คนไทยใช้”เน็ต-มือถือ”พุ่ง100%

news_img_tvคนไทยใช้”เน็ต-มือถือ”พุ่ง100% กสทช.ชี้เป็นช่องทางสื่อสารหลัก

 

 

กสทช.เผยผลสำรวจพฤติกรรมใช้บริการโทรคมนาคมของคนไทยระหว่างปี 2555-2556 พบใช้อินเทอร์เน็ตจากการเชื่อมต่อทุกช่องทางสูงขึ้น โซเชียล เน็ตเวิร์ค บริการยอดฮิตอันดับ 1 ขณะที่ “มือถือ” ขึ้นแท่นอันดับ 1 คนไทยใช้ติดต่อสื่อสารสูงสุดกว่า 93.5% นับถอยหลัง “โทรศัพท์บ้าน-สาธารณะ” คนใช้ลดฮวบเหลือ 20%

 

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาความร่วมมือระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพฤติกรรมการใช้บริการโทรคมนาคมของประชากรไทย ระหว่างปี 2555 -2556 โดยมีข้อกำหนดระเบียบวิธีวิจัย การสำรวจภาคสนามจากตัวอย่างประชากรทั่วประเทศที่มีอายุตั้งแต่ 15-70 ปี จำนวน 4,020 ตัวอย่าง ครอบคลุมพื้นที่การสำรวจ 5 เขต ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคใต้ และกรุงเทพมหานครกับปริมณฑล

 

ผลสำรวจพบว่า สังคมไทยมีการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงขึ้นทั้งในรูปแบบการเชื่อมต่อผ่าน โทรศัพท์เคลื่อนที่และเอดีเอสแอล (อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง) ขณะที่ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการโทรคมนาคมที่คนไทยในทุกพื้นที่นิยมใช้ สูงสุด 93.5% โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้บริการแบบเติมเงินสูงถึง 79.2% มีเพียงในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จะมีผู้ใช้บริการระบบพรีเพดในอัตราที่ต่ำกว่า คือเพียง 55.8%

 

ลักษณะการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ใช้บริการประเภทเสียง คิดเป็น 99.9% ส่วนการใช้บริการเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต พบว่าได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีแนวโน้มการเติมโตสูงขึ้นเป็น 31.9% จาก 18.4% ในปีที่ผ่านมา

 

 

“เฟซบุ๊ค-ทวิต-ไลน์” บริการสุดฮิต

สำหรับพื้นที่ที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงสุด คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล 53.2% รองลงมาเป็นภาคใต้ 32.6% ตามด้วยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ 29.5, 24.3 และ 18.9% ตามลำดับ โดยบริการที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุด 3 ลำดับแรก คือ บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ คิดเป็น 33.1% การสื่อสารผ่านข้อความ เช่น Line, What App 29.4% และการค้นหาข้อมูล 28.9%

 

การสำรวจครั้งนี้ ยังพบว่า บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) เป็นบริษัทที่มีสัดส่วนผู้ใช้บริการมากที่สุด 51.8% รองลงมาคือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (DTAC) 37.2% และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด (True Move) 11.0% ปัจจัยหลักที่ตัดสินใจเลือกผู้ให้บริการ คือ 1.เครือข่ายครอบคลุม 2.สัญญาณเสียงคมชัดติดต่อได้สะดวก และ 3.อัตราค่าบริการต่ำ

 

 

“โทรศัพท์บ้าน-สาธารณะ”นับถอยหลัง

ขณะที่การใช้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน มีอัตราการใช้ลดลงชัดเจน แต่ยังคงมีอัตราสูงในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล โดยมีภาพรวมแนวโน้มพฤติกรรมการใช้โทรศัพท์พื้นฐานเพื่อเป็นช่องทางเข้าถึง อินเทอร์เน็ตมากขึ้นกว่าการใช้เพื่อติดต่อสื่อสารทางเสียง

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวถึงผลการสำรวจครั้งนี้ว่า สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ หรือโทรศัพท์พื้นฐาน มีสัดส่วนผู้ใช้บริการ 27.9 ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2554 ซึ่งอยู่ที่ 35.2% โดยลักษณะการใช้งานบริการโทรศัพท์พื้นฐานในปัจจุบันเน้นที่การรับสาย 90.5% ของจำนวนตัวอย่างที่ใช้บริการ รองลงมาเป็นการโทรออก 77% และใช้ในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต 46.8 %

 

ผลสำรวจยังพบว่า บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการที่กลุ่มตัวอย่างใช้บริการมากที่สุด คิดเป็น 69.9% รองลงมาได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 13.3% และบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนผู้ใช้บริการคิดเป็น 11.3%

 

ในส่วนของพฤติกรรมการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะเพียง 23.9% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด สาเหตุหลักในการใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้การไม่ได้ (เช่น โทรศัพท์เสีย แบตเตอรี่หมด ฯลฯ) รองลงมาคือในที่พักอาศัยไม่มีโทรศัพท์ประจำที่ สำหรับสถานที่ที่ใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะมากที่สุด คือ โทรศัพท์ที่อยู่ใกล้ที่พัก รองลงมาคือตามท้องถนนทั่วไป

 

 

“สไกป์-วีโอไอพี”ฮิต-โทร.ข้ามประเทศหด

สำหรับบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ มีผู้ใช้บริการเพียง 5.5% ของจำนวนตัวอย่างทั้งหมด และพบว่าผู้ใช้บริการขณะอยู่ต่างประเทศมีการโทรกลับประเทศไทยถึง 78% ของจำนวนตัวอย่างผู้เคยเดินทางไปต่างประเทศ และใช้วิธีการโทรกลับด้วยการซื้อซิมการ์ดใหม่ในต่างประเทศ 49.1% รองลงมาเป็นใช้บริการโทรผ่านระบบ VOIP เช่น Skype, Viber 47.3% และใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในการใช้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติ 43.6%

 

ในทางตรงกันข้าม หากพิจารณาขณะอยู่ในประเทศไทย พบว่า มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลไปต่างประเทศคิดเป็น 74.5% ลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีอยู่ 77.4% โดยส่วนใหญ่เลือกวิธีโทรไปต่างประเทศด้วยการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ 59.8% ลดลงจากปี 2554 ที่มีการใช้สูงถึง 87.5% และโทรจากโทรศัพท์ประจำที่ 15.2% ลดลงจากปี 2554 ซึ่งมีการใช้ 19.3%

 

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตโดยรวมของประเทศไทยพบว่า มีผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตคิดเป็น 46% ของกลุ่มตัวอย่าง เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ซึ่งมีเพียง 36.5% และสาเหตุหลักของการไม่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตเนื่องจากไม่มีความจำเป็นต้อง ใช้ ไม่รู้จัก และใช้ไม่เป็น

 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า กรุงเทพฯและปริมณฑลมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตสูงที่สุดคิดเป็น 68.2% รองลงมาเป็นภาคใต้ 52.4% โดยช่วงเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากที่สุดคือ ช่วงเวลา 16.00-22.00 น. โดยเป็นการใช้บริการในสถานที่พักอาศัยเป็นหลัก ซึ่งลักษณะการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นไปเพื่อใช้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ มากที่สุด รองลงมาเป็นการสื่อสารข้อความ และการใช้ค้นหาข้อมูล

 

 

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 8 ธันวาคม 2556 www.bangkokbiznews.com

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน