องค์กรผู้บริโภคเรียกร้อง กสทช. ปลดล็อคโทรศัพท์มือถือพรีเพด

สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ออกแถลงการณ์เรียกร้อง กสทช. บังคับใช้กม.พรีเพดให้เป็นจริง และปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครอง พิจารณาแบบสัญญาโทรศัพท์มือถือ ปลดล็อคผู้บริโภคโทรศัพท์พรีเพดกว่า 60 ล้านคน  

วันที่ 31 ม.ค. 55 สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค โดยนางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภคได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งบังคับให้ ข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งระบุให้ โทรศัพท์มือถือแบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือแบบเติมเงิน ห้ามกำหนดระยะเวลาการใช้งาน ยกเว้นได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการ มีผลปฏิบัติจริง และให้ กสทช. เร่งปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลาง เพื่อปลดล็อคปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้ากว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ โดยขอให้ กสทช. เร่งพิจารณาแบบสัญญาฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ พร้อมชี้แจงและกำหนดเวลาที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้น จะดำเนินการฟ้องต่อศาลในฐานะที่ กสทช. ละเมิดคำสั่งศาลปกครอง

เนื่องจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ศาลปกครองกลาง ได้มีคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่รัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เนื่องจาก กทช. ในขณะนั้นใช้เวลาในการพิจารณาแบบสัญญาใหม่นานกว่า 3 ปี จนส่งผลให้ผู้ใช้บริการรายหนึ่งฟ้องต่อศาล เนื่องจากถูกบริษัทกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ถูกระงับบริการและถูกยึดหมายเลขโทรศัพท์ โดยผู้ให้บริการอ้างว่า ได้ปฏิบัติตามสัญญาเดิมของการให้บริการ เนื่องจาก กทช. ยังพิจาณาสัญญาฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ  ศาลปกครองกลางจึงมีคำพิพากษาให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เร่งพิจารณาแบบสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือกำหนดแบบสัญญามาตรฐานเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า  กสทช. ได้ทำงานจนผ่านระยะเวลาทดลองงานแล้ว ขณะที่ผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบเติมเงินจำนวนมากกว่า 60 ล้านเลขหมายและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ยังต้องผจญอยู่กับปัญหา การถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ถูกเร่งรัดให้ต้องใช้บริการ เช่น 10 บาท ใช้งานได้เพียง 1 วัน ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับว่า ผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือแบบพรีเพดทุกคนต้องจ่ายเงินค่าสื่อสาร แม้จะใช้บริการหรือไม่ก็ตามเป็นเงินอย่างน้อย 10 บาทต่อวันให้กับบริษัทผู้ให้บริการ หากฝ่าฝืนก็จะถูกยึดเงิน ยึดหมายเลขโทรศัพท์ ทั้งที่การกำหนดดังกล่าวเป็นการทำผิดประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มานานกว่า 6 ปีแล้ว จึงได้มีการออกแถลงการณ์เพื่อทวงถามแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว

ผู้เข้าชม {hits}2072{/hits} ครั้ง

 


แถลงการณ์ 

กรณีปัญหาการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (pre-paid)

นับจากเดือนตุลาคม 2554 จนถึงขณะนี้นับได้ว่า กสทช. ยุคบุกเบิกได้เข้ามาทำงานจนผ่านระยะเวลาทดลองงานแล้ว  ในฐานะสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในการคุ้มครองตัวเอง จึงขอให้ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เร่งแก้ไขปัญหา การกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า ,แบบเติมเงิน หรือพรีเพด  เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ร้อยละ 90 ของผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์มือถือนั้น เป็นแบบเติมเงิน ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 60 ล้านเลขหมายและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ผู้บริโภคทั้งหมดนี้ กลับต้องผจญอยู่กับปัญหาซ้ำซาก คือการถูกกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ ถูกเร่งรัดให้ต้องใช้บริการเกินควร เช่น 10 บาทใช้งานได้เพียง 1 วัน ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคับว่า ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบพรีเพดทุกคนต้องจ่ายเงินค่าสื่อสาร แม้ว่าจะใช้บริการหรือไม่ใช้บริการก็ตามเป็นเงินอย่างน้อย 10 บาทต่อวันให้กับผู้ให้บริการ หากฝ่าฝืนก็จะถูกยึดเงิน ยึดเลขหมายโทรศัพท์ ทั้งที่การกำหนดดังกล่าว เป็นการฝ่าฝืนข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งเท่ากับผู้ให้บริการได้กระทำการที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง ของ กทช.เดิม หรือในปัจจุบันคือ กสทช. มานานกว่า 6 ปีแล้ว  นอกจากนี้เมื่อเดือนสิงหาคม 2554 ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติหรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เนื่องจาก กทช. ใช้เวลาในการพิจารณาแบบสัญญาฉบับใหม่นานกว่า 3 ปีทำให้ ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่ กสทช. เร่งพิจารณาแบบสัญญาโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้าของบริษัทให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน หรือกำหนดแบบสัญญามาตรฐานขึ้นมาเพื่อช่วยคุ้มครองผู้บริโภค

ดังนั้น สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคจึงขอเรียกร้องให้ กสทช. บังคับให้ประกาศ กทช. เรื่อง มาตาฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 11 การให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการเป็นการล่วงหน้าจะต้องไม่มีข้อกำหนดอันมีลักษณะเป็นการบังค้บให้ผู้ใช้บริการต้องใช้บริการภายในระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ ผู้ให้บริการจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการเป็นการล่วงหน้า มีผลบังคับใช้จริงในทางปฏิบัติ เพื่อปลดล็อคแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ใช้บริการโทรศัพท์แบบพรีเพดกว่า 60 ล้านคนทั่วประเทศ และปฏิบัติตามคำสั่ง ศาลปกครองกลางโดยเร่งพิจารณาแบบสัญญาฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ พร้อมชี้แจงและกำหนดเวลาที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างชัดเจนภายใน 15 วัน ไม่เช่นนั้น จะดำเนินการฟ้องต่อศาลในฐานะที่ กสทช. ละเมิดคำสั่งศาลปกครองให้เป็นแบบอย่างต่อไป

บุญยืน  ศิริธรรม   

ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค

31 ม.ค. 55

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน