มือถือลงขัน30ล.บล็อคเอสเอ็มเอสขยะ

เอไอเอส-ดีแทค-ทรูมูฟ ลงขันกว่า 30 ล้านบาท ติดตั้งแอพพลิเคชั่นบล็อคเอสเอ็มเอสขยะข้ามเครือข่าย

นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานการตลาด บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3 รายหลักของตลาด ได้แก่ เอไอส ดีแทค และทรูมูฟ ซึ่งมีฐานผู้ใช้บริการรวมกันประมาณ 62 ล้านเลขหมาย ได้ร่วมลงทุนสัดส่วนเท่ากันวงเงินรวมกว่า 30 ล้านบาท เพื่อติดตั้งระบบป้องกัน SMS ที่ไม่พึงประสงค์ข้ามเครือข่าย

ทั้งนี้ ได้มีการติดตั้งเครื่องแอพพลิเคชั่นเซิร์ฟเวอร์ และเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกัน ซึ่งเมื่อมีการส่ง SMS ในลักษณะคอร์ปอเรท จากบริษัทหรือองค์กรที่ซื้อแพ็คเกจไป  SMS ก็จะวิ่งผ่านแอพพลิเคชั่นนี้ก่อน เพื่อตรวจสอบว่า หมายเลขปลายทางแจ้งบล็อคไว้หรือไม่ คาดว่าระบบจะใช้งานได้อย่างสมบูรณ์สิ้นเดือนสิงหาคมนี้

โดยถือเป็นความร่วมมือที่ต่อเนื่องมาประมาณ 1 ปี ในการกำหนดแนวทางกำกับดูแล และพัฒนาระบบเพื่อแก้ปัญหา สแปม SMS หรือ SMS ขยะ

ในส่วนของผู้ใช้บริการ ซึ่งได้รับความเดือดร้อนรำคาญจากการรับ SMS ที่ไม่พึงประสงค์ สามารถโทรศัพท์ขอแจ้งบล็อคการรับบริการเหล่านี้ได้ ผ่านคอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการที่ใช้อยู่ คือ เอไอเอส1175, ดีแทค1678 และ ทรูมูฟ1331 โดยระบบจะสามารถบล็อค SMS ที่ส่งในลักษณะคอร์ปอเรทหรือการส่งครั้งละมากๆ ได้จากทุกระบบ ยกเว้นการส่งแบบมือถือต่อมือถือ หรือการส่งผ่านระบบจากต่างประเทศ 

ขณะที่ นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานพาณิชย์ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวว่า การป้องกันในส่วนของผู้ให้บริการคอนเทนท์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 100 ราย มีส่วนของสัญญามาตรฐานกำหนด SMS ที่ส่งไปให้ผู้บริโภค ต้องมีข้อความชัดเจน เช่น ชื่อบริษัท บริการที่เสนอและการคิดค่าบริการ ห้ามมีข้อความไม่เหมาะสม ตรงนี้จะมีการตรวจสอบ แต่ถ้าหลุดรอดไปได้ ผู้ใช้สามารถแจ้งเข้ามา ผู้ให้บริการจะแจ้งเตือนให้มีการปรับปรุง และอาจยกเลิกสัญญาได้ในที่สุด 

ส่วนกรณี การบล็อค SMS จากผู้ให้บริการคอนเทนท์ ถ้าต้องการแบ่งเฉพาะราย สามารถแจ้งชื่อบริษัท หรือหมายเลขที่ส่งมาให้คอลเซ็นเตอร์ได้ หรือจะให้บล็อก SMS ทั้งหมดก็ได้ เรียกว่าระบบแบล็คลิสต์ ซึ่งการโทรแจ้งบล็อค จะเสียเฉพาะค่าบริการติดต่อคอลเซ็นเตอร์เท่านั้น 

ทั้งนี้ ผู้ให้บริการได้กำหนด ไวท์ลิสต์ ที่ไม่สามารถบล็อคได้เพราะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้ เช่น บริการแจ้งเตือนด้านธุรกรรมการเงิน ไม่นับรวมโฆษณาบริการ และบริการแจ้งเตือนทางการเงินจากผู้ให้บริการ 

“ถ้ามีการส่งในลักษณะมือถือต่อมือถือ หรือว่าการโทรเสนอขายโดยตรง จะไม่สามารถบล็อกได้ เพราะถือเป็นสิทธิ์ในการติดต่อสื่อสารปกติ หรือถ้าเป็นSMS จากผู้ให้บริการรายอื่น ที่ไม่ได้เข้ามาเชื่อมต่อระบบกัน ก็ไม่สามารถบล็อกได้เช่นกัน” นายธนากล่าว 

ด้านนายสุภกิจ วรรธนะดิษฐ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการพาณิชย์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ปริมาณการใช้เอสเอ็มแต่ละรายมีกว่า 100 ล้านครั้งต่อเดือน เป็นสแปม SMS ประมาณ 1% เท่านั้น อาจจะไม่มาก แต่เมื่อสร้างความเดือดร้อนก็ต้องพัฒนาระบบขึ้น ซึ่งจากการสำรวจพบว่า ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่มีบริการนี้ 

ส่วนการร้องเรียนที่เกิดขึ้นมีประมาณหลักพันต่อเดือน เชื่อว่าหลังจากเปิดบริการบล็อค SMS ปัญหาจะลดน้อยลงเรื่อยๆ คาดว่าจะเหลือประมาณ 10% จากเดิม

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 11 ส.ค.52

 

 

 

 

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน