คณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว เสนอ ครม. ไม่อนุมัติต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว พร้อมแนะแนวทางจัดการหนี้สิน กับ BTS

ffc.bts5.7.64

         วันนี้ (5 กรกฎาคม 2564) คณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ภายใต้คณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงตัวแทนสมาชิกสภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร (สส.) คณะทำงานฯ ได้มีการรับฟังข้อมูลจากกรุงเทพมหานคร สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร กรมขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย บริษัทกรุงเทพธนาคม และ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS จากการประชุมได้มีแนวทางการจัดทำข้อเสนอในการดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาการต่อสัญญาสัมปทานและการขึ้นราคารถไฟฟ้าสายสีเขียว ดังนี้

         1. กรุงเทพมหานครต้องจัดทำการศึกษาราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เหมาะสมสำหรับคนกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ปัญหาการเข้าถึงบริการรถไฟฟ้าอย่างแท้จริง เพราะการกำหนดราคา 65 บาท ของ กทม. โดยบริษัทที่ปรึกษานั้นดำเนินการโดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีเหตุผลทางวิชาการรองรับ และไม่มีที่มาที่ไป เป็นเพียงผลประโยชน์ของ กทม. โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบของผู้บริโภค

         2. ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี มีมติไม่อนุมัติต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากยังมีเวลานานถึง 8 ปี เพื่อให้มีโอกาสพิจารณาแนวทางหรือทางเลือกที่ดีที่สุดในการจัดการเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายดังกล่าว โดยมี 2 แนวทางในการดำเนินการ ได้แก่

        แนวทางที่หนึ่ง ปรับปรุงระบบการเก็บอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าทุกสายให้ใช้ตารางราคาเดียวกัน โดยให้รัฐเป็นเจ้าของโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด และให้เอกชนดำเนินการเดินรถในระบบ เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารได้

         แนวทางที่สอง ในระหว่างที่สัญญาสัมปทานยังมีผลอยู่อีก 8 ปี ควรดำเนินการเปิดประมูลสัมปทานการเดินรถตั้งแต่ปี พ.ศ. 2573 เป็นต้นไปเป็นระยะเวลา 30 ปี แทนการต่อสัมปทานกับบริษัทเดิม เพื่อเปิดโอกาสให้มีการแข่งขันและมีความโปร่งใสมากขึ้น โดยบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลต้องสามารถเดินรถได้ตามมาตรฐานสากล และให้กรุงเทพมหานครกำหนดเงื่อนไขเดียวที่เป็นสาระสำคัญให้ผู้เข้าร่วมประมูลต้องให้สามารถบริการได้ในอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 25 บาทตลอดสาย และมี 2 เงื่อนไขย่อย ได้แก่ 1) ต้องเจรจาหรือมอบให้บริษัท BTS เดินรถได้จนถึงปี พ.ศ. 2585 2) ต้องใช้ตารางค่าโดยสารเดียวกันทั้งระบบ (จัดเก็บค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียวทั้งระบบไฟฟ้าหลากสี) หรือจัดสรรค่าโดยสารร่วมกันทั้งระบบ รวมทั้งต้องแยกสัญญาสัมปทานการเก็บผลประโยชน์จากพัฒนาสถานีต่าง ๆ และการโฆษณาออกจากสัญญาสัมปทานการเดินรถ

       3. แนวทางการบริหารจัดการหนี้สินของ กทม. กับ BTS มีดังนี้
          3.1 จัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายโดยใช้ตารางค่าโดยสารเดียวกันกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวไม่เกิน 44 บาทตลอดสาย
          3.2 จัดให้มีการหารายได้จากสถานีส่วนต่อขยาย อาทิ ค่าเช่าพื้นที่สถานี ค่าเชื่อมต่อสถานี ค่าโฆษณาในสถานี
          3.3 รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันการจ่ายคืนหนี้และให้ กทม. กู้ หรือนำเงินของ กทม. มาทยอยชำระหนี้ โดยใช้รายได้จากค่าโดยสารและผลประโยชน์ตอบแทนอื่นที่เก็บได้จากสถานีส่วนต่อขยาย
          3.4 หลังปี 2572 กทม. จะมีรายได้เต็มจากการเก็บค่าโฆษณา ค่าเช่าพื้นที่ในสถานี ค่าเชื่อมต่อสถานีกับอาคารเอกชน ของทุกสถานีในระบบสายสีเขียว และสามารถนำมาชำระหนี้ทั้งหมดได้

ทั้งนี้ คณะทำงานศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว จะดำเนินการจัดทำข้อเสนอต่อกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

Tags: BTS , รถไฟฟ้าบีทีเอส, ค่ารถไฟฟ้าแพง, รถไฟฟ้าสายสีเขียว, ค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว

พิมพ์ อีเมล