รถโดยสารปลอดภัย/ประกันภัย

มพบ. จัดเวทีสมัชชา ‘บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ’

Image ca8fb65

มพบ. จัดเวทีสมัชชา ‘บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะ’ เพื่อเสนอประเด็นการขับเคลื่อนงานและมาตรการความสำคัญในการจัดการระบบรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย

          เมื่อวันที่ 6-7 กันยายน 2561 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ร่วมกับ สมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค (สสอบ.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีสมัชชา ‘บทบาทองค์กรผู้บริโภค กับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย’ เพื่อเป็นการนำเสนอบทบาทการดำเนินงานขององค์กรผู้บริโภค ประเด็นการขับเคลื่อนงานรถโดยสารสาธารณะ และมาตรการความสำคัญ การจัดการระบบรถรับส่งนักเรียน ในการพัฒนาคุณภาพ มาตรฐานบริการของรถโดยสารสาธารณะและรถรับส่งนักเรียนให้มีความปลอดภัย

S 8530427483223

          งานวันแรก (6 กันยายน 2561) เน้นไปที่ปัญหาและการทำงานด้านรถโดยสารสาธารณะ มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตองค์กรผู้บริโภคกับงานด้านรถโดยสารปลอดภัย” โดย นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ต่อด้วยการนำเสนอ ‘บทบาทองค์กรผู้บริโภคกับการขับเคลื่อนงานรถโดยสารสาธารณะ 6 ภาค’ ผ่านคลิปวิดีโอที่สร้างสรรค์โดยกลไกเครือข่ายผู้บริโภคทั้ง 6 ภาค รวมทั้งมีการประกวดและมอบรางวัลให้แก่คลิปวิดีโอที่ชนะเลิศใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 2) นวัตกรรมยอดเยี่ยมการทำงานรถโดยสารปลอดภัย และ 3) ความร่วมมือการทำงานรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย

Image 7da9816

          นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยน ในหัวข้อ “ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562” โดย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) และ นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน ดำเนินรายการโดย นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย

          โดย นพ.ธนะพงศ์ นำเสนอสถิติอุบัติเหตุของรถโดยสารสาธารณะ และรถรับส่งนักเรียน ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุ และวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน รวมทั้งเสนอแนวทางการแก้ไข ขณะที่ นางสุภา กล่าวถึงเรื่องอุบัติเหตุบนท้องถนนที่ดีขึ้นกว่าในอดีต เนื่องจากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมทั้งเครือข่ายผู้บริโภคร่วมกันรณรงค์เรื่องความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มองว่าควรมีการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างหน่วยงาน กับผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น คนขับรถ เพื่อให้แก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และผู้โดยสารได้รับความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากนี้ การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้บริโภค ก็เป็นเรื่องที่สำคัญและควรสร้างให้เกิดขึ้น (ติดตาม Facebook LIVE ‘ความคาดหวังรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย ปี 2562’ ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค)

S 8530427481699

          ส่วนงานวันที่สอง (7 กันยายน 2561) จะพูดถึงปัญหาและการทำงานด้านรถรับส่งนักเรียน มีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “อนาคตงานรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” โดย นายนิกร จำนง ประธานมูลนิธิไทยปลอดภัย

          นายนิกร เสนอว่า ควรกำหนดมาตรฐานรถรับส่งนักเรียนที่เหมาะสมและปลอดภัย โดยให้โรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าไปมีส่วนร่วมในการดูแลความปลอดภัยเรื่องการเดินทางของนักเรียน โดยในระยะแรก มุ่งเน้นไปที่การสร้างมาตรฐานเกี่ยวกับตัวรถให้มีความปลอดภัยและสอดคล้องกับสภาพสังคม หลังจากนั้นจึงค่อยเน้นเรื่องการเข้าถึงสภาพปัญหาและบริบทจริงของแต่ละพื้นที่ รวมถึงแก้ไขปัญหาด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

PHim

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดสภาผู้บริโภค “เรื่องมาตรการสำคัญในการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย” มีการหาข้อเสนอ และทิศทางของรถรับส่งนักเรียนใน 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อเชื่อมโยงไปสู่กิจกรรมในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นการพูดคุยแลกเปลี่ยนทิศทางและนโยบายเกี่ยวกับรถรับส่งนักเรียนในปี 2562 โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 3 กลุ่ม ได้แก่ เครือข่ายผู้บริโภค หน่วยงานราชการ และโรงเรียน/ผู้ปกครอง เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานเรื่องรถรับส่งนักเรียนต่อไป

 

 

Tags: รถโดยสารสองชั้น , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, รถรับส่งนักเรียน

พิมพ์ อีเมล