มือถือ-บรอดแบนด์ ความหวังบริการโทรคมปี 53

หลังจากประคองธุรกิจฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อปี 2552 มาได้อย่างเฉียดฉิว ด้วยตัวเลขมูลค่าตลาดรวมบริการโทรคมนาคมที่ 247,000 ล้านบาท หดตัวประมาณ 2.1% จากปีก่อนหน้าที่ขยายตัวราว 6.57% มาถึงปีนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ต้นปี ทั้งจากตัวเลขคาดการณ์จีดีพีซึ่งปรับสูงขึ้น และการฟื้นตัวของความมั่นใจผู้บริโภค

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกคาดการณ์ตลาดบริการโทรคมนาคมปี 2553 ว่า น่าจะเติบโตในอัตรา 3.2-5.3% คิดเป็นมูลค่าตลาดประมาณ 255,000-260,000 ล้านบาท แบ่งเป็นมูลค่าจากตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 60-65% ตลาดบริการโทรศัพท์พื้นฐาน 10-11% ตลาดบริการอินเทอร์เน็ต 8-9% ที่เหลือเป็นตลาดบริการโทรคมนาคมอื่นๆ อาทิเช่น บริการผ่านโครงข่ายไอพี บริการประชุมทางไกล

มือถือ-บรอดแบนด์ "รุ่ง" กลางวิกฤติ
รายงานจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ปีที่ผ่านมา การชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว ทำให้รายได้จากบริการข้ามแดนอัตโนมัติสำหรับโทรศัพท์มือถือช่วงครึ่งปีแรกหด ตัวถึง 25-26% ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้รายได้ของผู้ให้บริการลดลง อย่างไรก็ดี การขยายตัว 13-15% ของรายได้จากบริการเสริม ที่มีสัดส่วนประมาณ 15-16% ของรายได้ทั้งหมด ช่วยประคับประคองมูลค่าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือให้ลดลงจากปี 2551 ไม่มากนัก

ขณะที่ตลาดบริการอินเทอร์เน็ต มีแนวโน้มขยายตัวได้ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ตามจำนวนผู้ใช้งานคาดว่าจะเพิ่มเป็น 17-18 ล้านคน เติบโตจากปีก่อนหน้านี้ราว 10%

นอกจากนี้ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2553 น่าจะทำให้ธุรกิจบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) ขยายตัวได้ แม้อาจต้องเผชิญกับการแข่งขันเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วต่ำ และโทรศัพท์พื้นฐาน อาจประสบกับการหดตัวของรายได้ จากการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยีที่สูงกว่า

ทั้งนี้ ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตปี 2553 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องในอัตราสองหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรอดแบนด์ ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานเพียง 2-2.5 ล้านราย หรือไม่ถึง 4% ของจำนวนประชากร ซึ่งแสดงถึงโอกาสการขยายตลาดได้อีกมาก

บริการเสริม-สมาร์ทโฟนหนุนฟื้นตัว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าตลาดบริการโทรคมนาคมน่าจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในปีนี้ จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยตลาดบริการมือถือ คาดว่าปริมาณการใช้งาน (MOU) จะสูงขึ้น ทั้งจากบริการข้ามแดนอัตโนมัติและการโทรในประเทศ จนมาอยู่ในระดับใกล้เคียงปี 2551

ส่วนการใช้บริการเสริมน่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาสมาร์ทโฟนที่ถูกลง ทั้งนี้ คาดว่ารายได้จากบริการเสริมจะมีสัดส่วน 17-19% ของรายได้ทั้งหมด และคาดว่าตลาดบริการโทรศัพท์มือถือจะมีมูลค่า 161,000-165,000 ล้านบาท ขยายตัว 2.0-4.5% จากปี 2552 ที่คาดว่าหดตัวลง 2% หรือมีมูลค่าไม่เกิน 158,000 ล้านบาท

ขณะที่แม้การเปิดประมูล 3 จี ความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้บริการเสริม ยังไม่มีกำหนดการที่แน่ชัด แต่การชูจุดขายด้านเทคโนโลยีใหม่ น่าจะเป็นกลยุทธ์การตลาดที่สำคัญของผู้ให้บริการในปีนี้

"กทช.-กม." ความท้าทายต่อผู้ให้บริการ
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ ที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และข้อกฎหมายหลายเรื่อง อาจเป็นอุปสรรคต่อการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดในช่วงปีนี้ รวมถึงอาจส่งผลกระทบทั้งแผนการลงทุน ฐานะทางการเงิน และภาวะการแข่งขันของผู้ให้บริการ

ตัวอย่างเช่น การเปิดประมูล 3 จี ความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ที่ยังรอการตีความของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงอำนาจในการจัดสรรความถี่ของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทช.) ซึ่งหาก กทช. ไม่มีอำนาจในการจัดสรรแล้ว การเปิดประมูลคงต้องชะลอออกไป จนกว่าการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้วเสร็จ และน่าจะส่งผลให้การจัดสรรใบอนุญาตไวแม็กซ์ให้ล่าช้าเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหาก สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กทช. มีอำนาจในการจัดสรรความถี่ ก็อาจมีประเด็นอื่นที่ยังต้องพิจารณา อาทิเช่น คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติ และราคาเริ่มต้นประมูลที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเกี่ยวกับการแปรสัญญาสัมปทาน เนื่องจากความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรัฐวิสาหกิจเจ้าของสัมปทาน หากผู้ให้บริการเอกชนที่เป็นคู่สัญญา ย้ายลูกค้าจากระบบสัมปทานไปยังระบบ 3 จีใหม่ที่มีใบอนุญาตเอง ขณะที่การแปรสัมปทานอาจทำให้เอกชนต้องเสียผลประโยชน์บางอย่าง เพื่อชดเชยกับระยะเวลาสัมปทานที่เหลืออยู่

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 27/01/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน