ความเร็วเน็ตเป็นจริงตามโฆษณาแค่ร้อยละ 70

เผยผลทดสอบของ speedtest.or.th ความเร็วเน็ตเป็นจริงตามโฆษณาเพียงร้อยละ 70 ผอ. สบท. แนะผู้ประกอบการมี 3 ทางเลือก ปรับโฆษณา แก้ไขแพคเกจโดยคิดเงินตามความเร็วที่ให้ หรือเพิ่มคุณภาพให้ได้ตามโฆษณา  

    วันนี้ (26 ต.ค.52) ที่โรงแรมโซฟิเทลเซ็นทารา แกรนด์ กรุงเทพ  ลาดพร้าว สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) และสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้า “โครงการสำรวจและทดสอบคุณภาพความเร็วอินเทอร์เน็ต ปี 2552 ”  นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ผลจากการทดสอบพบว่า คุณภาพของการให้บริการอินเทอร์เน็ตเป็นจริงตามโฆษณา 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า ผู้ให้บริการที่ไม่สามารถทำตามที่โฆษณาไว้ก็ควรดำเนินการ 3 ประการคือ หนี่ง-ปรับโฆษณาเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตให้เป็นจริงตามคุณภาพการให้บริการ  สอง-ปรับแพคเกจให้ตรงกับคุณภาพการให้บริการ เช่น ผู้บริโภคต้องการความเร็ว 10 เมก แต่ความเร็วจริงแค่ 7 เมก ผู้ให้บริการก็ควรปรับแพคเกจตามคุณภาพการให้บริการและคิดค่าบริการตามนั้น และสุดท้ายคือ เพิ่มคุณภาพการให้บริการให้เท่ากับโฆษณาที่ได้ทำไว้

    “ในทางเทคนิคหลายคนอาจบอกว่า 70% ก็ไม่แย่นัก แต่เรื่องนี้ถ้าเปรียบเทียบในมุมของผู้บริโภคจะเข้าใจว่ายอมรับยาก เหมือนเวลาเราไปซื้อข้าวสาร แล้วได้ข้าวไม่เต็มจำนวน เช่น ต้องการข้าว 10 กิโลกรัม แต่ได้จริงแค่ 7 กิโลกรัมเท่านั้น นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ไข ถ้าให้ได้ 7 กิโลก็ต้องคิดเงินแค่ 7 กิโลกรัม ซึ่งแท้จริงผู้บริโภคคงไม่อยากให้คิดเงินน้อยลง แต่อยากได้ข้าวเต็ม 10 กิโลกรัมตามที่สั่งซื้อไว้มากกว่า หรือไม่ก็ต้องบอกตรงๆ แต่แรกว่าจะตักให้ได้แค่ 7 กิโล แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ตรงไปตรงมาก็ต้องคิดเงิน 7 กิโล”  นายประวิทย์กล่าว

ด้านพ.ต.อ.ญาณพล  ยั่งยืน นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย เปิดเผยว่า จากการเปิดให้ทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ www.speedtest.or.th  มา ตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนถึงขณะนี้ มีผู้บริโภคคลิกเข้าไปทดสอบความเร็วอินเทอร์เน็ตแล้วทั้งสิ้น 846,737 ครั้ง  อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้ทดสอบไม่ใส่ข้อมูล เช่น ความเร็วอินเทอร์เน็ตที่ใช้บริการอยู่   ข้อมูลพื้นที่จังหวัดเป็นต้น ทำให้การนำข้อมูลไปประมวลผลเป็นเรื่องยาก ดังนั้นจึงขอความร่วมมือให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ให้ความสำคัญกับการตรวจวัดความเร็วอินเทอร์เน็ต ควรแจ้งข้อมูลให้ถูกต้อง ตรงกับความเป็นจริงก่อนทดสอบ ขณะทดสอบความเร็ว ไม่ควรให้เครื่องทำงานด้านอื่นๆ โดยเฉพาะขณะกำลัง ดาวน์โหลด และอัพโหลด ไฟล์ขนาดใหญ่ ทั้งนี้เพื่อให้ข้อมูลที่ได้ส่งผลต่อการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคได้อย่างแท้จริง

    พ.ต.อ.ญาณพล กล่าวต่อไปว่า เท่าที่มีข้อมูล จังหวัดที่มีการคลิกเข้าไปทดสอบมากคือกรุงเทพมหานคร ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา ความสามารถในการดาวน์โหลด อัพโหลด จำแนกตามผู้ให้บริการ พบว่า ทรู มีความเร็วในการดาวน์โหลดคิดเป็นร้อยละ 84 อัพโหลดร้อยละ 10 สามารถ มีความเร็วในการดาวน์โหลดร้อยละ 76 อัพโหลดร้อยละ74  แมกเน็ต ความเร็วในการดาวน์โหลดร้อยละ71 อัพโหลดร้อยละ 11 เครือข่ายที่ถูกคลิกเข้าไปทดสอบความเร็วมากคือ ทีโอที ทรู และแมกเน็ต

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน