จดหมายเปิดผนึกการขึ้นค่าผ่านทาง

จดหมายเปิดผนึก 

เรื่อง    การขึ้นค่าผ่านทาง 

ตามที่การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบให้มีการปรับค่าผ่านทางตามสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (บีอีซีแอล) ในเส้นทางพิเศษ (ทางด่วน) ทั้งโครงข่ายในเมืองและนอกเมืองของทางด่วนขั้นที่ ๑ และ ๒ รวมถึงทางด่วนขั้นที่ ๒ ส่วนดี โดยอัตราใหม่จะมีระยะเวลา ๕  ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ ๑  กันยายน  ๒๕๕๖   เป็นต้นไปนั้น

 

ล่าสุด เมื่อวันจันทร์ที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๖ คณะกรรมการ กทพ.ได้มีมติเห็นชอบผลการเจรจากับ บมจ.ทางด่วนกรุงเทพ (BECL) และบริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ จำกัด (NECL) ปรับอัตราค่าผ่านทางของทางพิเศษเฉลิมมหานคร ทางพิเศษศรีรัช และทางพิเศษอุดรรัถยา ปี 2556 รวมถึงเห็นชอบอัตราค่าผ่านทางที่จะปรับขึ้น ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าผ่านทางพิเศษเสนอ หลังจากนี้จะได้เสนอให้กระทรวงคมนาคมเพื่อออกประกาศอัตราค่าผ่านทางพิเศษต่อไป

คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งได้รับเลือกจากองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ในการทำหน้าที่ของภาคประชาชนตามเจตนารมย์ขององค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามมาตรา ๖๑ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ในการให้ความเห็นและกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำ หรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค เห็นว่า

การปรับอัตราค่าผ่านทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ ของประชาชนผู้บริโภคจำนวนมากที่ใช้บริการทางด่วนเส้นทางดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนได้มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๕/๒๕๕๖    วันศุกร์ที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๖ และวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้มีความเห็นต่อกรณีนี้ ดังนี้

คณะกรรมการฯ มีมติ ขอให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทยยุติการขึ้นค่าผ่านทาง และทบทวนการปรับอัตราค่าผ่านทางพิเศษ รวมทั้งควรพิจารณาแก้ไขสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ โดยคำนึงถึงการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ซึ่งมีเหตุผลดังนี้

 

๑.      บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ไม่มีการดำเนินการเพื่อให้การจราจรบนส่วนต่างๆ ของทางด่วนขั้นที่ ๒ ไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญาฯ ดังนั้น การเจรจาตกลงเรื่องการปรับค่าผ่านทางระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย หรือ กทพ.  กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด หรือ บีอีซีแอล ควรมีการนำเงื่อนไขเกี่ยวกับการดูแลเรื่องไหลเวียนของการจราจรบนทางด่วนพิเศษ ซึ่งกำหนดไว้ในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ ข้อ ๑๒.๒ ซึ่งกำหนดเป็นหน้าที่ให้ “บีอีซีแอล” ต้องดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้การจราจรบนส่วนต่างๆ ของระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ หรือ “เอสอีเอส” ซึ่งได้เปิดใช้งานแล้วไหลเวียนได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ควรใช้ข้อกำหนดนี้เป็นเงื่อนไขไม่อนุญาตในการไม่ปรับอัตราค่าผ่านทางในครั้งนี้ เนื่องจากหากพิจารณาจากการสภาพทางด่วนพิเศษที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งจำนวนรถยนต์ที่มีการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับจากการขึ้นราคาครั้งสุดท้าย ในปี ๒๕๕๑ ซึ่งมีปริมาณการจราจรเฉลี่ย ในปี ๒๕๕๑ อยู่ที่ ๙๒๔,๖๗๒ เที่ยวต่อวัน  ในปี ๒๕๕๒ มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๙๕๒,๕๐๘ เที่ยวต่อวัน ในปี ๒๕๕๓ มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๙๗๔,๖๑๓ เที่ยวต่อวัน ในปี ๒๕๕๔ มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๙๕๒,๕๐๘ เที่ยวต่อวัน ในปี ๒๕๕๔ มีปริมาณการจราจรเพิ่มขึ้นเป็น ๑,๐๒๔,๕๙๓  เที่ยวต่อวัน และล่าสุดในปี ๒๕๕๕ มีปริมาณการจราจรเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็น ๑,๐๘๔,๗๖๕ เที่ยวต่อวัน รวมทั้งขั้นตอนการติดตั้งระบบ Easy Pass ทำให้สภาพการจราจรติดขัด ไม่สะดวก ไม่เป็นไปตามที่ตกลงไว้ในสัญญา

