ผลวิจัยชี้ "มือถือ"สำคัญกว่าโทรศัพท์บ้าน

กทช.เผย ปัจจัยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี มีผลต่อพฤติกรรมการใช้งานมือถือคนไทย ระบุ การใช้งานระหว่างมือถือด้วยกันอยู่ที่ 68% ขณะที่การโทรระหว่างโทรศัพท์บ้านกับโทรศัพท์บ้านด้วยกันเหลือแค่ 3% ชี้ระบบเอไอเอสคนใช้เยอะสุด

นายพสุ ศรีหิรัญ ผู้อำนวยการส่วนงานศูนย์ข้อมูลสถิติ และวิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ปรากฏว่าผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือจะได้เปรียบผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน เพราะโทรศัพท์มือถือกลายมาเป็นเครื่องมือสื่อสารส่วนบุคคล และใช้งานในเชิงธุรกิจเป็นส่วนใหญ่

ทั้งนี้ สามารถจำแนกการใช้โทรศัพท์มือถือออกมาเป็นสัดส่วนดังนี้ การใช้งานโทรศัพท์มือถือระหว่างกัน (โมบายทูโมบาย) 68% โทรศัพท์พื้นฐานถึงมือถือ (ฟิกซ์ไลน์ทูโมบาย) 21% มือถือถึงโทรศัพท์พื้นฐาน (โมบายทูฟิกซ์ไลน์) 8% และการใช้งานโทรศัพท์พื้นฐานระหว่างกัน (ฟิกซ์ไลน์ทูฟิกซ์ไลน์) อยู่แค่ 3% และจำแนกพฤติกรรมการโทรนอกโครงข่ายอยู่ที่ 24% และการโทรในโครงข่าย 76%

เขา กล่าวว่า หากเป็นประเภทโทรมือถือถึงกัน พบว่า ระบบเครือข่ายของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส โทรเข้าระบบเครือข่ายของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทคมากที่สุด ส่วนลูกค้าดีแทค และทรูมูฟ ก็โทรหาลูกค้าเอไอเอสมากที่สุดเช่นกัน

นายพสุ กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนโครงข่ายดั้งเดิมจากโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐานหรือโครงข่าย โทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เป็นโครงข่ายแบบไอพี เป็นโครงข่ายหลักในการรองรับบริการที่สำคัญของคอนเทนท์ที่มีการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลา ซึ่งเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม และการแพร่หลายของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุค 3 ยุค 4 หรือ 3จี และ 4จี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็จะมีผลกระทบต่อการผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ โครงข่ายแบบไอพีที่รวดเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ตามประกาศการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในประเทศไทย ได้มีการส่งข้อมูลการเชื่อมต่อตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 มีผู้ประกอบการ 7 รายที่ส่งข้อมูลมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย เอไอเอส, ดีแทค บริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด หรือดีพีซี บริษัท ทรูมูฟ, บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ทริปเปิลที จำกัด (มหาชน)

วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553 นสพ.กรุงเทพธุรกิจ

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน