ผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือ เรียกค่าชดเชย 2.2 หมื่นลบ.จากการคิดค่าโทรแบบปัดเศษ

 

PP2

 

เครือข่ายผู้บริโภคยื่นฟ้องคดีแบบกลุ่ม 3 ค่ายมือถือดัง เรียกค่าเสียหายไม่น้อยกว่า 2.2 หมื่นล้านบาท เพื่อให้จ่ายให้แก่ผู้ใช้มือถือทุกคนกว่า 90 ล้านเลขหมายในประเทศไทย

 

6 มิถุนายน 25661 กรุงเทพฯ – นายรุจน์ โกมลบุตร กรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อและโทรคมนาคม คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า คอบช.ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องการคิดค่าโทรศัพท์แบบปัดเศษวินาทีเป็นนาทีมาอย่างต่อเนื่อง และได้มีข้อเสนอไปยังคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล เพื่อให้เกิดการกำกับค่าบริการตามจริงเป็นวินาที สร้างความเป็นธรรมให้กับผู้บริโภค เนื่องจากที่ผ่านมา การคิดค่าบริการแบบปัดเศษเป็นนาทีนั้น ทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายเกินกว่าที่ใช้จริง และแม้ต่อมาจะมีการออกโปรโมชั่นเป็นวินาที คอบช.ก็มีตรวจสอบและพบว่าผู้บริโภคต้องจ่ายราคาแพงขึ้น แต่สิทธิประโยชน์ลดลง เมื่อเทียบกับแพคเกจเดิมที่ไม่คิดค่าโทรเป็นวินาที อีกทั้ง กสทช. หน่วยงานกำกับดูแลก็เคยมี มติ กทค.ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2559 ให้ทุกค่ายคิดค่าบริการตามจริง ห้ามปัดเศษเป็นนาที แต่ก็พบว่าช่วงนั้นไม่มีบริษัทใดปฏิบัติตามกฎหมาย จนกระทั่งวันที่ 11 มกราคม 2560 กทค.มีมติกลับมติเรื่องการบังคับห้ามปัดเศษวินาที โดยให้ใช้บังคับแค่ครึ่งเดียวของตลาด ซึ่ง คอบช.ได้เคยคัดค้านแต่ไม่เป็นผล ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องยาวนานและได้ประโยชน์จากการละเมิด ผิดสัญญาให้บริการโทรคมนาคมมานานหลายปี จึงเป็นความชอบธรรมของผู้บริโภคที่จะได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายในช่วงดังกล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เผยผลจากการรณรงค์ของมูลนิธิฯ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาการปัดเศษวินาทีเป็นนาทีของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งทางมูลนิธิฯ เห็นว่าเป็นเรื่องไม่เป็นธรรม และ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมควรวางกติกาห้ามเรื่องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2560 ได้กลับมติเรื่องการบังคับห้ามปัดเศษวินาทีทุกรายการส่งเสริมการขาย กลายเป็นบังคับแค่ครึ่งเดียวของตลาด ทาง มพบ. จึงร่วมกับ คอบช. และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม ก็ได้เริ่มประกาศเชิญชวนผู้บริโภคที่ประสบปัญหาร่วมฟ้องคดีแบบกลุ่มเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ โดยได้ยื่นฟ้องคดีสามค่ายมือถือใหญ่ คือ ทรู (TRUE) เอไอเอส (AIS) และ ดีแทค (DTAC)

กำหนดโจทก์ผู้ฟ้องคดี เป็นแกนนำคดีละ 2 คน แบ่งตามผู้ใช้บริการแบบรายเดือนกับเติมเงิน ดังนี้

AIS คือ นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล สื่อมวลชน เป็นโจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และนายวชิร พฤกษ์ไพบูลย์ เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงิน

DTAC คือ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เป็นโจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และนางสาวรมณีย์ เต็มเปี่ยม เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงิน

TRUE คือ นางสาวชลดา บุญเกษม กรรมการ คอบช. เขตภาคกลาง เป็นโจทก์แกนนำของผู้ใช้แบบรายเดือน และนางประจวบ ทิทอง เครือข่ายผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร เป็นโจทก์แกนนำผู้ใช้แบบเติมเงิน

