ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ เรียกร้อง อย.คุมเข้มผู้ค้าเครื่องสำอางออนไลน์

press 22mar2017 for web
ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ชื่นชม บอร์ดคุมราคาสินค้าฯ ออกประกาศสั่ง “ผู้ค้าออนไลน์” ต้องแสดงราคา-รายละเอียดสินค้าและบริการ เสนอให้กลุ่มผู้ค้าโดยเฉพาะเครื่องสำอางต้องขึ้นทะเบียน อย.และทะเบียนพาณิชย์ อย.ต้องจริงจังขายเครื่องสำอางออนไลน์


หลังจากราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2560 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์

นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าถือเป็นข่าวดีที่จะทำให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการต่างๆ
“การแสดงราคา-รายละเอียดสินค้าและบริการ รวมถึงการค่าบริการ ประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก ด้วยการการเขียน พิมพ์ ทั้งภาษาไทย หรือภาษาอื่น ๆ ทำให้ผู้บริโภคมีอำนาจในการเลือกซื้อ ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้บริโภคจะต้องรู้รายละเอียดต่างๆของสินค้าและบริการ” นางนฤมลกล่าว

นอกจากนี้ยังเสนอเพิ่มเติมกรณีกลุ่มผู้ค้าขายเครื่องสำอางผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ ขอให้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมถึงจดทะเบียนการค้ากับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมาย และขอให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้มงวดในการกำกับการโฆษณาเกินจริง

“มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาจำนวน 31 ราย จากการซื้อเครื่องสำอางผ่านเฟสบุ๊คที่โฆษณาว่า ใช้แล้ว ผิวขาว หน้ากระจ่างใส พอใช้แล้วปรากฏว่าทำให้ เกิดอาการแสบ คัน แพ้เป็นรอยแตก หรือมีอาการแพ้เป็นสิวหนองที่หน้า ซึ่งบางรายแพทย์ระบุว่ารักษาไม่หายเพราะเกิดจากการใช้เครื่องสำอางที่ผสมสเตียรอยด์ หรือผสมสารปรอท ซึ่งเป็นสารเคมีต้องห้าม ที่ อย.กำหนดห้ามใช้ในเครื่องสำอาง การยื่นเรื่องให้ อย.ตรวจสอบหรือเรียกค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคค่อนข้างยากเพราะมีขั้นตอนการตรวจสอบซับซ้อนและใช้เวลา ทำให้ล่าช้า จึงอยากให้ผู้ค้าขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย และแสดงเลขจดแจ้งของสินค้า ให้ผู้บริโภคตรวจสอบได้เลย ไม่ต้องกลัวภาษีและการลอกเลียนแบบ เพราะถ้าของดีจริงอย่างไรก็ขายได้” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว

และกล่าวเพิ่มเติมว่ากลุ่มผู้ค้าที่เป็นดาราหรือคนมีชื่อเสียงไม่ควรใช้ความมีชื่อเสียงขายของอย่างเดียว ควรขึ้นทะเบียนทำให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย

ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 44 พ.ศ. 2560 เรื่องการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการ ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือออนไลน์

“โดยที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการได้มีมติเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 เห็นควรกำหนดให้มีการกำกับดูแลการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและ บริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบ ราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 (5) มาตรา28 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ พ.ศ. 2542 คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จึงออกประกาศดังต่อไปนี้


ข้อ 1 ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ เป็นต้นไป
ข้อ 2 ในประกาศนี้ “ผู้ประกอบธุรกิจ” ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการ ผ่านระบบพาณิชย์ อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์
ข้อ 3 ให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏ ด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย การแสดงราคาจำหน่ายสินค้า ค่าบริการตามวรรคหนึ่ง ให้แสดงราคาต่อหน่วย ราคาหรือ ค่าบริการนั้นจะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย สำหรับข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการต้องเป็นภาษาไทย แต่จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้
ข้อ 4 กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือ ค่าบริการที่ให้บริการที่แสดงไว้ตามข้อ 3 ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจน ครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ
ข้อ 5 การแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการตามข้อ ๓ ต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่าย หรือค่าบริการที่ให้บริการ ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับกับกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อต่ำกว่า ราคาจำหน่าย หรือค่าบริการที่แสดงไว้

พิมพ์ อีเมล