาก ครั้งละ 50 คน หรือ 100 คน หรือ 200 คน ก็จะใช้ชุด PPE ชุดเดียว ซึ่งมีข้อสังเกตว่า จะดำเนินการเบิกงบประมาณจาก สปสช. 1 คน ต่อ 1ชุด หรือไม่

b) การจ่ายค่าตรวจแล็บจ่ายตามจริง ไม่เกิน 3,000 บาท/ครั้งบริการ (แยกเป็นค่าน้ำยา /2,500 บาท ค่าชุด PPE 500บาท) ศักยภาพเครื่อง PCR ตรวจได้ 70-90 ตัวอย่าง /1 รอบ แต่จากการสังเกต ใช้ชุด PPE ชุดเดียวเช่นกัน

4. การให้บริการข้ามเขต โดยการประชาสัมพันธ์ตรงไปในหน่วยงานราชการ อปท และรัฐวิสาหกิจ ในพื้นที่ ว่าสามารถตรวจได้ ให้บริการฟรี หน่วยบริการภาครัฐในพื้นที่ สะท้อนว่า เอกชนเลือกกลุ่มเป้าหมาย เน้นจัดการง่ายและได้ปริมาณ เช่น ส่วนกลุ่มจำเป็นเสี่ยงสูง เช่น วินมอเตอร์ไซด์ รถตู้ ยังไม่มีแผนดำเนินการ ทำให้กระทบระบบในพื้นที่ ที่มีหน่วยบริการทั้งรัฐ เอกชน รัฐนอกสังกัด ซึ่งควรมีการประชุม สื่อสารจัดสรรทรัพยากร ให้เกิดความเป็นธรรม รวมทั้งได้มาตรฐาน เกิดประโยชน์สูงสุด มีการจัดลำดับกลุ่มเป้าหมายที่จำเป็นและเหมาะสม

          องค์กรผู้บริโภคจึงเสนอให้ โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ สบส. กรมควบคุมโรค และสปสช. มีการวางแผนร่วมกันกับชุมชน กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในการตรวจสอบเชื้อโควิด-19 ควบคุมคุณภาพการให้บริการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ดีในการตรวจเชื้อโควิด-19 และการติดตามกำกับให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมทั้งควรให้ความรู้ประชาชนทุกครั้งในการตรวจ ถึงการปฏิบัติหากผลตรวจเป็นบวก เป็นลบ ก่อนการตรวจทุกครั้งเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องในการควบคุมโรค

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, มพบ., องค์กรผู้บริโภค , โรงพยาบาลเอกชน, COVID-19, โควิด-19, สบส., สปสช.

พิมพ์ อีเมล