“ปัจจุบันมีผู้บริโภคสนใจร่วมฟ้องคดีกับทางมูลนิธิฯกว่า 200 ราย ซึ่งในการฟ้องคดี มีการตั้งทีมทนายความร่วมกันของมูลนิธิฯ และสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดตัวแกนนำสมาชิกกลุ่มที่ทำหน้าที่โจทก์เป็นเครือข่ายผู้บริโภค และมีผู้บริโภคเป็นสมาชิกกลุ่ม โดยที่ผ่านมา มีความล่าช้าในขั้นตอนของการรวบรวมหลักฐานการเป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์ และประวัติการใช้บริการโทรศัพท์ (call detailed) จากผู้ให้บริการ เพื่อนำมาประกอบการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เพราะประสบปัญหาในการขอรายละเอียดการใช้โทรศัพท์ของตนเอง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใช้บริการแบบเติมเงิน ซึ่งไม่มีหลักฐานใบแจ้งหนี้ เหมือนกับผู้ใช้บริการแบบรายเดือน จึงต้องค้นหาหลักฐานจากเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชั่นของค่ายมือถือ ซึ่งมีขั้นตอนที่ยุ่งยาก แสดงให้เห็นว่าข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการยังมีระบบขั้นตอนที่เข้าถึงได้ยาก” นางสาวสารีกล่าว

ว่าที่ร้อยตรีสมชาย อามีน นายกสมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า สมาคมร่วมฟ้องคดีกับมูลนิธิฯ โดยรับผิดชอบคดีในส่วนของผู้บริโภคที่ใช้บริการของดีแทค โดยยื่นฟ้องที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เป็นคดีแบบกลุ่มโดยแบ่งสมาชิกกลุ่มเป็นรายเดือนกับเติมเงิน มีโจทก์ที่เป็นแกนนำกลุ่มละ 1 คน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนคุ้มครองประโยชน์ของสมาชิกกลุ่ม เพื่อให้เกิดการคุ้มครองเป็นการทั่วไปและเห็นว่าการคิดค่าโทรศัพท์แบบไม่ปัดเศษจะทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์อีกต่อไป โดยก่อนหน้านี้ ทางสมาคมได้ฟ้องคดีแบบกลุ่มมาแล้ว 2 คดี เป็นคดีสิ่งแวดล้อมและศาลชั้นต้นก็ได้มีการสั่งรับให้ดำเนินคดีแบบกลุ่มแล้ว โดยในคดีนี้ยื่นฟ้อง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และศาลนัดไต่สวนคดีแบบกลุ่ม วันที่ 18 มิถุนายน 2561 เชื่อว่าผู้บริโภคจะได้รับความเป็นธรรมจากคดีนี้

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มพบ. กล่าวว่าในส่วนของการฟ้องคดีแบบกลุ่ม เป็นรูปแบบการดําเนินคดีที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการอํานวยความยุติธรรมให้กับประชาชน เนื่องจากเป็นวิธีการที่สามารถคุ้มครองผู้เสียหายจํานวนมากได้ในการดําเนินคดีเพียงครั้งเดียว และสามารถอํานวยความยุติธรรมให้แก่ผู้เสียหายที่ไม่มีความสามารถฟ้องคดีเพื่อเยียวยาความเสียหายด้วยตนเองได้ หรือผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายจํานวนเพียงเล็กน้อยจนไม่คุ้มที่จะนำคดีสู่ศาล และป้องกันการขัดกันของคำพิพากษา ทั้งนี้มูลนิธิฯ ทำหน้าที่ดูแลคดีในส่วนของผู้ใช้บริการ เอไอเอส และ ทรู โดยทั้งสองคดี ได้ยื่นฟ้องที่ศาลแพ่ง (รัชดา) เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 และศาลได้นัดไต่สวนคดีแบบกลุ่ม วันที่ 25 มิถุนายน 2561 ซึ่งหวังว่า การดําเนินคดีแบบกลุ่มในครั้งนี้จะช่วยสนับสนุนและเป็นมาตรการที่สร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนผู้ด้อยโอกาสในสังคมได้เป็นอย่างดี ซึ่งทั้งสามคดี รวมมีผู้ใช้บริการกว่า 90 ล้านเลขหมาย การฟ้องคดีแบบกลุ่มครั้งนี้ จะชดเชยความเสียหายให้กับทุกคนเป็นเงินรวมไม่น้อยกว่า 22,000 ล้านบาท

คดวนาท 180606 0028  คดวนาท 180606 0029

 

Tags: ทรู, ดีแทค, เอไอเอส

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน