วุฒิสภาผ่านแล้ว กม.'กสทช.'

ที่ประชุมวุฒิสภา ผ่านร่างกฎหมาย กสทช. ที่วงการสื่อสารรอคอยกันมาเป็นเวลานาน ด้วยคะแนน 82 ต่อ 4 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 หลังสมาชิกวุฒิสภาอภิปรายตั้งข้อสงสัยเพียงชั่วโมงเศษ หลายท่านข้องใจ เหตุตัดสัดส่วนความมั่นคงออก ให้สำนักงานวุฒิสภาเป็นฝ่ายธุรการสรรหา โดยหลังจากนี้ประธานสภาผู้แทนฯ จะนำ ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

เมื่อ วันที่ 15 พ.ย. ที่รัฐสภา ที่ประชุมวุฒิสภา ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 82 ต่อ 4 งดออกเสียง 4 และไม่ลงคะแนน 1 คะแนน โดยจากนี้ไปจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป ทั้งนี้สาระสำคัญใน   ร่างกฎหมายดังกล่าว ได้มีการแก้ไขใน 5 ประเด็น คือ 1. จำนวน กสทช. ให้กลับไปมี 11 คน จาก 15 คน 2. โครงสร้างของ กสทช. ให้ตัดสัดส่วนตัวแทนของฝ่ายความมั่นคงและการบริหารราชการออก 3. คุณ สมบัติเรื่องอายุ กสทช.กำหนด 35-70 ปี 4. ให้สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเป็นหน่วยธุรการในการสรรหา กสทช. และ 5. ให้รัฐวิสาหกิจนำรายได้จากผลประกอบการที่ได้รับส่งให้ กสทช. เพื่อส่งเป็นรายได้แผ่นดินภายใน 3 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่จะลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าว สมาชิกได้อภิปรายตั้งข้อสังเกตประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ โดย นายธวัช บวรวนิชยกูร ส.ว.สรรหา กล่าวว่า การที่ประเทศไทยมีการใช้คลื่น 3 จีล่าช้าออกไป ทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสเป็นอย่างมาก เพราะศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองมาแล้ว ว่าคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ไม่สามารถดำเนินการเปิดประมูล 3 จีได้ ต้องรอ กสทช. เท่านั้น จึงอยากถามว่า ภายหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว จะมี กสทช. เข้ามาทำงานเมื่อไหร่

ขณะที่ นายคำนูน สิทธิสมาน ส.ว. สรรหา กล่าวว่า การพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เสมือนบีบบังคับให้วุฒิสภาต้องให้ความเห็นชอบให้ได้ เพราะถ้าไม่ผ่านก็จะทำให้เกิดความล่าช้าในการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญที่สงสัยมากที่สุดคือการตัดสัดส่วนบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญ ด้านความมั่นคงของรัฐออกจากกรรมการ กสทช. ทั้งที่มีความจำเป็นที่จะเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ ไม่รู้ว่าผู้ร่างกฎหมายกำลังกลัวอะไรอยู่หรือไม่

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. สรรหา กล่าวว่า ไม่ต้องการให้สำนักงานเลขา ธิการวุฒิสภาเข้ามาทำหน้าที่สรรหาบุคคล เข้ามาเป็น กสทช. เพราะเป็นการสร้างภาระงานให้สำนักงานฯมากเกินไป ทำให้สำนักงานฯต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับงานฝ่ายบริหารมากเกินไป เกรงว่าสำนักงานฯจะต้องเข้ามาเป็นจำเลยในอนาคต หากมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดที่ไม่ได้รับการสรรหา กสทช. โดยอ้างกระบวนการสรรหามิชอบและไปฟ้องร้องต่อศาลได้ 

นายอนันต์ วรธิติพงศ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะ กมธ.ชี้แจงว่า การกำหนดให้สำนักงานฯเข้ามาทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการสรรหา  กสทช. เพราะจะให้ความเป็นกลางมากกว่า และมีประสบการณ์ในเรื่องดังกล่าว จึงมั่นใจว่าจะสามารถสรรหา กสทช. ได้ภายใน 180 วัน อยากให้ดูตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา ที่ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีในอดีต ที่ไม่สามารถสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) ได้

สำหรับการตัดสัดส่วนของบุคคลผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่น คงของรัฐ กมธ.ร่วมกันก็ไม่ได้ตัดออกไปจากสารบบเสียทีเดียว แต่ในมาตรา 48 เกี่ยวกับการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่นั้น ได้กำหนดให้ กสทช. รับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย รวมไปถึงต้องคำนึงถึงการใช้งานด้านความมั่นคงของรัฐตาม ความจำเป็นด้วย ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่าฝ่ายความมั่นคงยังคงมีส่วนร่วมอยู่.

โดย เดลินิวส์ วันอังคาร ที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เวลา 9:07 น

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน