มติ 10:1 บอร์ด กสทช.เคาะประชาพิจารณ์คูปอง 690บ.

EyWwB5WU57MYnKOuFZiJUhRBCyk2zfuu35ffH23ypKS5QugvMcK1Kl

มติคณะกรรมการ กสทช. 10:1 เคาะประชาพิจารณ์ราคาคูปองทีวีดิจิตอล 690 บาท ปรับลดจากราคาเดิม 1,000 บาท ขณะที่ "นที ศุกลรัตน์" รองประธาน กสทช. งดออกเสียง ขณะที่วิทยุชุมชน กสทช. ให้ออกอากาศได้ก่อน 377 สถานี...

เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.2557 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช. มีมติเห็นชอบการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หรือประชาพิจารณ์ โครงการแจกคูปองสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีดิจิตอล มูลค่า 2 หมื่น 5 พันล้านบาท หลังจากที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. อนุญาตให้เดินหน้า โดยให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งการประชาพิจารณ์แบ่งเป็น วันที่ 4 กรกฎาคม จังหวัดเชียงใหม่ 5 กรกฎาคม ที่ขอนแก่น 8 กรกฎาคม สงขลา และ 10 กรกฎาคม ที่กรุงเทพฯ และการประชาพิจารณ์แต่ละครั้งจะมีตัวแทนจาก คสช. เข้าร่วมด้วย โดยมีเงื่อนไขว่า ราคาคูปองเริ่มที่ 690 บาท ปรับลดลงจาก ราคาที่คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. เคาะที่ 1,000 บาท

เงื่อนไขเดิม คือ คูปองสามารถแลกใช้แทนเงินสด เพื่อเป็นส่วนลดซื้อกล่องรับสัญญาณภาคพื้นดิน หรือ ดีวีบี-ทีทู กล่องรับสัญญาณทีวีดาวเทียม และเคเบิลทีวี โดยอุปกรณ์ที่แลกรับต้องรับประกัน 3 ปี มีระยะเวลาการใช้งานไม่เกิน 1 ปี ส่วนรูปแบบการแจกจะเข้าถึง 22.9 ล้านครัวเรือน หรือ 25 ล้านครัวเรือนหรือไม่ ต้องทำหนังสือสอบถามไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ว่า เป็นการดำเนินการจัดซื้อหรือไม่ ซึ่งมติเรื่องราคาที่ออกมานั้น เห็นชอบ 10 ต่อ 1 โดย พันเอกนที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. งดออกเสียง นอกจากนี้ กสทช. ยังแต่งตั้งอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการสนับสนุนให้ประชาชนได้รับชมฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2014 โดยมีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน หลัง กสทช. อนุมัติจ่ายเงิน 427 ล้านบาท ซึ่งจะประชุมในวันที่ 27 มิถุนายนนี้

ขณะที่ วานนี้ (24 มิ.ย.) กสทช. ได้ชี้แจงต่อ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย คสช. เพื่อให้ คสช. ออกประกาศปลดล็อกให้สถานีวิทยุชุมชนให้ดำเนินการออกอากาศได้ แต่มีเงื่อนไข คือ สถานีวิทยุดังกล่าว ต้องเป็นสถานีวิทยุที่ได้รับใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ผ่านการตรวจเครื่องส่ง สายอากาศ ตามประกาศของ กสทช.มีรัศมีการบริการไม่เกิน 20 กิโลเมตร 1 นิติบุคคลต่อใบอนุญาต และเนื้อหาออกอากาศสอดคล้องกับ คสช. และต้องทำเอ็มโอยูกับ กสทช.

ทั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่า จะสามารถออกอากาศได้ 377 สถานีก่อน ส่วนอีก 4,000 สถานีจะต้องทยอยตรวจเครื่องส่ง สถานี และเนื้อหาก่อน โดยมีทหารจากกองทัพภาคที่ 1-4 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กสทช. จะร่วมตรวจสอบร่วมกัน.

 

ที่มา : ไทยรัฐออนไลน์   25 มิ.ย. 2557 18:01

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน