เรียกร้องรัฐบาลอาเซียนปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล เร่งยกเลิกการใช้ “ไมโครพลาสติก” ในเครื่องสำอางทุกประเภท

beach pic

             ปัจจุบันระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลถูกทำลายให้เสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ จากการปนเปื้อนของเม็ดไมโครพลาสติกหรือพลาสติกไมโครบีด ที่ถูกใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อชำระล้างร่างกาย

เม็ดพลาสติกขนาดจิ๋วจำนวนมหาศาลเหล่านี้ ได้ไหลผ่านท่อน้ำทิ้งออกสู่ท้องทะเลและมหาสมุทรทุกวัน  ก่อนจะเข้าไปสะสมในระบบนิเวศรวมถึงสัตว์น้ำในทะเล จนกลายเป็นอันตรายที่รุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั้งต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลและสุขภาพของมนุษย์

องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมและด้านผู้บริโภคหลายแห่งในประเทศอาเซียน จึงได้ร่วมกันจัดทำข้อเรียกร้องถึงคณะกรรมการควบคุมเครื่องสำอางของอาเซียน ซึ่งกำลังจะมีการประชุมในเร็วๆ นี้  เพื่อผลักดันให้เร่งออกกฎหมายห้ามใช้ “เม็ดไมโครพลาสติก” หรือ “พลาสติกไมโครบีด” โดยเร่งด่วน

            โดยทั่วไปเม็ดไมโครพลาสติกมีขนาดราว 1 ไมโครเมตร หรือ 1 ไมครอน ไปจนถึงขนาดนาโนเมตร ด้วยขนาดที่เล็กจิ๋วมากนี้ทำให้มันสามารถหลุดลอดจากการบำบัดน้ำเสียของอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันเมื่อเป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ชำระร่างกายหรือเครื่องสำอาง เมื่อผู้ใช้ชำระล้างออกก็จะไหลปะปนไปกับน้ำเสียจากครัวเรือนออกสู่ทะเล โดยมักจะลอยอยู่เหนือผิวน้ำเนื่องจากมีความหนาแน่นต่ำ ทำให้ปะปนอยู่กับแพลงก์ตอนซึ่งเป็นอาหารของสัตว์น้ำ และปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำในทะเลได้อย่างง่ายดาย

            ปัญหาและอันตรายจากการสะสมของเม็ดไมโครพลาสติกปรากฏชัดเจนในปัจจุบัน หลังจากที่มีงานศึกษาวิจัยจำนวนมากในประเทศสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ยืนยันว่า เม็ดไมโครพลาสติกสามารถดูดซับและปล่อยสารพิษอันตรายร้ายแรง เช่น dichlorodiphenyltrichloroethane (DDT) และ polychlorinated biphenyls (PCBs) ซึ่งเป็นสารพิษที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้ยาวนาน  เข้าสู่สัตว์น้ำในทะเลและสิ่งแวดล้อม ทำให้ทะเลและมหาสมุทรกลายเป็นแหล่งสะสมสารพิษปริมาณมหาศาล  เมื่อสัตว์น้ำในทะเล เช่น ปลา หอย และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ กินไมโครพลาสติกเข้าไป ก่อนที่จะกินกันเป็นทอดๆ อันตรายของเม็ดไมโครพลาสติกจึงสามารถกระจายตัวไปตามลำดับของห่วงโซ่อาหาร และในที่สุดก็จะย้อนกลับมาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้าย  

            ปัจจุบัน อุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและเครื่องสำอางต่างมีการพัฒนาตำรับผลิตภัณฑ์ที่ใช้เม็ดพลาสติกจำพวกนี้อย่างกว้างขวางและแพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ  โดยมีตลาดอาเซียนที่มีผู้บริโภคกว่า 500 ล้านคนเป็นตลาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  น้ำเสียและขยะทางทะเลที่เกิดขึ้นจากการใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จำนวนมากกำลังจะทำให้ระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมทางทะเลของภูมิภาคนี้ถูกคุกคามไปด้วย  เช่น ทัศนียภาพและความสวยงามของท้องทะเลจะเปลี่ยนไป  นอกจากนี้สารพิษในเม็ดพลาสติกจิ๋วจำนวนมหาศาลยังอาจจะส่งผลให้สัตว์น้ำโยกย้ายถิ่น หรือแม้แต่ก่อให้เกิดการแตกกระจายของสายพันธุ์ต่างๆ ในท้องทะเลได้  ความเสียหายจากเม็ดไมโครพลาสติกที่ชัดเจนและเริ่มขยายตัวจนเป็นปัญหาระดับโลก ทำให้สมัชชาสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Assembly: UNEA) ให้ความสำคัญต่อการป้องกันและยับยั้งปัญหานี้ก่อนที่จะรุนแรงมากไปกว่านี้ 

ในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2559 ที่ประชุม UNEA จึงได้ข้อยุติและประกาศเป็นมติข้อที่ 2/11 เรื่อง “ขยะพลาสติกในทะเลและไมโครพลาสติก” โดยระบุว่า “ขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมของทะเลเป็นปัญหารุนแรงระดับโลกที่น่ากังวลมากขึ้น และจะต้องหาแนวทางรับมือจากทั่วโลกโดยเร่งด่วน”  และชี้ว่าการป้องกันและการจัดการขยะที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม คือกุญแจสำคัญของการแก้ปัญหามลพิษทางทะเลในระยะยาว รวมถึงการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเลและไมโครพลาสติกด้วย  โดยขอให้รัฐบาลและผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ทยอยเลิกใช้ไมโครพลาสติกในการผลิตผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายและเครื่องสำอางต่างๆ  และขอให้เปลี่ยนมาใช้ "สารประกอบอินทรีย์หรือแร่ธาตุอื่นๆ ที่ไม่ก่ออันตรายแทน"   

            มติดังกล่าวของ UNEA มาจากการพิจารณาข้อมูลการศึกษาและเอกสารอ้างอิงว่าด้วยอันตรายของไมโครพลาสติกที่ประเทศอาเซียนได้นำเสนอ อาทิ ปฏิญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเลฯ ของประเทศฟิลิปปินส์[1] นโยบายการแก้ปัญหามลพิษทางทะเลของประเทศอินโดนีเซีย[2]  รายงานของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ที่จัดดำเนินการตามมติข้อ 1/6 ของสมัชชาสิ่งแวลด้อมแห่งสหประชาชาติ รวมถึงรายงานการประเมินมหาสมุทรโลกครั้งแรกที่ชี้ให้เห็นปัญหาของไมโครพลาสติกที่สามารถเข้าไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารในทะเลและก่อให้เกิดอันตรายได้[3],[4]

            องค์กรพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและเพื่อผู้บริโภคอื่นๆ ในประเทศอาเซียน จึงได้ร่วมกันเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือหน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงของแต่ละประเทศ เร่งออกมาตรการหรือข้อบังคับ “ห้ามไม่ให้มีการใช้เม็ดไมโครพลาสติกหรือพลาสติกไมโครบีดโดยเด็ดขาด” โดยให้ครอบคลุมถึงการห้ามผลิต นำเข้า  จัดจำหน่ายหรือขาย และการใช้ในภูมิภาคอาเซียน

            มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิบูรณะนิเวศ ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม จึงขอเชิญทุกท่านร่วมกันลงนามผ่านทางเว็บไซต์ด้านล่างนี้ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอาเซียน โดยคณะกรรมการควบคุมเครื่องสำอางของอาเซียน ซึ่งจะมีการประชุมกันในเดือนพฤษภาคมนี้ เร่งออกมาตรการหรือข้อบังคับให้เลิกใช้เม็ดไมโครพลาสติกหรือพลาสติกไมโครบีดในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ชำระล้างทุกชนิดโดยเร่งด่วน 

ร่วมลงนามสนับสนุนข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลประเทศอาเซียนให้ยกเลิกการใช้ไมโครพลาสติกในเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกายทุกประเภท (ภายในวันที่ 5 เมษายน 2560)

คลิกที่ลิ้งค์ด้านล่างเพื่อร่วมลงนาม:

https://secure.avaaz.org/en/petition/The_ASEAN_Cosmetic_Committee_and_the_national_FDAs_and_equivalent_agencies_We_want_the_ASEAN_to_ban_plastic_microbeads_a/?eMQRPlb 

 


[1] The Manila Declaration on Furthering the Implementation of the Global Programme of Action for the Protection of the Marine Environment from Land-based Activities which called for the prevention and management of marine debris)

[3] UNEP (2016) Marine Plastic Debris and Microplastics: Global lessons and research to inspire action and guide policy change’ on marine plastic debris and microplastics

พิมพ์ อีเมล