 

๒.    ข้อตกลงในสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ ระหว่าง การทางพิเศษแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด นี้ ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและไม่คำนึงต่อประโยชน์สาธารณะโดยผู้บริโภคไม่มีส่วนร่วม

สัญญาที่ทำ มีข้อกำหนดเกี่ยวกับค่าผ่านทางซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคซึ่งใช้ทางด่วนดังกล่าว เพราะเป็นผู้ต้องรับผิดชอบในการเสียค่าใช้จ่ายในการใช้ทางด่วน ดังนั้น การกำหนดข้อตกลงในสัญญาให้มี “วันพิจารณาปรับอัตราค่าผ่านทาง“ โดยกำหนดให้มีการปรับค่าผ่านทางได้ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๔๑ หรือวันอื่นใดที่อาจกำหนดตามสัญญานี้และทุกระยะเวลา ๕ ปีนับจากนั้น จึงเป็นการตกลงกันของคู่สัญญา ถือเป็นมาตรการที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค ซึ่งใช้ทางด่วนในการที่จะต้องรับภาระเสียค่าผ่านทางเพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีอำนาจโต้แย้งใดๆ ซึ่งเห็นว่าข้อตกลงที่จะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรการเช่นนี้ ควรจะมีการขอความคิดเห็นจากองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค แต่เนื่องจากยังไม่มีองค์กรนี้ในปัจจุบัน ก็ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรผู้บริโภคเป็นการทั่วไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ในส่วนของเงื่อนไขการต่อระยะเวลาของสัญญา ในข้อ ๒๑ ของสัญญาโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ ๒ ได้กำหนดให้ต่อสัญญาต่อไปได้อีก ๒ ครั้งๆ ละ ๑๐ ปี ตามเงื่อนไขที่ “กทพ.” และ “บีอีซีแอล” จะได้ตกลงกันเห็นได้ว่าในส่วนของเรื่องการต่อระยะเวลาของสัญญา มีการกำหนดให้สามารถต่อระยะเวลาของสัญญาต่อไปได้อีกถึง ๒๐ ปี เมื่อพิจารณาประกอบกับเรื่องข้อกำหนดการปรับอัตราค่าผ่านทางที่คู่สัญญามีสิทธิตกลงกันปรับอัตราค่าผ่านทางทุกๆ ๕ ปี จึงเป็นการเอื้อประโยชน์เกินสมควรให้กับบริษัทเอกชนแสวงหาประโยชน์จากสัญญาสัมปทาน หรือสัญญาร่วมทุนกับเอกชนในการจัดบริการสาธารณะ ทำให้ผู้บริโภคจะต้องรับภาระค่าผ่านทางที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อีก ๒๐ ปี โดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งแตกต่างจากการปรับอัตราค่าผ่านทางในต่างประเทศ ที่เมื่อครบกำหนดสัญญาแล้ว จะไม่มีการต่อสัญญาและให้ถือว่าทางด่วนพิเศษที่ได้ก่อสร้างขึ้นตกเป็นของรัฐ และให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง จึงเห็นว่าข้อกำหนดดังกล่าวมีลักษณะเอาเปรียบผู้บริโภค

 

วันที่ ๒๐     มิถุนายน ๒๕๕๖

 

 

สำเนาเรียน           การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)

พิมพ์ อีเมล