มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผย ‘สถานการณ์ผู้บริโภค ทั้งปี 2562’ พบ ‘ปัญหาโฆษณาเกินจริง’ ในด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังเป็นปัญหามากที่สุด
วันที่ 14 มกราคม 2563 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2562 โดยในปีที่ผ่านมาได้ให้คำปรึกษาและรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั้งหมด จำนวน 4,182 ราย ซึ่งได้มีการแบ่งปัญหาของผู้บริโภคออก 7 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข
ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ยังคงเป็นปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับผลกระทบและได้ร้องเรียนเข้ามาเป็นอันดับหนึ่ง จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ มีผู้ร้องเรียน จำนวน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 ส่วนอันดับสาม คือ หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข มีผู้ร้องเรียน จำนวน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81
สำหรับปัญหาที่พบในด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ (1,534 ราย) ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิม คือ การโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อได้ เช่น ใช้แล้วผิวขาวกระจ่างใสภายใน 5 นาที หรือภายใน 3 – 7 วัน ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีฉลาก หรือไม่มีฉลากภาษาไทย ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ หรือในยารักษาโรคที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ 108 โรค และเนื่องจากโฆษณาดังกล่าวมักโฆษณาผ่านทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ทำให้บุคคลที่มักตกเป็นเหยื่อ คือ กลุ่มผู้สูงอายุและชาวบ้านในชุมชน ในขณะเดียวกันวิธีการโฆษณาขายยาหรืออาหารเสริมผ่านรถเร่ขายของในชุมชน ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่พบว่า มีการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์บางชนิดที่ฉลากได้ถูกสั่งยกเลิกไปแล้วแต่ยังพบว่ามีขายในรถเร่นั้นๆ ด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้ร้องเรียนและศูนย์ร้องเรียนที่เฝ้าระวัง ได้แจ้งเรื่องถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ซึ่งก็ใช้ระยะเวลายาวนาน อีกทั้งผลิตภัณฑ์บางชนิดที่พบปัญหาในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกนำออกจากตลาดร้านค้าแต่อย่างใด
ส่วนด้านบริการสาธารณะ (820 ราย) พบว่า รถรับส่งนักเรียนเป็นกลุ่มที่พบปัญหามากสุด โดยพบปัญหาที่เจ้าของรถรับส่งนักเรียนใช้รถผิดประเภท เช่น ใช้รถสองแถวที่ไม่ได้มีป้ายที่ระบุว่าเป็นรถรับส่งนักเรียน รถไม่ได้มาตรฐาน หรือเบาะนั่งไม่ได้มาตรฐาน รองลงมาเป็นกลุ่มรถสาธารณะ อาทิ รถตู้โดยสาร หรือรถทัวร์โดยสาร พบปัญหา เรื่อง พนักงานขับรถมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม เช่น สูบบุหรี่ พูดจาไม่สุภาพ ใช้โทรศัพท์โดยไม่ใช้หูฟังสมอลทอล์ก หรือการขับรถเร็ว
นอกจากปัญหาเรื่องรถโดยสารสาธารณะ ยังพบปัญหาในเรื่องสายการบินล่าช้าอยู่บ่อยครั้งจนทำให้ผู้โดยสารได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ยังมีประเด็นเรื่อง ‘การขึ้นราคาค่าผ่านทางยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมือง - โทลล์เวย์)’ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2562 เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคให้ความสนใจมาก อีกทั้ง มพบ. ยังได้ยื่นคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนคำพิพากษาจะถึงที่สุดให้หยุดขึ้นค่าผ่านทางดังกล่าว เนื่องจากไม่เป็นธรรมกับประชาชนผู้บริโภค รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกันอย่างประเด็น ‘การต่ออายุสัญญาสัมปทานให้ BEM ไปอีก 15 ปี 8 เดือน’ ที่ตอนนี้กำลังจะมีรวบรวมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้พิจารณาภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้
สุดท้าย คือ ด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข (703 ราย) เรื่องร้องเรียนส่วนใหญ่เป็นเรื่องการให้คำปรึกษา การย้ายสิทธิ หรือการสอบถามสิทธิประโยชน์ ซึ่งผู้บริโภคในต่างจังหวัดมักจะมีการขอคำปรึกษามากสุด เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่อาจไม่สามารถรับข่าวสารได้เพียงพอ หรือเทคโนโลยีเข้าไม่ถึงมากเท่าที่ควร จึงอาจทำให้การรับข่าวสารจากหน่วยงานได้ไม่ครบ หรือไม่ได้รับเลย ดังนั้น การลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องสิทธิกับผู้บริโภคในชุมชนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จากปัญหาที่กล่าวมานี้ เครือข่ายผู้บริโภคในภาคต่างๆ ก็ได้ลงพื้นที่ จัดเวทีให้ความรู้ อบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพิทักษ์สิทธิอันพึงมีพึงได้เพื่อให้ความรู้กับคนในชุมชนอย่างต่อเนื่องให้ข้อมูลเบื้องต้น และแนะนำการติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมจากเจ้าหน้าที่ เช่น สายด่วน สปสช. หมายเลข 1330 และประกันสังคม หมายเลข 1506 เพื่อให้ผู้บริโภคทราบสิทธิ และ สามารถดำเนินการด้วยตนเอง หรือเตรียมเอกสารให้กับเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง