มพบ. สสส. ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต มูลนิธิเมาไม่ขับ เปิดความทุกข์ผู้สูญเสียอุบัติเหตุทางถนนเนื่องในวันเหยื่อโลก ย้ำชัดต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเยียวยาต้องไม่เอาเปรียบซ้ำเติมผู้เสียหาย

ภาพข่าวเสวนาวันเหยื่อโลก 01

เหยื่ออุบัติเหตุเผยใน “เสวนาเนื่องในวันเหยื่อโลก” ไม่ได้รับความยุติธรรม ต้องดิ้นรนหาหน่วยงานช่วยเหลือ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ปัญหาสู้คดีถึง 3 ศาล ใช้เวลานานสุด 9 ปี บางครอบครัวรอจนเสียชีวิตทุกคน แต่คดียังไม่จบ แนะเกิดอุบัติเหตุต้องเยียวยาทันที ขับรถประมาทต้องมีโทษหนัก ด้านมูลนิธิเมาไม่ขับชี้พนักงานเข้าข้างผู้มีอำนาจ ฝากทุกคนต้องเท่ากัน แนะให้ร้องหน่วยงานสูงสุดถ้าคดีไม่คืบ พร้อมเสนอให้มีหน่วยงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางท้องถนน ช่วยเหลือประชาชน

          วันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 เวลา 13.00 – 14.50 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต คณะอนุกรรมการด้านการขนส่งและยานพาหนะ สภาองค์กรผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ ร่วมกันจัดเวทีเสวนาเนื่องในโอกาส วันโลกรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน (วันเหยื่อโลก) และสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดที่ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ในงานได้เชิญผู้ประสบอุบัติเหตุและได้รับผลกระทบ พร้อมทั้งตัวแทนองค์กรที่ทำงานเรื่องอุบัติเหตุ มาร่วมพูดคุยกันในหัวข้อ การเข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรมและสุขภาพจิตของเหยื่ออุบัติเหตุ ดำเนินรายการ โดย นางสาวเครือมาศ  ศรีจันทร์  ผู้ประสานงานเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต

          ในการเสวนาหัวข้อเรื่องอุบัติเหตุซึ่งทำให้ลูกชายและคู่กรณีเสียชีวิต กับปัญหาสุขภาพจิตในครอบครัว นายไอ คงสุข พ่อผู้สูญเสียลูกจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ชนรถจักรยาน กล่าวว่า เมื่อปี 2561 หลังจากซื้อรถจักรยานยนต์ให้ลูกชายประมาณ 2 เดือน ลูกชายออกไปซื้อกับข้าวแต่ไม่สวมหมวกกันน็อค จึงเตือนให้ไปใส่หมวกกันน็อค แต่ลูกชายตอบ “ไปแค่นี้เอง” แล้วก็เกิดอุบัติเหตุชนรถจักรยาน ผู้ขี่จักรยานเสียชีวิตคาที่ ส่วนลูกชายอยู่โรงพยาบาลได้ประมาณ 6 วันก็เสียชีวิต ทั้งที่ซื้อรถให้เป็นของขวัญเพราะรักลูก แต่ลูกให้ความตายแทน ทำให้รู้สึกเหมือนโลกเคว้ง ไม่มีอะไรในหัวว่าจะทำอะไรต่อ เป้าหมายที่ตั้งไว้สูญเสียหมด เป็นสุขภาพจิตก็ย่ำแย่ที่สุดในชีวิต โทษตัวเองตลอด ดื่มสุราทุกวัน และสูบบุหรี่วันละ 2 ซอง เป็นแบบนั้นอยู่ 1 ปีกว่า บางทีก็ไปทำงานไม่ได้ จนได้เห็นข่าวนักเรียนผู้หญิง 3 คนไปเรี่ยไรเงินแล้วขับรถชนท้ายรถขนฟาง ทำให้คิดถึงครอบครัวผู้เสียชีวิตและกลับมาคิดถึงชีวิตตัวเอง จึงหยุดดื่มเหล้า ลุกมาทำเรื่องอุบัติเหตุอย่างจริงจัง แต่ขณะนี้ยังเกิดปัญหาที่คนในชุมชนไม่ตระหนักถึงปัญหา และยังไม่พบคนพูดถึงมูลนิธิเมาไม่ขับเท่าไรนัก จึงอยากเป็นตัวแทนมาสะท้อนเรื่องราวให้กับชุมชน เพราะคาดหวังพลังจากคนในชุมชนก่อน

584343

          นางรสสุคนธ์  กุลฉิม ผู้แทนผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ กล่าวถึงเรื่องชีวิตที่เปลี่ยนไปกับอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะว่า ผู้เสียหายเป็นหลานสาวที่เกิดอุบัติเหตุจากรถบัสแดง เดินทางจากสุพรรณบุรีไปนครสวรรค์ก่อนไปต่อรถไปพะเยา หลานสาวจะไปสอบสัมภาษณ์ที่มหาวิทยาลัยพะเยา รถบัสเกิดอุบัติเหตุชนกับรถเทรลเลอร์ที่จอดอยู่หน้าโรงพยาบาลสรรคบุรี จ.ชัยนาท มีอาการสาหัส กะโหลกร้าว เย็บ 93 เข็ม ขาหัก จึงต้องตีรถด่วนมาดูแลหลานสาว เพราะพ่อแม่ทำงานอยู่ประเทศลาว หลังจากเกิดอุบัติเหตุ ผู้ประกอบการไม่เยียวยา ผู้เสียหายต้องจ่ายค่ารักษาเอง โดยได้รับคำแนะนำจากทางโรงพยาบาลให้รักษาบัตรทอง แต่ไม่รู้ว่าต้องติดต่อใคร หรือทำอย่างไร จึงเสิร์ชในอินเทอร์เน็ตว่ามีใครช่วยเหลือได้ถึงได้พบมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ต้องขอขอบคุณมูลนิธิฯ ที่เข้ามาช่วยเหลือ เดินเรื่องคดี ประสานงานกับประกัน คนที่รู้จักบางคนไม่รู้วิธีการและไม่มีคนช่วยเหลือ เกิดเหตุแล้วก็แล้วกันไป แต่เพราะทางเราได้ร้องเรียนกับมูลนิธิฯ จึงได้รับการเยียวยาจากบริษัทประกัน รวมถึงผู้ประกอบการ

          ส่วน นายคงศักดิ์  ชื่นไกรลาศ  ผู้ประสานงานโครงการขนส่งมวลชนที่ปลอดภัยและเป็นธรรม มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงเรื่องการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมของเหยื่อ และการช่วยเหลือว่า ในส่วนของมูลนิธิฯ เน้นเรื่องการช่วยเหลือผู้ประสบเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตลอดเวลาที่ช่วยเหลือมาค้นพบว่า แต่ละคนได้รับความสูญเสียและบาดเจ็บ สิ่งที่ตอกย้ำ คือ กระบวนการทางกฎหมายที่ไม่ยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นจากตัวบุคคล บุคลาการ หรือข้อกฎหมาย มูลนิธิฯ มีความเชื่อเสมอว่ากระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้า คือ ความไม่ยุติธรรม

          “มีกรณีที่มูลนิธิฯ ให้ความช่วยเหลือ เช่น ผู้เสียหายจะนั่งรถทัวร์จากนครสวรรค์ไปเชียงราย พอถึงเวลากลายเป็นรถตู้แทนที่จะเป็นรถทัวร์ จนเดินทางไปถึงพะเยา คนขับหลับในพุ่งชนต้นไม้ มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ คดีนี้ต้องฟ้องคดีผู้บริโภค สู้กันถึง 3 ศาล ใช้เวลากว่า 9 ปี ทุกวันนี้ได้คำพิพากษาศาลฎีกามาแต่ยังบังคับคดีไม่ได้ ศาลพิพากษาให้คนขับรถรับผิด แต่ศาลยกฟ้องเจ้าของรถ รวมถึงบริษัทขนส่ง เพราะรถไม่มีตรา บขส. แต่มีตั๋วเป็นหลักฐานชัดเจน อย่างไรก็ตามเราเคารพคำพิพากษาของศาล แต่ก็รู้สึกว่าผู้บริโภคไม่ได้รับความเป็นธรรม เนื่องจากมีพ่อแม่ที่ต้องสูญเสียลูก และครอบครัวพ่อลูกที่ต้องเสียภรรยา โดยเฉพาะครอบครัวสุดท้ายที่คดียังไม่จบ แต่ทั้งคุณพ่อและลูกก็เสียชีวิตตามมาในภายหลังทั้งที่คดียังไม่จบเลย กระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมสำหรับเขาจริงๆนายคงศักดิ์กล่าว

584342.jpg

          นายคงศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุขึ้นมาทำไมผู้เสียหายจะต้องไปค้นหาข้อมูลเอง ขอเจรจาที่โรงพัก บางกรณีต่อรองกันเหมือนซื้อขายสินค้า ทั้งที่เขาควรจะมีสิทธิได้รับการชดเชยเลย ผู้ประกอบการและหน่วยงานเองควรจะต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เกิดเหตุไปคุยกับประกันและทนาย แล้วชาวบ้านจะรู้หรือไม่ว่าเจอประกันหรือทนายต้องทำอย่างไร บางทีโดนเอาเปรียบถูกหลอกล่อให้เซ็นกระดาษเปล่า ระบุด้วยว่าไม่ติดใจเอาความใดๆ จากผู้เกี่ยวข้องอีก เท่ากับว่าเซ็นไปก็ถูกตัดสิทธิ

