ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เข้าพบ รมต.เทวัญ หารือเรื่องสภาองค์กรผู้บริโภค และนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภค

pic 310719 discusswithminister 1

ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เข้าพบ รมต.เทวัญ ลิปตพัลลภ หารือเรื่อง การจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคและการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค รวมทั้งเรื่องนโยบายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น

วันนี้ (31 กรกฎาคม 2562) เวลา 10.30 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ชั้น 2 ทำเนียบรัฐบาล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เดินทางไปยื่นข้อเสนอต่อการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคและการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค รวมถึงข้อเสนอต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ต่อนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีpic 310719 discusswithminister 2

บุญยืน ศิริธรรม นายกสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่รับจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค พบว่าในหลายๆ จังหวัดมีปัญหาเรื่องการจดแจ้งฯ จนทำให้องค์กรผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกในการจดแจ้ง ทั้งเรื่องแนวทางปฏิบัติของนายทะเบียนที่แตกต่างกัน ความไม่พร้อมของนายทะเบียน เช่น ยังไม่มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน การเรียกขอเอกสารที่เกินจำเป็น หรือเกินจากที่ระบุไว้ในคู่มือ (บางจังหวัดขึ้นทะเบียนไม่ได้ เพราะเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องใช้ สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้าน) หรือปัญหาเรื่องอากรแสตมป์นั้น บางจังหวัดเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องติดอากรแสตมป์ที่เอกสารการมอบอำนาจ แต่ในอีกหลายจังหวัดไม่มีการเรียกเก็บอากรแสตมป์เนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ในคู่มือ แต่สามารถแนบเผื่อไว้ได้ หากไม่ได้ใช้จะคืนให้แก่ผู้ที่มาจดแจ้งฯ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการจดแจ้งฯ เป็นไปตามกฎหมายและมีแนวทางปฏิบัติเดียวกัน จึงมีข้อเสนอต่อการจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคและการจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ดังนี้

หนึ่ง ในการรับจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภค ขอให้ใช้หลักรับเป็นหลัก ปฏิเสธเป็นรอง ประกอบกับในปัจจุบันยังไม่มีระบบการยื่นจดแจ้งฯ โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ทุกองค์กรจะต้องนำเอกสารหลักฐานไปยื่นจดแจ้งฯ ด้วยตนเอง ดังนั้นนายทะเบียนจึงควรรับจดแจ้งฯ และไม่ควรปฏิเสธการจดแจ้งฯ ซึ่งจะทำให้เกิดภาระ หรือสร้างขั้นตอนที่เกินสมควรให้กับองค์กรผู้บริโภค อีกทั้งในประกาศของนายทะเบียนกลาง เรื่อง การกำหนดแบบและวิธีการแจ้งสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 ตามข้อ 7 ในประกาศ ก็ได้กำหนดให้นายทะเบียนกลางหรือนายทะเบียนจังหวัดตรวจรับเอกสารและบันทึกรายการเอกสารหลักฐานที่ต้องแสดงเพิ่มเติมอีกด้วย

สอง ให้สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีดำเนินการประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคที่ได้มายื่นจดแจ้งฯ โดยเร็ว เพื่อเป็นประโยชน์ในการรวมตัวจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคตามกฎหมาย พร้อมกับควรมีกระบวนการ ขั้นตอนที่ชัดเจนในการให้องค์กรผู้บริโภคสามารถตรวจสอบและคัดค้านการจดแจ้งฯpic 310719 discusswithminister 4

สาม ให้สำนักปลัดฯ เร่งรัดการจัดทำระบบยื่นจดแจ้งฯ และระบบคัดค้านองค์กรให้เป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่องค์กรผู้บริโภคในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

และสี่ ให้สำนักปลัดฯ สร้างช่องทางที่สะดวกในการให้ประชาชนและองค์กรผู้บริโภคสอบถามข้อมูลในการจดแจ้งฯ เนื่องจากเมื่อมีการเปิดรับจดแจ้งฯ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 พบปัญหาในการจดแจ้งฯ ทั้งในส่วนกลางและในต่างจังหวัด ดังนั้นจึงทำให้เกิดแนวปฏิบัติที่แตกต่างกันและทำให้องค์กรผู้บริโภคไม่สามารถยื่นจดแจ้งได้pic 310719 discusswithminister 3

ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากปัญหาสถานการณ์การคุ้มครองผู้บริโภคที่พบในปัจจุบัน มักจะพบปัญหาเรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านระบบอนนไลน์ ซึ่งมีรูปแบบเป็นการทำตลาดแบบตรงกับผู้บริโภค ซึ่งมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นหน่วยงานที่ดูและธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และพบว่ามีปัญหาการโฆษณาที่เป็นเท็จ เกินจริง ไม่ได้สินค้าหรือสินค้าไม่ตรงตามที่ระบุ ส่งสินค้าล่าช้า และมีการฉ้อโกง หลอกลวงโดยมิจฉาชีพที่แฝงมาในคราบของผู้ขายสินค้า โดยที่ผ่านมารัฐมีแนวทางจะตรากฎหมายเป็นการเฉพาะ แต่มีความล่าช้าในการจัดทำและเปลี่ยนแปลงหลักการ จนทำให้ยังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคที่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอต่อการคุ้มครองผู้บริโภค ดังนี้

หนึ่ง ให้ สคบ. กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ขายสินค้าในระบบออนไลน์ทั้งหมด โดยยกเลิกกฎกระทรวง ที่มีการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการซื้อสินค้าหรือบริการโดยวิธีการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกซ์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง ในเรื่องการกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่เป็นบุคคลธรรมดา มีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการไม่ต่ำกว่าปีละ 1.8 ล้านบาท รวมทั้งผู้ที่จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และวิสาหกิจชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน จะไม่ถือว่าเป็นผู้ทำธุรกิจตลาดแบบตรงและไม่ต้องจดทะเบียนธุรกิจกับ สคบ.

“ปัจจุบันมีผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจำนวนมากที่ขายสินค้าในระบบออนไลน์ แต่ไม่ได้จดทะเบียนธุรกิจ หากผู้บริโภคถูกหลอกลวง เมื่อไปร้องเรียนจะไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลของผู้ประกอบการที่หลอกลวงดังกล่าวได้ ดังนั้นจึงต้องการให้ สคบ. กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ขายสินค้าในระบบออนไลน์ทั้งหมด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค” สารีกล่าวpic 310719 discusswithminister 6

สอง ให้มีมาตรการทางกฎหมายในการกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจให้บริการขนส่งสินค้าเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เนื่องจากในปัจจุบันผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้บริการขนส่งมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นตาม รวมถึงยังมีผลกระทบที่ตามมาจากการขนส่งสินค้าด้วย โดยเฉพาะในเรื่องการซื้อของออนไลน์ที่ผู้บริโภคจะไม่เห็นสินค้าหรือไม่รู้จักผู้ขาย ทำให้การซื้อขายมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถูกหลอก ถูกโกง ดังนั้นรัฐควรมีมาตรการให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ให้บริการขนส่งสินค้ายินยอมให้ผู้บริโภคตรวจสอบสินค้าที่สั่งซื้อก่อนที่จะชำระเงินได้ ในกรณีที่ผู้บริโภคจะชำระเงินปลายทาง เพราะเมื่อผู้บริโภคสามารถตรวจสอบสินค้าได้ก็ย่อมป้องกันไม่ให้ถูกหลอกหรือสูญเสียเงินจากการสั่งซื้อสินค้าได้pic 310719 discusswithminister 7

และสาม ให้มีการเร่งออกกฎหมาย ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดในความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ. ... ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญอย่างมากในการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องสินค้าชำรุดบกพร่อง กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่กำหนดสิทธิและหน้าที่ของทั้ง 2 ฝ่ายอย่างชัดเจนเพื่อให้ทั้งผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งร่างฯ นี้ สคบ. เป็นผู้เสนอและได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และยืนยันหลักการให้ออกเป็นกฎหมายเฉพาะ แต่ในปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มองว่าหากมีการออกกฎหมายนี้ขึ้นมาบังคับใช้จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองที่ดีมากขึ้นpic 310719 discusswithminister 5

ส่วนเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนข้อเสนอที่กล่าวมาจะพยายามเร่งรัดและติดตามเพื่อให้การจดแจ้งสถานะความเป็นองค์กรผู้บริโภคเป็นไปตามกฎหมายที่กำหนดและอยู่ในมาตรฐานเดียวกันในทุกๆ จังหวัด ส่วนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคก็จะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วขึ้น เพื่อช่วยเหลือและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค 

Tags: สภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ, สภาองค์กรผู้บริโภค

พิมพ์ อีเมล