          ส่วนเรื่องการชดเชยเยียวยา ตอนนี้พรบ.ขยับจาก 1-2 แสน เป็น 5 แสน กรณีเสียชีวิตก็อาจจะได้ 1 ล้าน แต่จริงๆ วงเงินควรจะ 5 ล้าน ใช้การบังคับให้ผู้ประกอบการต้องชดเชยเยียวยา คนขับรถต้องระมัดระวัง เพราะถ้าขับประมาทเลินเล่อต้องมีโทษหนัก และรัฐควรต้องกำหนดมาตรการถ้ามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากรถโดยสารสาธารณะ โดยที่ผู้โดยสารไม่ได้มีส่วนทำให้เกิดความเสียหาย ผู้เสียหายควรได้รับการชดเชยดูแลจากประกันโดยทันที ไม่ต้องให้ผู้เสียหายมาดิ้นรนช่วยเหลือตัวเองก่อนที่จะไปพบหาประกันภัย หรือหน่วยงานอย่าง บขส. หรือ ขสมก. ที่มีหลักการในการให้สู้คดีจนถึงที่สิ้นสุดถึงจะยอมจ่ายนั้น ยิ่งเป็นตอกย้ำความทุกข์ของผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะมากขึ้น แทนที่จะได้รับความรับผิดชอบจากหน่วยงานแต่ต้องมาเจรจาต่อรองสู้คดีถึง 3 ศาล ใช้เวลานาน 5 ปี หรือ 9 ปี ดังนั้นบริษัทหรือหน่วยงานควรจะต้องลงมาช่วยเหลือดูแลชดเชยเยียวยาทันที

          ด้าน นายสุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงเรื่องมองไปข้างหน้า เพื่อความยุติธรรมของเหยื่ออุบัติเหตุว่า ในเหยื่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น มี 4 ส่วน คือ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาล และประกัน เหยื่อจะไม่ได้รับความเห็นใจจาก 4 ส่วนนี้เท่าไร เพราะไปเข้าข้างคนที่มีเงิน มีอำนาจ ไม่ได้มองความผิดถูกของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงอยากฝากไปถึงพนักงานสอบสวนทั่วประเทศให้ความเป็นธรรมกับประชาชน ยกตัวอย่างกรณีหนึ่ง คนชนมีอิทธิพลในจังหวัด คนขับรถจักรยานยนต์ถูกชนท้าย กลายเป็นคนพิการ ตำรวจทำรูปคดีเป็นคนที่ถูกชนเป็นคนผิด ชาวบ้านไม่รู้จะทำอย่างไร มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ทางมูลนิธิฯ จึงทำเรื่องไปถึงทำเนียบรัฐบาล ทำให้สามารถเจรจาเยียวยาได้ 1.2 ล้าน ซึ่งถ้าชาวบ้านไม่มาร้องเรียนที่มูลนิธิฯ ก็จะกลายเป็นผู้กระทำแทนผู้ถูกกระทำ

          ในการดำเนินคดีเหล่านี้ อยากฝากถึงผู้ประสบอุบัติเหตุไว้ว่าถ้าใครให้เซ็นอะไรอย่าเพิ่งเซ็น ไตร่ตรองแล้วคิดหาหน่วยงานที่จะมาช่วยก่อน เช่น มูลนิธิเมาไม่ขับ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยุติธรรมจังหวัด สำนักงานอัยการช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย สภาทนายความ ถ้าคดีนิ่งแนะนำให้ร้องไปถึงหน่วยงานสูงสุด อีกอย่างกฎหมายคดีอุบัติเหตุบ้านเรายังไม่แรง โทษสูงสุดจำคุกแค่ 10 ปี ถ้าเยียวยาผู้เสียหายจะไม่ติดคุก เพราะกฎหมายมองว่าขับรถประมาททำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นความประมาท แม้ว่าจะเมาแล้วขับก็ตาม

          นายสุรสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนั้นเหยื่อที่ไม่ได้รับความยุติธรรมในกระบวนการมีจำนวนมาก มูลนิธิฯ อยากฝากให้ทุกคนต้องเท่ากัน ไม่ใช่ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลแล้วจะมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นถ้าทำความผิด และบริษัทประกันภัยทั้งหลายที่รับเงินประกัน ถึงเวลาจ่ายอ้างหลายอย่าง ซึ่งจริงๆ แล้วต้องจ่ายให้สมกับความเสียหาย ยึดมาตรฐานตามที่จุฬาทำวิจัยไว้ว่า คนไทยที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนต้องได้รับการเยียวยา 6 ล้านต่อคนโดยเฉลี่ย มูลนิธิฯ อยากให้สู้คดี อย่าไปยอมคนเหล่านี้ ถึงเวลาศาลบังคับคดี บริษัทประกันภัยมีจ่ายอยู่แล้ว เพราะเป็นนิติบุคคล และสุดท้ายมูลนิธิฯ อยากจะเรียกร้องให้รัฐบาลควรจะมีหน่วยงานเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางท้องถนน ให้ประชาชนที่เดือดร้อนไปร้องเรียนกับหน่วยงานนั้นได้

584344

Tags: มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, สสส. , อุบัติเหตุ, เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต, มูลนิธิเมาไม่ขับ, วันเหยื่อโลก

พิมพ์ อีเมล